1. ปัญหาที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย LGBTQ
ในกรณีผู้ป่วย LGBTQ ที่ไม่ได้ติดต่อกับ ‘ญาติสายตรงหรือญาติทางสายเลือด’ มายาวนาน และอยู่อาศัยกับคู่ชีวิต ผู้ใกล้ชิด หรือเพื่อนสนิทของตนเอง
ในกรณีที่ผู้ป่วย LGBTQ ไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว มักจะเกิดปัญหาขึ้นเสมอที่แพทย์หรือพยาบาลต้องการติดต่อกับญาติสายตรงหรือญาติทางสายเลือดเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจในการดูแลผู้ป่วย โดยปฏิเสธไม่ยอมรับคู่ชีวิต คนใกล้ชิด หรือเพื่อนที่ผู้ป่วย LGBTQ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดูแลหรือมาเป็นผู้ตัดสินใจในการดูแลผู้ป่วย LGBTQ
กรณีเหล่านี้จะสร้างปัญหาต่อคุณภาพในการดูแลผู้ป่วย LGBTQ อย่างมาก เนื่องจากญาติทางสายเลือดก็ไม่ทราบว่าผู้ป่วยต้องการการดูแลแบบใด แต่คู่ชีวิต ผู้ใกล้ชิด หรือเพื่อนสนิทของผู้ป่วย LGBTQ ซึ่งเป็นบุคคลนี้ทราบความต้องการของผู้ป่วยกลับไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจดูแลผู้ป่วย LGBTQ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งสัมพันธภาพระหว่างบุคคลหลายฝ่าย และกระทบต่อคุณภาพในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย LGBTQ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากพิจารณากฎหมายในปัจจุบันพบว่าพอจะมีทางออกในการดูแลผู้ป่วย LGBTQ ได้ หากมีการเตรียมการไว้แต่ต้นก็จะทำให้กระบวนการดูแลผู้ป่วยมีความเรียบร้อย สอดคล้องกับความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย LGBTQ โดยผู้เขียนขออธิบายเป็นประเด็นไปดังต่อไปนี้
2. หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล (หลัก Informed Consent) คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่รับรองสิทธิในชีวิตร่างกายของบุคคล ที่บุคคลทุกคนสามารถตัดสินใจเลือกที่จะรับการรักษาพยาบาลหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลได้ด้วยตนเอง
มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และ ข้อ 2 และข้อ 9 ของคำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย โดยได้รับรองหลักการในการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลว่า ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยแพทย์ (ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข) จะต้องร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและปรึกษาหารือถึงทางเลือกในการดูแลรักษากับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาพยาบาลที่ตนเองต้องการและไม่ต้องการ และในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว แพทย์ก็จะปรึกษาหารือกับญาติผู้ป่วย (แล้วแต่ว่าเป็นญาติประเภทใดซึ่งจะอธิบายต่อไป) เพื่อให้ทำหน้าที่ตัดสินใจในการรักษาพยาบาลแทนผู้ป่วย และในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อญาติได้ แพทย์ก็ให้การดูแลเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้พ้นจากอันตรายได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ป่วยหรือญาติ
และในกรณีของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมคือ มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้บุคคลสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการเลือกที่จะรับหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตตนเองได้ (บุคคลสามารถเขียน Living Will เพื่อกำหนดแนวทางการรักษาพยาบาลตามที่ตนเองต้องการและไม่ต้องการได้)
3. ประเด็นเจ้าปัญหา ‘ญาติตามที่กฎหมายกำหนด’ มีใครบ้าง และ ‘คู่ชีวิต’ สามารถเป็นญาติตามกฎหมายได้หรือไม่
เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของกฎหมายข้างต้นได้แบ่งประเภทของญาติออกเป็น 2 ประเภทเท่านั้น ได้แก่
- ญาติตามกฎหมาย ได้แก่ คู่สมรส ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาล
- ญาติตามความเป็นจริง ได้แก่ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครองดูแลหรือผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้น เท่านั้น
