การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในสหรัฐฯ ตอนนี้ และระบาดรุนแรงแล้วในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มตั้งคำถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยเฉพาะอาการป่วยจากการติดเชื้อ และโอกาสที่จะเกิดอาการป่วยรุนแรง
ซึ่งความสงสัยต่างๆ ที่มีต่อโอไมครอนนั้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประชาชนทั่วโลกเตรียมที่จะเดินทางช่วงวันหยุดยาวฉลองเทศกาลปีใหม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังพยายามเร่งทำความเข้าใจผลกระทบของโควิดสายพันธุ์นี้ที่มีต่อประชาชน ทั้งในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้ว และยังไม่ฉีดวัคซีน รวมถึงผู้ที่เคยติดโควิดสายพันธุ์อื่นก่อนหน้า
อาการป่วยจากโอไมครอนมีอะไรบ้าง?
- จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแล้ว หากได้รับเชื้อโควิดจะมีอาการป่วยที่ค่อนข้างเบา คล้ายกับไข้หวัดธรรมดา
- โดยที่ปรึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า อาการป่วยหลักๆ ของผู้ที่ได้รับเชื้อโควิดโอไมครอน ได้แก่
- ไอ
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- แต่ข้อมูลอาการป่วยเหล่านี้ยังเป็นเพียงรายงานขั้นต้น และไม่ใช่การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญว่า อาจจะสะท้อนอาการของผู้ติดเชื้อเพียงบางกลุ่ม เช่น กลุ่มอายุน้อยและสุขภาพดี หรือกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น
“สิ่งที่เรายังไม่เห็นคือข้อมูลที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเชื้อโอไมครอนที่ส่งผลต่อผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน” ดร.วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี กล่าว
- ซึ่งสิ่งที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือผู้ที่ฉีดวัคซีนหรือได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วมีแนวโน้มที่อาการป่วยจากการติดเชื้อโอไมครอนจะเบาลง
- ขณะที่อาการป่วยจากโอไมครอนค่อนข้างแตกต่างจากโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้า เช่น การสูญเสียการรับรู้รสและกลิ่น นั้นพบไม่บ่อยนัก
- ข้อมูลวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่าโอไมครอนนั้นส่งผลกระทบต่อปอดน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น แต่สามารถเพิ่มจำนวนไวรัสได้รวดเร็วกว่าในระบบทางเดินหายใจ
- ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น คือโอไมครอนนั้นอาจก่อให้เกิดอาการป่วยเหมือนกับหลอดลมอักเสบมากกว่าปอดอักเสบ
“ตามปกติแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันมักจะหายใจไม่ออก พวกเขามักจะไอและมีเสมหะออกมา ส่วนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ โดยทั่วไปแล้วมักจะหายใจไม่ออกและรู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าโรคหลอดลมอักเสบ” ดร.ฮิวจ์ แคสเซียร์ ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลผู้ป่วยวิกฤตของโรงพยาบาล Sandra Atlas Bass Heart บนเกาะลองไอส์แลนด์ รัฐนิวยอร์ก กล่าว
- อย่างไรก็ตาม แพทย์และผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ยังเป็นไปไม่ได้สำหรับประชาชนที่จะอาศัยการวินิจฉัยอาการป่วยด้วยตนเองหากติดโอไมครอน และควรเข้าพบแพทย์หากมีอาการคล้ายไข้หวัด เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา อีกทั้งยังมีกรณีของโรคไข้หวัดใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ด้วย
ระยะฟักเชื้อของโอไมครอนนานแค่ไหน
- จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่าระยะเวลาสำหรับผู้ติดเชื้อโอไมครอน 1 คนที่จะเกิดอาการป่วยอาจจะสั้นกว่าการติดโควิดสายพันธุ์อื่น โดยลดจากราว 1 สัปดาห์เหลือเพียง 3 วันหรือน้อยกว่านั้น
- ซึ่งระยะฟักเชื้อที่ค่อนข้างสั้นนั้น ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่าสมเหตุสมผล เมื่อดูจากอัตราการแพร่ระบาดของโอไมครอนที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
- ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ระยะฟักตัวของโอไมครอนอาจสั้นกว่าหรือยาวกว่า ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่าง เช่น อายุ ปัญหาสุขภาพ และสถานะการฉีดวัคซีน
เมื่อไรที่ควรตรวจเชื้อ
- ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า หากโอไมครอนมีระยะฟักเชื้อที่สั้น ผู้ที่มีการติดต่อใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อควรเข้ารับการตรวจเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง
- และสำหรับประชาชนนับล้านที่ไม่เคยติดโควิด หากต้องการจะใช้เวลาในช่วงฉลองคริสต์มาสหรือปีใหม่อยู่กับครอบครัวหรือเพื่อน สิ่งที่ควรทำก่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในเบื้องต้น คือการใช้ชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็วเพื่อทำการตรวจเชื้อ
- ขณะที่ ดร.แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาระดับสูงด้านโรคติดเชื้อของทำเนียบขาว แนะนำว่าผู้ที่ไม่มีชุดตรวจ แต่ได้รับการฉีดวัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วนั้น ควรจะฉลองปีใหม่ร่วมกับสมาชิกครอบครัวหรือผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วเช่นกัน
โอไมครอนทำให้เกิดภาวะ Long COVID ได้ไหม?
- ถึงแม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของโอไมครอนจะยังไม่รู้แน่ชัดมากนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าผู้ติดเชื้อโอไมครอนนั้นอาจเกิดภาวะอาการป่วยเรื้อรังจากการติดโควิด หรือ Long COVID ได้ แม้แต่ในกรณีที่มีอาการป่วยไม่รุนแรง
- โดยผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วยเรื้อรังนั้นอาจมีทั้งอาการเหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลายเดือนหลังจากติดเชื้อ ซึ่งภาวะ Long COVID นั้นพบตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิดมาจนถึงการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งคาดว่าการระบาดของโอไมครอนก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะอาการป่วยเรื้อรังได้เช่นกัน
โอไมครอนน่ากังวลแค่ไหน
- ความน่ากังวลจากการระบาดของโอไมครอน เห็นได้ชัดจากอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว โดยในสหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุกๆ 2 วัน และในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนในสหรัฐฯ เพิ่มจาก 13% ของผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั้งหมดเป็นกว่า 73%
- ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ พยายามเรียกร้องให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการป่วยหนักหรือเข้าโรงพยาบาลหากได้รับเชื้อโอไมครอน
- แต่จนถึงเมื่อวานนี้ (21 ธันวาคม) ยังมีชาวอเมริกันที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสเพียงประมาณ 61% และได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ถึง 30%
ภาพ: Photo by: Brilla Vida/VW Pics/Universal Images Group via Getty Images
อ้างอิง: