ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดที่ประเมินว่า นับตั้งแต่โควิดระบาดอย่างหนักไปทั่วโลกในปี 2020 ขณะนี้มีประชากรโลกราว 97 ล้านคน กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะยากจน ซึ่งมีเงินใช้จ่ายรายวันต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 66 บาท) เท่านั้น
สิ่งที่น่าวิตกกังวลมากกว่าก็คือ แม้จะมีวัคซีนแล้ว เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้างแล้ว แต่จำนวนคนที่เข้าข่ายเกณฑ์คนยากจนทั่วโลกกลับยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความยากจนส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัว ทำให้ต้องเลย์ออฟหรือเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาตร์ของเวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าจำนวนคนยากจนมีแนวโน้มจะลดลงในช่วงปี 2022 หลังสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลาย และเริ่มมีการจ้างงานในตลาดกลับมาอีกครั้ง
จำนวนประชากรยากจนที่เพิ่มขึ้นยังมีขึ้นในช่วงเวลาที่มีรายงานว่าความมั่งคั่งร่ำรวยของคนรวยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเช่นกัน สะท้อนให้เห็นปัญหาที่รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกต้องเร่งหาทางแก้ไข นั่นคือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีการประเมินคร่าวๆ ว่า ลำพังแค่ทรัพย์สินของคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 3 คน ก็เพียงพอช่วยให้คนยากจนขั้นสุดที่มีอยู่ในปัจจุบันหายไปได้
รายงานย้ำว่า สิ่งสำคัญขณะนี้ไม่ใช่การกล่าวโทษคนรวยหรือกดดันคนรวยให้รับผิดชอบ แต่เป็นการจี้ภาครัฐให้วางมาตรการเพื่อจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้ประชาชนทุกในประเทศสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ยกตัวอย่างเช่นกรณีของการกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง
นอกจากนี้ รายงานยังเสนอแนะให้รัฐบาลนานาประเทศผลักดัน ‘ความยากจน’ ให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องมีการวางแผนออกมาตรการและนโยบายเพื่อจัดการกับความยากจน หนึ่งในนั้นก็คือการหาแนวทางให้คนยากจนเหล่านี้มีอาชีพ มีที่ทำกิน เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตนเองได้อย่างมั่นคง
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP