วันนี้ (28 ธันวาคม) เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 40 แห่ง ออกจดหมายเปิดผนึกถึงคณะรัฐมนตรีของประเทศไทยเพื่อคัดค้านพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .… (กฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ) โดยมีรายละเอียดระบุว่า
พวกเราที่เป็นหน่วยงานของประเทศไทยและระหว่างประเทศซึ่งลงนามในจดหมายนี้ ได้เขียนจดหมายเพื่อแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. (‘ร่างพระราชบัญญัติ’) พวกเราเป็นกลุ่มประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นต่างๆ รวมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน และมีการดำเนินงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือประชาชนหลายล้านคนในประเทศไทย
แม้ว่าพวกเราแต่ละองค์กรจะมีลักษณะแตกต่างกัน แต่พวกเราต่างมีความรู้สึกร่วมกันที่จะคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งมีข้อบทหลายประการที่จะทำให้องค์กรไม่แสวงหากำไรและสมาชิกขององค์กรเหล่านี้ไม่เพียงต้องตกเป็นเป้าของมาตรการควบคุมจำกัดที่เข้มงวดจนเกินกว่าเหตุต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ และสิทธิมนุษยชนอื่นๆ หากยังต้องเผชิญกับการแทรกแซงโดยพลการอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว
ร่างพระราชบัญญัตินี้มีข้อบทหลายประการที่เป็นปัญหาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะมาตรา 19, 20, 21, 25, 26 และ 27
มาตรา 19 และ 21 เสนอข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลโดยไม่มีเป้าประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจทำให้มีการใช้อำนาจโดยพลการได้ กฎหมายปัจจุบันทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลรัษฎากร หรือระเบียบว่าด้วยการเข้ามาดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทย ได้กำหนดระดับของความโปร่งใสไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะแล้ว โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมมีอำนาจในการสอบสวนได้หากจำเป็น
มาตรา 20 โดยรายการของข้อห้ามนี้มีเนื้อหากว้างขวางอย่างมาก และแทบจะครอบคลุมการดำเนินงานเกือบทั้งหมดขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศ เนื้อหาของร่างนี้อาจอนุญาตให้มีการตีความตามอำเภอใจ และในประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคน การดำเนินตามบทบัญญัติใดๆ เหล่านี้อาจเป็นได้อย่างง่ายดาย และอาจใช้โดยพลการเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม การชุมนุมอย่างสันติ และประเด็นสิทธิมนุษยชนอื่นๆ
โดยมาตรา 20 กำหนดว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องไม่ดำเนินงานในลักษณะดังต่อไปนี้
- กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม
- กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ
- เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย
- เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น”
โดยรายการของข้อห้ามนี้มีเนื้อหากว้างขวางอย่างมาก และแทบจะครอบคลุมการดำเนินงานเกือบทั้งหมดขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศ ทั้งที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือโครงการพัฒนาแบบทวิภาคีและพหุภาคี ร่วมกับภาคประชาสังคมอื่นๆ
นอกจากนั้น มาตรา 20 ยังไม่เคารพหลักการความถูกต้องตามกฎหมายของกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากการจัดทำร่างกฎหมายควรมีลักษณะซึ่งทำให้สามารถคาดหมายถึงผลลัพธ์ที่ตามมาได้ ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานและบุคคลสามารถกำกับดูแลพฤติกรรมของตนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเหล่านั้นได้
มาตรา 21 ปิดกั้นสิทธิความเป็นส่วนตัวบางประการที่องค์กรไม่แสวงหากำไรพึงมี ข้อกำหนดอย่างอื่นเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนต่างประเทศในมาตรา 21 มีลักษณะกว้างเกินไป และละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม ซึ่งรวมถึงความสามารถในการแสวงหาและมีแหล่งทุนและทรัพยากรที่ยั่งยืนทั้งจากภายในและระหว่างประเทศ
มาตรา 25, 26 และ 27 กำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วน และอาจบั่นทอนกำลังใจของบุคคลและกลุ่ม ทำให้ไม่อยากเป็นผู้เข้าร่วมงานที่เข้มแข็งกับภาคประชาสังคมของไทย
หากมีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัตินี้ตามร่างปัจจุบันที่มีเนื้อหากว้างขวางเกินไป น่าจะเปิดโอกาสให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและเป็นการปฏิบัติมิชอบ ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มประชาสังคมที่หลากหลายในระดับรากหญ้า ระดับประเทศ และระหว่างประเทศในประเทศไทยเท่านั้น แต่กฎหมายเช่นนี้ยังคุกคามต่อสถานะของไทย ในฐานะเป็นศูนย์รวมขององค์กรไม่แสวงหากำไรในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งทำงานในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะอันหลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การทำงานเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลไทยสนับสนุนภาคประชาสังคมและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนั้น สอดคล้องกับข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการปรับสมดุลและการพัฒนาภาครัฐของประเทศไทย เราตระหนักดีว่ารัฐบาลไทยมีหน้าที่ปกป้องความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมีความเหมาะสม จำเป็น และปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐบาลในการประกันและอำนวยความสะดวกในการเคารพสิทธิมนุษยชน
เราขอตั้งข้อสังเกตว่า กฎบัตรสหประชาชาติตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งเสริม ‘การเคารพและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน’
