กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยรายงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา โดยพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้ 2.3% มากกว่าที่คาดในอัตรา 2.3% อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับต่อจากนี้ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเป็นผลจากปัญหาการระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของสหรัฐฯ สามารถขยายตัวในระดับที่สูงกว่าคาด โดยได้ปัจจัยหนุนหลักจากกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่กระเตื้องดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ บวกกับการที่ภาคธุรกิจเริ่มเดินหน้าประกอบกิจการของตน และสั่งสินค้าเข้ามาเติมคลังมากกว่าที่คาดด้วย
บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 นี้ เป็นไปในทิศทางใกล้เคียงกับสถานการณ์เมื่อต้นปี ที่สหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินการต่างๆ มากขึ้นกว่าเมื่อภาวะระบาดของโควิดรุนแรงในปีที่แล้ว ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้สูงถึง 6.3% และโตต่อเนื่องที่ 6.7% ในไตรมาสที่ 2 ก่อนที่การระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตาในช่วงฤดูร้อนจะกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3
ขณะเดียวกัน การปรากฏตัวของโรคโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ยังมีขึ้นในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ กำลังพุ่งสูง และปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานยังค้างคาอยู่ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงต่อจากนี้ลากยาวไปจนถึงปีหน้ามีแนวโน้มจะหดตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งยังแสดงความเห็นว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปประเมินมูลค่าความเสียหายของโรคโควิด ว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจได้มากเพียงใด พร้อมประเมินว่า GDP ของสหรัฐฯ ในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 5.5% ซึ่งถือว่าดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 1984
การประกาศ GDP ไตรมาส 3 ครั้งนี้ ยังมีขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ทาง Goldman Sachs ออกมาปรับลดการคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2022 จาก 3% เป็น 2% โดยไตรมาสที่ 2 โตลดลงจาก 3.5% เป็น 3% และของไตรมาสที่ 3 จาก 3% เป็น 2.75% ด้วย
ด้านบรรยากาศตลาดหุ้นวอลล์สตรีทสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ขยับตัวปิดบวกเป็นครั้งแรกในรอบสัปดาห์นี้ หลังปิดติดลบอย่างต่อเนื่องในช่วงสองวันที่ผ่านมา โดยนักลงทุนได้แรงหนุนให้กลับเข้ามาลงทุน หลังระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯ ขยับปรับเพิ่มขึ้น ช่วยคลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง บวกกับนักลงทุนเริ่มมีความหวังต่อการระบาดของโรคโควิดตัวกลายพันธุ์โอไมครอน
โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 261.19 จุด (0.745%) ปิดที่ 35,753.89 จุด S&P เพิ่มขึ้น 47.33 จุด (1.02%) ปิดที่ 4,696.56 จุด Nasdaq เพิ่มขึ้น 180.81 จุด (1.18%) ปิดที่ 15,521.89 จุด
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยังขยับปรับตัวปิดในแดนบวกหลังผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ จัดทำโดย Conference Board สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 115.8 ในเดือนธันวาคม จากระดับ 111.9 ในเดือนพฤศจิกายน โดยเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ระดับ 110.8 ซึ่งการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนี้เป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
ส่วนราคาน้ำมันเมื่อวานนี้ (22 ธันวาคม) ขยับปรับขึ้นท่ามกลางความกังวลในเรื่องอุปทานตึงตัว และคลังปิโตรเลียมสำรองสหรัฐฯ ที่ลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ เวสต์เท็กซัสงวดส่งมอบเดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 1.64 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 72.76 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 1.31 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 75.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ด้านราคาทองคำ ขยับขึ้นมาปิดบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 3 วัน หลังสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 13.50 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 1,802.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทที่ขยับปรับตัวในแดนบวก ส่งผลให้ตลาดเอเชียส่วนใหญ่ได้อานิสงส์ขยับขึ้นตามไปด้วย โดยดัชนี Hang Seng ฮ่องกง ขยับขึ้น 0.34% ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.16% ดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 0.32% และดัชนี Shenzhen เพิ่มขึ้น 0.697%
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นบางประเทศ เช่น ในสิงคโปร์กลับไม่คึกคักเท่าที่ควร โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มการเดินทางท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลง หลังรัฐบาลประกาศความจำเป็นในการยกระดับมาตรการจำกัดควบคุมการเดินทาง
อ้างอิง:
- https://apnews.com/article/coronavirus-pandemic-business-health-economy-gross-domestic-product-119b8182404771d0362da6d0d49891c0
- https://apnews.com/article/coronavirus-pandemic-joe-biden-health-lifestyle-travel-2f96ed2c5e96f74134e9e7a1c1ef5ff2
- https://www.cnbc.com/2021/12/22/asia-markets-omicron-covid-variant-turkish-lira-currencies-oil.html