เมื่อวานนี้ (16 ธันวาคม) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘ดร.เอ้’ ว่าที่ผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์เปิดใจหลายประเด็นกับรายการ THE STANDARD NOW เกี่ยวกับกระแสต่างๆ รวมถึงข้อสงสัยจากประชาชนที่เกิดขึ้นภายหลัง ศ.ดร.สุชัชวีร์ เปิดตัวลงสนามการเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา
ศ.ดร.สุชัชวีร์ เปิดเผยว่า สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คือมีความคิดในใจมาเสมอว่าอยากช่วยแก้ปัญหาใน กทม. อยากเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ในสังคมไทย ในอดีตเรื่องการออกมาเป็นผู้นำทำนองนี้มักถูกกดบทบาทมาตลอด การเมืองในไทยเหมือนเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับเด็ก เมื่อเทียบในต่างประเทศเรื่องการขึ้นเป็นผู้นำ หรือประธานาธิบดีคือความใฝ่ฝันของเด็กที่ทุกคนสามารถคิดฝันได้อย่างอิสระ
“พี่เอ้เก็บเรื่องนี้ไว้ในใจ แต่ว่าพี่กลับมามุ่งมั่น ทุ่มเท สั่งสมพลังด้านต่างๆ ประสบการณ์รอบด้านมา ตรงกับจังหวะมันใช่จึงก้าวออกมาครับ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ ระบุ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงวัยที่มีความรู้สึกอยากก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. คือตอนที่ได้พบกับ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (อดีตผู้ว่าฯ กทม.) หรือช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยปี 2-3 มีหลักสูตรเป็นวิชาโปรเจกต์ให้นักศึกษาได้ลองแก้ปัญหาต่างๆ ผนวกกับช่วงนั้นประสบปัญหาการเดินทางระหว่างบ้านพักถึงลาดกระบังในสมัยนั้นค่อนข้างทรหด ใช้เวลาเดินทางร่วม 4-5 ชั่วโมง เลยเกิดความคิดที่อยากจะแก้ปัญหาสุดหินนี้ให้ได้ และเกิดเป็นโปรเจกต์คำนวณการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน
ซึ่งในตอนเรียนเขียนโปรแกรมผลลัพธ์คือได้เกรด A วิชาโปรเจกต์นี้ จึงอยากต่อยอดเพื่อให้รถไฟฟ้าใต้ดินเกิดขึ้นจริงในไทย กระทั่งวันที่พบ ผู้ว่าฯ กฤษฎา เกิดความคิดอยากเป็นผู้ว่าฯ กทม. และได้แต่เก็บงำความคิดนี้ไว้ในใจกว่า 30 ปี ไม่ได้บอกใคร
ส่วนประเด็นคำถามที่มีประชาชนไม่น้อย ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด ศ.ดร.สุชัชวีร์ จึงเลือกสมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์นั้น ศ.ดร.สุชัชวีร์ ระบุว่า เรื่องนี้ส่วนตัวคิดมาเยอะมาก ส่วนตัวชอบการเมืองทั้งในไทยและต่างประเทศ อยากเห็นการเปลี่ยนที่ดีในสังคม บวกกับความคิดที่อยากจะเป็นผู้ว่าฯ มานาน ก็ได้แต่มองดูการเมืองไทยแบบมีระยะห่างมานาน มีความสนใจแต่ยังไม่ตัดสินใจ แต่เมื่อมามองดูดีๆ จึงพบจุดยึดโยงที่เข้ากันได้หลายอย่างระหว่างตนและพรรคประชาธิปัตย์ บนพื้นฐานทำงานเพื่อประชาชน
“ที่ผ่านมามีมองอยู่ มองอยู่นานไม่ใช่เพิ่งมาคิด สนใจแต่ยังไม่ตัดสินใจ ใครถามพี่ก็ตอบตรงๆ ว่าสนใจครับ แต่ยังไม่ตัดสินใจ และคำถามที่ทุกคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นประชาธิปัตย์ ข้อแรกพี่เอ้เห็นกระแสพลังการเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้จริงๆ ข้อที่สองเขาให้โอกาสเลือดใหม่ แล้วพี่เองก็เป็นเลือดใหม่ที่ไม่ได้เติบโตมากับพรรคของเขาตั้งแต่เริ่ม และข้อสาม พูดแบบตรงไปตรงมา การปกครองในระบบประชาธิปไตยไม่ว่าจะในประเทศหรือท้องถิ่น คนที่เสนอตัวมาเป็นผู้นำหรือว่าต้องมีทีมงาน และเป็นทีมที่เดินไปพร้อมกับพรรคการเมืองได้ ยังไม่เกี่ยวกับเรื่องวิสัยทัศน์ส่วนตัวของเรา เรื่องคนในพื้นที่ก็คือเรื่องสำคัญ เพราะในแต่ละเขตปลีกย่อยของ กทม. ไม่เหมือนกันเลย คนที่อยู่ตรงนั้นมานานเขาสามารถพาเราเข้าถึงปัญหาของประชาชนได้ พี่ก็เลยตัดสินใจเลือกครับ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ในอดีตสนามเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใน กทม. แม้แต่ที่นั่งเดียว จะเป็นปัญหาสำหรับ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคหรือไม่นั้น