จากข้อกังวลที่ร้ายแรงข้างต้น เราถือว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานและพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนร่างพระราชบัญญัตินี้ทันที และยืนยันถึงพันธกรณีทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่จะดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และปฏิบัติให้เป็นผล ซึ่งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ และสิทธิมนุษยชนอื่นๆ
นอกจากนั้น หน่วยงานที่มีชื่อด้านท้ายยังเรียกร้องสมาชิกทุกคนของสภานิติบัญญัติแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สนับสนุนภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง หลากหลาย และเป็นอิสระ และให้ต่อต้านร่างพระราชบัญญัติตามเนื้อหาที่เป็นอยู่ตอนนี้
ประการสุดท้าย เราขอกระตุ้นรัฐบาลไทยให้รับประกันว่าจะมีกระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างโปร่งใสและสร้างสรรค์ โดยกำหนดกรอบเวลาอย่างเหมาะสมเพื่อให้สาธารณชน องค์กรไม่แสวงหากำไร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอื่นๆ สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างจริงจัง อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ มากกว่าจะเป็นอันตรายต่อประชาชนในประเทศไทยและภูมิภาคนี้
ขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจต่อประเด็นและข้อเสนอแนะในจดหมายนี้ เรายินดีที่จะปรึกษาหารือเรื่องนี้เพิ่มเติมกับรัฐบาลไทย และยินดีที่จะมีโอกาสเพิ่มเติมในการสนับสนุนรัฐบาล เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามหลักการตามรัฐธรรมนูญของตนและพันธกรณีระหว่างประเทศได้
หมายเหตุ: ได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับข้อกังวลของกลุ่มพันธมิตรเอ็นจีโอของไทย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 และจดหมายร่วมที่มีต่อร่างพระราชบัญญัติก่อนหน้านี้จากกลุ่มเอ็นจีโอระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 International Centre for Not-for-profit Law ได้พิมพ์เผยแพร่บทวิเคราะห์ต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับปัจจุบันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564
- Amnesty International
- APCOM Foundation มูลนิธิแอ็พคอม
- Article 19
- Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)
- Asian Network for Free Elections (ANFREL) มูลนิธิอันเฟรล
- Campaign for Popular Democracy (CPD)
- Civicnet Foundation มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม
- CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation
- Community Resource Centre Foundation มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
- Cross Cultural Foundation มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
- ENLAWTHAI Foundation มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
- Feminist’s Liberation Front เฟมินิสต์ปลดแอก
- Foundation for Labor and Employment Promotion มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
- Green South Foundation มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
- Greenpeace Thailand กรีนพีซ ประเทศไทย
- Home Net Thailand Association สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย)
- Human Rights and Development Foundation (HRDF) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ)
- Human Rights Lawyers Association สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
- Law Long Beach กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตย
- Lawyers’ Rights Watch Canada
- Manushya Foundation มูลนิธิมนุษยะ
- Migrant Working Group เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
- Network of Indigenous Peoples in Thailand เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- NGO Coordinating Committee on Development (NGOCOD) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
- Non-Binary Thailand กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย
- Peace and Culture Foundation มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
- Rainbow Sky Association of Thailand สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
- Social Democracy Think Tank – Thailand
- Sustainable Development Foundation
- TEA Group กลุ่มโรงน้ำชา
- Thai Allied Committee with Desegregated Burma Foundation มูลนิธิร่วมมิตรไทยพม่า
- Thai Volunteer Service Foundation มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
- The Northeastern Women’s Network เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
- The Relative Committee of May 1992 Heroes
- The Southern Feminist’s Liberation – Thailand เฟมินิสต์ปลดแอก ณ ภาคใต้
- WeMove ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย
- เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธีวิถีสุข
- โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท จังหวัดพิจิตร
- เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและการพัฒนาที่ยั่งยืน จังหวัดพิจิตร
- เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิชุมชนและการอนุรักษ์(คสอ.)
- เครือข่ายทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง
- เครือข่ายทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า จังหวัดกำแพงเพช
- เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
- สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
- อังคณา นีละไพจิตร (Mrs. Angkhana Neelapaijit)
- วันชัย พุทธทอง (Mr. Wanchai Phutthong)
- สุธาวัลย์ บัวพันธ์ (Miss. Suthawan Buapan)