หุ้น บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เผชิญแรงขายหนักในช่วงท้ายตลาด กดราคารูดเฉียด 9% และหากเทียบกับจุดสูงสุดของวันนี้ ลดลงไปเกือบ 15% หลังจากที่ราคาหุ้นก่อนหน้านี้พุ่งทะยานต่อเนื่อง ท่ามกลางข่าวลือผู้ถือหุ้นใหญ่อาจขายหุ้นบางส่วนให้ค่ายมือถือดัง ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนให้ระวังข่าวลือดังกล่าวอาจกลายเป็นข่าวลวง แนะนำติดตามข้อมูลข่าวสารใกล้ชิด
ความเคลื่อไหวของหุ้น บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ในรอบสัปดาห์นี้ร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นมากขึ้นอย่างผิดหูผิดตาจากหลักสิบล้านบาท ขยับขึ้นเป็นหลักร้อยล้านบาท และปูดบวมขึ้นทะลุกว่า 2 พันล้านบาทในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา
หากถอยหลังกลับไปในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จะเห็นว่าหุ้น JAS เริ่มจุดพลุตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม โดยราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 3 บาท ทำจุดสูงสุดของวันที่ 3.06 บาท และย่อตัวลงเล็กน้อยยืนปิดที่ 3.02 บาท มีมูลค่าการซื้อขาย 682.38 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวราคาหุ้น JAS ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะพบว่าเคลื่อนไหวในระดับไม่เกิน 3 บาท มีมูลค่าหรือวอลุ่มการซื้อขายต่อวันเพียงหลักสิบหรือหลักร้อยล้านบาท
หุ้น JAS ส่งสัญญาณร้อนแรงขึ้นอย่างชัดเจนในวันที่ 9 ธันวาคม จากมูลค่าการซื้อขายที่พุ่งขึ้นไปถึง 2,194 ล้านบาท และนับจากนั้นจนถึงปัจจุบันมูลค่าซื้อขายต่อวันของหุ้นตัวนี้ก็ไม่เคยต่ำกว่า 2 พันล้านบาทอีกเลย
ขณะที่ราคาหุ้น JAS ได้รับแรงสนับสนุนจากวอลุ่มให้ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างวันอย่างต่อเนื่องเกือบทุกวัน เห็นได้ชัดจากการซื้อขายเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ราคาขึ้นไปแตะ 3.72 บาท แม้จะย่อลงมาปิดที่ 3.70 บาท แต่มีวอลุ่มซื้อขายกว่า 2,743 ล้านบาท และถือเป็นระดับราคาที่ยืนในแดนบวกเขียวขึ้นมาติดต่อกัน 5-6 วันทำการ
ล่าสุดการซื้อขายรอบเช้าวันนี้ (15 ธันวาคม) ราคาหุ้น JAS ยืนอยู่ที่ 3.86 บาท เพิ่มขึ้น 4.32% มีวอลุ่มซื้อขาย 2,139.46 ล้านบาท ก่อนจะพุ่งต่อเนื่องในรอบบ่ายโดยทำจุดสูงสุดของวันที่ระดับ 3.94 บาท
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็เริ่มมีแรงขายทำกำไรออกมา ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจนมาปิดตลาดที่ 3.38 บาท ลดลง 0.32 บาท หรือ 8.65% โดยมีมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึง 4,630 ล้านบาท
ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจความเคลื่อนไหวด้านพัฒนาการของ JAS ที่อาจเป็นปัจจัยหรือเป็นสาเหตุให้ราคาและมูลค่าการซื้อขายหุ้น JAS ในช่วงตลอดเดือนธันวาคมปรับขึ้นมาร้อนแรง ซึ่งพบว่า บริษัทไม่ได้มีพัฒนาการโดดเด่นใดๆ ที่จะผลักดันให้นักลงทุนให้ความสนใจต้องแห่กันเข้ามาซื้อหุ้นตัวนี้ ยกเว้นกระแสข่าวลือที่ว่าบริษัทมือถือค่ายใหญ่เบอร์ 1 ของอุตสาหกรรม คือกลุ่ม บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือกลุ่ม AIS ให้ความสนใจและอยู่ระหว่างดีลที่จะเข้าซื้อหุ้น JAS จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ‘พิชญ์ โพธารามิก’
หากเจาะลึกลงไปถึงสาเหตุที่มาของกระแสข่าวลือดังกล่าว จะพบว่าลักษณะธุรกิจของ JAS กับ AIS มีความเกื้อหนุนและเอื้อประโยชน์ต่อกันได้
โดย JAS มีการดำเนินงานใน 4 ธุรกิจ ได้แก่
- ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและอินเทอร์เน็ตทีวี (Broadband Internet and Internet TV Business)
- ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม (Telecom Network & Service Provider Business)
- ธุรกิจงานจัดหา ออกแบบ และวางระบบสื่อสารและโทรคมนาคม (System Integration Business)
- ธุรกิจอื่นๆ (Other Businesses)
และมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก (ณ วันที่ 15 มีนาคม 2564) ประกอบด้วย
- พิชญ์ โพธารามิก ถือหุ้นจำนวน 4,572,490,483 ล้านหุ้น คิดเป็น 53.21%
- บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้นจำนวน 354,524,297 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.13%
- ทิศชวน นานาวราทร ถือหุ้นจำนวน 134,000,000 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.56%
- SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED ถือหุ้นจำนวน 104,988,524 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.22%
- ศุภชัย วีรบวรพงศ์ ถือหุ้นจำนวน 78,598,780 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.91%
- บูรณะ ชวลิตธำรง ถือหุ้นจำนวน 74,200,000 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.86%
- สุชิน สถิตย์พัฒนพันธ์ ถือหุ้นจำนวน 40,984,800 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.48%
- วิไลลักษณ์ ประฏิภาณวัตร ถือหุ้นจำนวน 30,900,000 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.36%
- N.C.B.TRUST LIMITED-NORGES BANK 1 ถือหุ้นจำนวน 30,889,197 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.36%
- พิสิษฐ์ กิตติพงศ์วัฒน ถือหุ้นจำนวน 30,000,000 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.35%
อย่างไรก็ตามกระแสข่าวลือของ JAS ในลักษณะเช่นนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายรอบ ซึ่งในอดีตก็สามารถผลักดันให้ราคาหุ้น JAS ขยับปรับตัวสูงขึ้นทุกครั้ง แต่ยังไม่มีครั้งไหนที่จะมีข้อสรุปชัดเจนได้ว่า JAS จะมีการเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนผู้ถือหุ้นรายใหม่ หรือแม้กระทั่งการมีพันธมิตรใหม่เข้ามา
แต่ในรอบนี้กระแสข่าวลือมีการพูดกันอย่างหนาหูว่า ‘พิชญ์ โพธารามิก’ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 สัดส่วน 53.21% มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นเงินกู้ที่นำมาใช้ในการซื้อหุ้น JAS จากผู้ถือหุ้น โดยมีการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นทั้งหมด หรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ เมื่อ 5-6 ปีก่อน ด้วยวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยมีการทยอยผ่อนชำระเป็นงวดๆ
กระแสข่าวลือระลอกนี้จะยังคงเป็นเพียงแค่ข่าวลือหรือจะกลายเป็นข่าวจริงยังต้องติดตาม แต่ ณ วันนี้ พบว่า ราคาหุ้น JAS ขยับขึ้นแล้วมากกว่า 25% ในช่วง 4-5 วันทำการที่ผ่านมานี้
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ข่าวลือที่เกิดขึ้นมีโอกาสทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ซึ่งจะต้องคอยติดตาม
โดยหากเป็นจริงมีโอกาสจะเกิดขึ้นใน 2 กรณี คือ
- การเข้าซื้อหุ้น JAS ทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นทุกราย นั่นคือการซื้อจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และการตั้งโต๊ะรับซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย หรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์
- การซื้อหุ้นบางส่วนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่คาดว่าผู้ลงทุนรายใหม่จะต้องการถือครองหุ้นในสัดส่วนที่มากเกินกว่า 50% เพื่อควบคุมอำนาจการบริหารงาน
ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจ JAS ถือว่ามีความโดดเด่นในการเป็นนำผู้ด้านตลาดบรอดแบรนด์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้เล่นไม่กี่ราย และการแข่งขันไม่รุนแรง แต่การตัดสินใจเพื่อลงทุนโดยตรงในตลาดนี้อาจไม่คุ้มค่าและไม่สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากผู้นำตลาดรายเดิมได้
นอกจากนี้ยังพบว่าราคาหุ้น JAS ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่ากิจการทั้งในส่วนของตัวบริษัทเอง และเงินลงทุนอีก 2 แห่ง คือ บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)
“ตอนนี้หุ้น JAS ถือว่าถูกมาก ราคาใกล้ 4 บาท ถ้าเปรียบเทียบมูลค่า จาก JTS และ JASIF ที่ถือหุ้นอยู่ โดยยังไม่รวม JAS เข้าไปก็คุ้มค่าแล้ว JAS เคยอยู่ 7-10 บาท ราคาตอนนี้นักลงทุนมองว่ายังไม่แพง”
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้น JAS ทางกิจพณให้คำแนะนำเพียง ‘เก็งกำไร’ เพราะแม้จะมีปัจจัยกระตุ้นให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น และในแง่มูลค่าถือว่าถูกแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าข่าวลือจะเป็นจริงหรือไม่ โดยมองว่าการลงทุนในหุ้น JAS เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ ความเข้าใจ และยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
นักวิเคราะห์อีกรายกล่าวว่า การลงทุนในหุ้นที่มีข่าวลือ นักลงทุนจะต้องเกาะติดข้อมูล เพราะมีทั้งโอกาสว่าข่าวลืออาจจะเป็นจริง หรือไม่เป็นจริงก็ได้ และยังมีความเสี่ยงหากการเจรจาระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับดีลนี้ไม่ประสบความสำเร็จดังที่คาดไว้