แล้วคำว่า ‘ญาติสายตรงหรือญาติทางสายเลือด’ มาจากไหน คำตอบคือ เอามาจากกฎหมายมรดก โดยญาติสายตรงหรือญาติทางสายเลือดนั้นมีไว้เพื่อการแบ่งมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น ไม่ได้ใช้สำหรับกรณีการรักษาพยาบาล แต่ที่ผ่านมามีการเข้าใจผิด นำคำในกฎหมายมรดกมาใช้ในเรื่องการรักษาพยาบาล
หากพิจารณาเนื้อหาของกฎหมาย ‘คู่ชีวิต’ สามารถเป็นญาติตามความเป็นจริงได้ เนื่องจากเป็นผู้ปกครองดูแล ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ให้การดูแลผู้ป่วยในความเป็นจริง ดังนั้น คู่ชีวิตจึงมีสิทธิโดยบริบูรณ์ตามกฎหมายในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการดูแลผู้ป่วย ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลไม่จำเป็นจะต้องไปสืบหาญาติทางสายเลือดหรือญาติสายตรงแต่อย่างใด
4. แนวทางในการแก้ไขปัญหา
ผู้เขียนขออธิบายแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวดังต่อไปนี้
สำหรับระยะสั้นในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลในการออกกฎหมายการสมรสของกลุ่ม LGBTQ ควรใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยมีกรณีที่ต้องพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
- เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในหลัก Informed Consent ตามกฎหมาย โดยต้องเร่งให้ความรู้ในเรื่องข้อกฎหมาย มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และสิทธิผู้ป่วยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- กรณีการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต
2.1 ผู้ป่วย LGBTQ ควรทำ Living Will แล้วระบุชื่อคู่ชีวิตของตนเอง (หรือบุคคลที่ตนเองต้องการ)ให้เป็นบุคคลที่ทำหน้าที่อธิบายความประสงค์ที่แท้จริงของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา (ทั้งนี้เป็นไปตามข้อ 3 (5) วรรคสาม ของกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 12 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550) เพื่อให้คู่ชีวิตตนเองมีสิทธิตามกฎหมายในการร่วมกันปรึกษาหารือกับแพทย์ พยาบาล ร่วมกันดูแลและอธิบายความชัดเจนของ Living Will (ในกรณีที่ Living Will ไม่มีความชัดเจน)
2.2 ในช่วงที่ผู้ป่วย LGBTQ ยังมีความสามารถในการสื่อสารได้ ควรแจ้งต่อแพทย์ให้บันทึกไว้ในเวชระเบียนให้คู่ชีวิตตนเองเป็นผู้มีอำนาจในการร่วมกันปรึกษาหารือกับแพทย์หรือบุคลากรสุขภาพอื่นในการดูแลตนเอง (ทั้งในเป็นไปตามสิทธิผู้ป่วยที่ผู้ป่วยสามารถแสดงเจตนาเกี่ยวกับการวางแผนการดูแลชีวิตนเองได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550)
- กรณีการรักษาพยาบาลแบบปกติ
3.1 ผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะและสามารถสื่อสารได้ สามารถกำหนดแนวทางและความความต้องการในการรักษาพยาบาลตนเองได้ ดังนั้น จึงสามารถกำหนดให้ผู้ใดเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาพยาบาลตนเองได้ (ทั้งในเป็นไปตามสิทธิผู้ป่วยที่ผู้ป่วยสามารถแสดงเจตนาเกี่ยวกับการวางแผนการดูแลชีวิตนเองได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550) โดยอาจจะบันทึกลงในเวชระเบียนของตนเองว่าในกรณีฉุกเฉินให้ติดต่อผู้ใดได้บ้าง
3.2 ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีสติสัมปชัญญะหรือไม่อาจสื่อสารได้ บุคลการด้านสาธารณสุขสามารถให้การดูแลผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตราย และรอให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสติขึ้นมาเพื่อร่วมปรึกษาหารือแนวทางในการรักษาและผู้ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการรักษาร่วมกัน
สำหรับในระยะยาวควรมีการระบุไว้ให้ชัดเจนถึงสิทธิของคู่ชีวิตของผู้ป่วย LGBTQ เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วย LGBTQ ในกฎหมายหรือแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขและสถานพยาบาลต่างๆ