ศ.ดร.สุชัชวีร์ บอกว่า เรื่องการเลือกตั้งใน กทม. แน่นอนว่าต้องมีเรื่องของรสนิยมความชื่นชอบพรรคการเมืองในแต่ละคนปะปนอยู่บ้าง หากจะบอกว่า องค์ประกอบของพรรคการเมือง อุดมการณ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เห็นทีจะไม่ถูกต้องนัก แต่สิ่งที่ตนได้นำเสนอไปตั้งแต่วันเปิดตัว คือสิ่งที่ตนได้มีความตั้งใจจริง หรือส่งสัญญาณถึงทุกคนว่า ตนมาเพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ
“สิ่งที่พี่เอ้นำเสนอไปตั้งแต่วันเปิดตัว พี่มีความพยายามที่จะส่งสัญญาณถึงประชาชนตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ว่าพี่มาเพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ เราจะมาทำ เราจะมาเปลี่ยน ถึงแม้ว่าท่านอาจจะไม่ชอบพรรคที่ผมสังกัด หรืออาจจะชอบ-ไม่ชอบพี่เอ้ก็แล้วแต่ แต่อยากให้มองว่าไอ้หมอนี่มันคือนักเปลี่ยนแปลง มันคือนักสู้เรื่องรสนิยมทางการเมืองระดับประเทศ มันเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วม, การจัดการฝุ่นพิษ, การจราจร, การศึกษา หรือทำให้ศูนย์สาธารณสุขกลายเป็นศูนย์การแพทย์ได้
“พี่จะมีความเชื่อและมีความหวังว่าจะนำเสนอสิ่งเหล่านี้ให้ประชาชนได้รู้จักเรามากขึ้น ได้หายงอนพรรคประชาธิปัตย์ แล้วก็มาเลือกพี่เอ้ด้วย หรืออาจจะยังไม่ชอบไม่ถูกใจพี่เอ้ พี่ก็อยากจะถือโอกาสนี้บอกว่า ถ้ายังไม่ชอบ ให้มาใช้งานพี่เอ้ได้เยอะๆ เลย ใช้แล้วถ้าไม่ถูกใจจะดุจะด่าก็เต็มที่เลย แต่ขออยากให้ลองเอาพี่เอ้ไปทำงาน ไปรบ ไปสู้เพื่อประชาชน” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีประเด็นการตั้งคำถามบนสื่อโซเชียลว่า นโยบายต่างๆ ที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ นำมาใช้ในการหาเสียงคือสิ่งที่เวอร์ ทำได้ยาก บวกกับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ จะทำให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ในเมื่อคนก่อนๆ ก็เอ่ยถ้อยคำในลักษณะนี้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ ชี้แจงว่า หากได้ย้อนดูคลิปเปิดตัวกับสิ่งที่ตนพูดไว้บนเวที ตนพูดว่าคนเราเกิดมาต้องมีความเชื่อและความหวัง ตนเริ่มต้นบอกกับตัวเองว่า เราเป็นคนต่างจังหวัด แต่เรามาไกลถึงวันนี้ เราไม่ได้มีแต้มต่อมากกว่าคนอื่น ตนอยากให้ทุกคนต้องมีความเชื่อว่ากรุงเทพฯ เปลี่ยนได้ ตนจะมีความใจเย็นตั้งคำถามว่า โตเกียว, ลอนดอน, โซล, ปักกิ่ง ก็เจอปัญหาหนักกว่าเรา แต่เขาแก้ไขมาได้
“สิ่งที่พูดมามันทำได้จริงๆ พี่ถึงพูดว่าผู้นำยุคปัจจุบันเป้าหมายต้องชัด ต้องกล้าสัญญา ต้องกล้าพูด วิสัยทัศน์ต้องเวอร์ มันจะได้ผลักดันตัวของเราและองค์กร กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใหญ่มาก ปัญหาก็โคตรใหญ่มาก ผู้นำต้องคิดให้ใหญ่กว่าปัญหา ไม่อย่างนั้นจะดักทางปัญหาในอนาคตไม่ได้ ถ้าเรายังมัวแต่คิดเรื่องเล็กๆ กี่ชาติเราก็แก้ปัญหาที่ใหญ่โตของกรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นวิสัยทัศน์ผู้นำต้องเวอร์ ผมจึงอยากให้ทุกท่านเปิดหัวใจ และเชื่อเถอะครับว่าการเปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ศ.ดร.สุชัชวีร์ ยังได้เคลียร์ใจถึงกระแสดราม่าที่มีอยู่บนโลกออนไลน์ เกี่ยวกับ ศ.เฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นทายาทสายตรงของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ระดับตำนานของโลก โดยระบุว่า ถ้าได้มีโอกาสย้อนดูคลิปการบรรยายสร้างแรงบันดาลใจของตน จะพบว่าตนได้หยิบยกประเด็นนี้พูดมาเป็นเวลานานกว่า 4-5 ปี
