×

‘คลัง’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย. ส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังต้องจับตา ‘โอไมครอน’ ใกล้ชิด

29.12.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประกอบกับการส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 อย่างไรก็ดียังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ อย่างใกล้ชิด โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

 

  1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2564 กลับมาขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 20.2% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 28.1% สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.5% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 10.1% และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 44.9 จากระดับ 43.9 ในเดือนตุลาคม 2564

 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นยังส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 15.7% อย่างไรก็ดีรายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.8%

 

  1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7.8% ขณะที่การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -10.8%

 

สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง พบปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.9% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 1.7% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ 4.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 5.5%

 

  1. มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 23,647.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ที่ 24.7% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าขยายตัว 18.9% 

 

สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ และสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

 

  1. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.4% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 7% จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และสินค้าประมง ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงเล็กน้อย 

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85.4 จากระดับ 82.1 ในเดือนตุลาคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น รวมถึงภาคการผลิตขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง 

 

ด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 91,255 คน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 122.3% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเยอรมนี สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร รัสเซีย และฝรั่งเศส

 

  1. เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายนซึ่งอยู่ที่ 2.71% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.29% ส่วนหนี้สาธารณะคิดเป็นสัดส่วน 58.8% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 

 

สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงที่ 2.43 แสนล้านดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X