โดยย้ำว่าตนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเขาเป็นหลานของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์จริงๆ ตั้งแต่เข้าไปเรียนที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ในสหรัฐอเมริกา พี่น้องที่เข้าไปเรียนในภาควิชาเดียวกันต่างก็พูดว่าอาจารย์คนนี้คือหลานของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ทั้งหน้าตา, ประวัติการศึกษา เรียนที่เดียวกัน ชื่อ-นามสกุลก็คล้ายกัน ทำให้เราเกิดความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ
ทั้งนี้หลังทราบกระแสดังกล่าว ตนได้มีการติดต่อไปยังรุ่นพี่ที่เคยเรียนจาก MIT และเรียนภาควิชาเดียวกัน จากคนสอนคนเดียวกันคือ ศ.เฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ หลายคนเป็นคนที่ทำงานในกระทรวงและนักวิชาการชื่อดังหลายคน ก็พบว่ามีความเชื่อในสิ่งเดียวกันนี้ว่า ศ.เฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ คือหลานของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
นอกจากนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ระบุเพิ่มเติมว่า คืนก่อนเปิดตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ตนได้ส่งอีเมลไปถึง ศ.เฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่าได้ลาออกจากอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อไปลงสนามผู้ว่าฯ กทม. โดยจดหมายเป็นไปในเชิงการขอกำลังใจและกล่าวขอบคุณศาสตราจารย์คนดังกล่าว ซึ่งตนยอมรับว่าแปลกใจที่ ศ.เฮอร์เบิร์ต มีอีเมลตอบสื่อดังที่เป็นข่าว แต่พอไปเช็กของตนเองยังไม่พบว่ามีข้อความตอบกลับมา แต่ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะส่วนตัวรู้สึกเห็นใจแทน ศ.เฮอร์เบิร์ต ที่ต้องมาพัวพันกับกระแสนี้ด้วย
“เราอยากจะบอกกับทุกท่านจริงๆ ครับว่า พี่เอ้และพี่ๆ ทุกคน มีความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจในเรื่องนี้ 100% เพราะเราพูดความจริง และพี่เอ้ก็พูดเรื่องนี้มา 4-5 ปีแล้ว แต่ 4-5 ปีที่แล้วเรายังไม่โดนรับน้อง พอก้าวขาลงสนามการเมืองก็โดนรับน้องทันที ซึ่งพี่เอ้ก็เข้าใจ แต่อยากขอไว้ว่า วันนี้พี่เอ้โดนรับน้องแล้ว ต่อไปขอให้เบาๆ บ้าง” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
นอกจากนี้หากมีคนบนโลกออนไลน์แซวว่าเป็น ‘พี่เอ้ไอน์สไตน์’ จะโกรธหรือไม่นั้น ศ.ดร.สุชัชวีร์ ระบุว่า ไม่โกรธ เพราะศาสตราจารย์ดังกล่าวชื่อ ไอน์สไตน์ จริงๆ พร้อมบอกเชิงติดตลกว่า ประเด็นนี้ไม่เพียงแค่จะถูกคนบนโลกออนไลน์แซว ตนยังถูกภรรยาแซวอยู่เลย
“พี่เอ้ไม่โกรธ เพราะอาจารย์มีชื่อไอน์สไตน์จริง เพียงแค่ไม่ใช่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ฉะนั้นเราจะไปโกรธทำไม อย่าว่าแต่ชาวเน็ตเลย พี่กลับมาบ้าน ภรรยาพี่เอ้ก็ล้อพี่เหมือนกัน เจอหน้ากันก็ทักว่า เป็นยังไงบ้างลูกศิษย์ไอน์สไตน์ พูดภาษาวัยรุ่นคือ แกงกันเลย” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ในช่วงท้ายรายการ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้บอกถึงแผนงานหลังจากนี้ แม้จะยังไม่มีกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่ตนจะลงพื้นที่พบปะผู้คน สำรวจคุณภาพชีวิต เพราะนี่คือสิ่งที่ตนชอบมาก โดยพื้นที่แรกๆ ที่ตนอยากลงไปคือ ‘ฝั่งธน’ เพราะคนฝั่งธนอาจมีความรู้สึกน้อยใจว่าที่แห่งนี้มีความเจริญน้อยกว่ากรุงเทพฯ ส่วนตัวจึงอยากไปที่ฝั่งธนเพื่อให้กำลังใจประชาชนตรงนั้น และอยากไปดูพื้นที่โดยเฉพาะเขตบางขุนเทียนที่ประสบปัญหาน้ำทะเลรุกพื้นที่จนมีภาพเสาไฟฟ้าอยู่กลางทะเลแล้ว
“อยากลงพื้นที่ฝั่งธนก่อน และค่อยๆ ไล่มาเรื่อยๆ แต่มีความคิดว่าอยากจะลงไปทุกเขต และมีแพสชันสนุกไปกับงาน ขนาดตอนนี้มีดราม่ารุมเร้าทั้งวัน เรายังสนุกสดใสได้อยู่ เพราะเราได้ทำสิ่งที่เรารัก” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวในท้ายที่สุด
อ้างอิง: