×

LTF & RMF: ตอบทุกคำถามให้หายว้าวุ่นใจ โดย หมอนัท คลินิกกองทุน

25.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time Index

02.23 LTF vs RMF อะไรผลตอบแทนดีกว่ากัน

04.16 การลงทุนแบบ DCA

06.06 ระยะเวลาการถือกองทุน

09.05 ย้ายกองทุนได้ไหม

14.05 ซื้อเกินเกณฑ์

20.50 หาเป้าหมายในการลงทุน

28.30 การซื้อกองทุนที่มีปันผล

33.23 คำแนะนำจากหมอนัท

มันนี่โค้ช คุยกันต่อเรื่อง LTF RMF กับ หมอนัท กูรูกองทุนที่พูดจาเข้าใจง่ายที่สุดในยุคสมัยนี้ โดยโค้ชหนุ่มคัดเลือกทั้งคำถามฮิต ชวนคิด หรือแม้กระทั่งคำถามของพวกหัวใส มาให้หมอนัทตอบแบบเคลียร์ๆ จะได้ไม่ต้องเสียแรงเสียเวลาไปลงทุนแบบผิดๆ

 

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ติดตามตอนแรก สามารถเข้าไปฟัง/อ่าน ได้ที่ LTF & RMF: คุยกับ หมอนัท คลินิกกองทุน ให้รู้เรื่อง หายงง และลงทุนเป็นสักที

 

กองทุน LTF กับ RMF ลงทุนแบบไหนได้ผลตอบแทนสูงกว่า

ต้องบอกว่าคนละเรื่องกันครับ LTF ก็ส่วน LTF เพราะมันคือกองทุนรวมหุ้น RMF ก็ส่วน RMF มีหลากหลายประเภททั้งความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูง แต่ถ้าอยากเทียบจริงๆ ต้องลองเทียบ LTF กับ RMF ที่เป็นหุ้นแล้วลองเทียบเพอร์ฟอร์แมนซ์กันพอไหว แต่ถ้าถามว่าอันไหนดีกว่ากันมันตอบไม่ได้

 

เห็นหมอนัทมีสถิติเยอะ ถ้าลงทุนแบบ DCA คือการตัดซื้อทุกๆ เดือน เท่าๆ กัน เมื่อเทียบกับซื้อปลายปีทีเดียว ทุกๆ ปี ทำเหมือนกัน คือซื้อทุกเดือนเป็นประจำทุกปี กับการซื้อวันที่ 28 ธันวาคมทีเดียวเป็นประจำทุกปี ผลลัพธ์แบบไหนดีกว่ากัน

ถ้าให้ผมคอมเมนต์ คือเนื่องจากการซื้อทุกปีมันก็เป็นการ DCA แบบหนึ่ง แต่เป็นรายปี ซึ่งต้องบอกว่ามันต้องยาวมาก นึกภาพ DCA รายเดือนคือ 1 ปี 12 ครั้ง ระหว่างทางที่มีผันผวนขึ้นลง เราจะได้ค่าเฉลี่ยที่สมูทขึ้น ความผันผวนจะลดลงในระหว่างปีนั้นเลย แต่ว่าถ้าคุณจะซื้อรายปี ต้องซื้อ 12 ปี มันถึงจะเท่ากับ 1 ปีที่ซื้อทุกเดือน การซื้อปลายปีมันต้อง Long Game แบบ 20-30 ปี ผมอยากให้เน้นรายเดือนมากกว่า ระหว่างปีได้ลดหย่อนภาษีไป และลดความผันผวนระหว่างปีไปด้วย

 

DCA คือ Dollar-Cost Averaging ซื้อด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กันเป็นประจำ บางคนก็ตั้งเลยว่าคุยกับ บลจ. ไว้ เลือกกองแล้วก็บอกเขา ขอซื้อทีละ 2,000 3,000 5,000 บาท ตัดบัญชีไปเลย ก็รักษาวินัยได้ง่าย แต่มองในมุมหนึ่งคนที่ซื้อปลายปีก็ DCA เหมือนกัน แต่ว่า DCA พีเรียด 365 วัน การถัวเฉลี่ยมันก็น้อยกว่า เพราะฉะนั้นคือได้เหมือนกัน แล้วอะไรดีกว่า

ผมว่ารายเดือนดีกว่าอยู่แล้ว

 

LTF ถ้าซื้อก่อนปรับเป็น 7 ปีปฏิทิน สมัยก่อนกฎคือ 5 ปีปฏิทิน ผมจะต้องถือ 5 หรือ 7 ปี

5 ปีครับ ใช้กฎเดิม เข้าตอนกฎไหนก็กฎนั้น คือซื้อก่อนปี 2559 ก็ 5 ปีปฏิทิน

 

ถ้าเกิดจำผิดแล้วอยู่นานก็ไม่เป็นไรใช่ไหม

จริงๆ ผมว่าถ้ามันทำผลตอบแทนได้ดีไปเรื่อยๆ ก็ปล่อยมันไปได้

 

มีคนขายกองทุนแนะนำว่า เงินครบ 5 ปี ครบ 7 ปี แล้วให้รีบเอาออก เพราะตอนเข้าเมื่อ 5 ปีที่แล้วได้ลดหย่อนภาษี 1 ครั้ง พอเอาออก เงินก้อนเดิมได้ลดหย่อนภาษี 2 ครั้ง

อย่าทำตามนั้นเลย ต้องดูว่าการพูดตรงนั้นเป็นการพูดบนผลประโยชน์ของใครมากกว่า

 

สมมติซื้อ RMF ตั้งแต่เริ่มทำงาน พออายุครบ 55 ปี คือซื้อทุกปีไปเรื่อยๆ เงินที่ถอนออกมาตอนอายุ 56 ปี ต้องเอาเงินก้อนไหน จะได้ทั้งก้อนไหม

ได้ทั้งก้อนเลย ไม่ว่าจะเป็นก้อนไหน แต่ประเด็นคือเมื่อขายแล้ว ขายมาก ขายน้อย ถือว่าขายไปแล้ว สิทธิ์ก็จบแล้ว

 

สมมติว่าสะสมมาตั้งแต่สาวๆ จนอายุ 55 ปี มีเงินในนั้น 2,000,000 บาท ขาย 100,000 บาท แสดงว่าการขายเกิดขึ้นแล้ว เงื่อนไขต้องรีเซตใหม่หมด

เริ่มนับ 1 ใหม่ หมายความว่าถ้าคุณอายุ 57 ปี ซื้อ RMF นับปีแรกใหม่เลย

 

เพราะฉะนั้นถ้าเป็น RMF ถ้าคุณสะสมตามเงื่อนไขเขาไปจนถึงอายุ 55 ปี หรือคุณเกษียณ คุณอยากใช้เงิน คุณจะถอน สามารถถอนได้ทั้งก้อนโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เมื่อไรที่ถอน แม้จะถอน 1 บาท ก็ถือว่าเงื่อนไขนั้นจบแล้ว ถ้าจะทำอะไรต้องเริ่มใหม่

หลายคนถามว่าก้อนเก่าก็ต้องถือ 5 ปี หรือก้อนเก่าคุณขายเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าก้อนใหม่ที่คุณซื้อเข้าไปในปีใหม่ต้องนับ 1 ใหม่ ต้องรันไปอีก 5 ปี

 

บางคนหงุดหงิด ซื้อผ่านไปแล้ว 1 ปี น้อยกว่าเพื่อน 2% นอนไม่หลับ ย้ายได้ไหม ขอเปลี่ยนได้ไหม

RMF เขาเปิดโอกาสสามารถปรับเปลี่ยนไปเลือกกองที่เสี่ยงต่ำก็ได้ หรือกองที่เสี่ยงสูงขึ้นกว่าเดิมก็ได้ หรือคุณก็เลือกแบบไหนก็ได้ตามสบาย และได้ทุก บลจ. ด้วย หมายความว่าคุณซื้อ บลจ. สีม่วง แล้วจะย้ายไปอยู่สีเขียว ปีหน้าไปอยู่สีเหลืองด้วยเงินก้อนเดียวกัน ย้ายได้ ไปได้หมดเลย ได้หลายสไตล์มาก แต่ประเด็นคือจะย้ายทำไม ถ้าผลตอบแทนยังถึงเป้าหมายที่เราวางไว้อยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องไปย้ายมัน ยกเว้นอยากได้มากขึ้นก็ลองดู แต่ถ้าไม่ได้มีประเด็นอะไรก็ปล่อยไว้เถอะ มันวุ่นวายมากในการย้าย คือเวลาย้าย RMF เราต้องไปคุยกับ บลจ. แรกก่อนว่าเราจะย้ายออก เขาก็บอกว่าเราต้องไปติดต่อ บลจ. ใหม่ก่อนนะ พอเราไปที่ บลจ. ใหม่ เขาก็บอกว่าต้องไปคุยกับ บลจ. เก่ามาก่อนนะ มันเกิดความวุ่นวายแบบนี้ขึ้น

 

การย้าย RMF ถือว่าเป็นการซื้อไหม

ไม่ครับ

 

สมมติปีที่แล้วผมซื้อไว้ 50,000 บาทในกอง RMF (1) พอปีถัดมาผมโยก RMF (1) ไป RMF (2) อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นเงื่อนไขของการซื้อ เพราะฉะนั้นคุณต้องมีเงินอีกก้อนที่ซื้อต่างหาก อย่ามั่ว คุณโยกก็คือโยก มันก็คือเงินก้อนเดิม แต่เงื่อนไขคือซื้อทุกปี อย่างต่ำ 5,000 บาท หรือ 3% อันไหนน้อยกว่าก็เลือกอันนั้น

ปีหนึ่ง 5,000 บาท ตกเดือนละ 400 กว่าบาทเอง น่าจะซื้อกันได้หมด

 

สมมติว่าซื้อ RMF (1) มีอีกก้อนจะซื้อ แล้วเพื่อนบอกว่าผลตอบแทนน้อย ไปกอง (2) ดีกว่า ภายในปีเดียวกัน พอปีถัดมาซื้อกอง (3)

ได้หมด จะซื้อกองไหน กี่ บลจ. กี่กอง ภายใน 1 ปี ซื้อได้หมดเลย ไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ บลจ. เดียวกัน ไม่จำเป็น แต่สามารถเลือกประเภทต่างๆ กันได้ ไม่ใช่จะต้องกองหุ้นอย่างเดียว

 

เพราะฉะนั้นเรียกว่าถ้าเป็นการลงทุน คุณจะซื้อกี่กอง อะไรก็ได้ แต่ขอให้ภายใต้เงื่อนไขทั้งปีไม่เกิน 15% และถ้าเป็นขั้นต่ำ 5,000 บาท หรือ 3% นี่คือสำหรับ RMF แล้วส่วน LTF ย้ายได้ไหม

ย้ายได้เหมือนกัน ซื้อกี่กองก็ได้ ซื้อกี่ บลจ. ก็ได้ แต่ว่ายิ่งซื้อเยอะก็ยิ่งปวดหัว เหมือนที่เคยเล่าให้ฟัง ต้องมานั่งดู นั่งจัดการ แล้วแต่ละที่ส่งตัวเลขมาไม่เหมือนกัน งงไปหมด

 

เพราะฉะนั้นเรามีสิทธิ์โยกย้ายของเราได้เต็มที่ ในมุมของเรา การโยกย้ายเปลี่ยนแปลงตรงนี้มันมีค่าบริหารจัดการเพิ่มขึ้น

มีครับ ส่วนใหญ่กองขาออกเขาจะคิดค่าสับเปลี่ยนขาออก เพราะฉะนั้นต้องไปนั่งดูหน่อยว่า ถ้าคุณย้ายข้าม บลจ. ส่วนใหญ่จะคิดเงินค่อนข้างแพงเลยล่ะ เพราะว่าเขาไม่อยากให้เราออก แต่คนที่รับเข้าเนี่ย มาเลยๆ แต่ว่าถ้าย้ายภายใน บลจ. เดียวกัน ค่าธรรมเนียมจะไม่ค่อยเก็บ น้อย บลจ. มากที่จะเก็บ เพราะฉะนั้นดูดีๆ การย้ายถ้าไม่จำเป็นอย่าย้าย

 

“นักลงทุนเองหรือคนที่เพิ่งลงทุนกับ LTF/RMF เราควรเลือกกองให้ดีเหมือนติดกระดุมเม็ดแรกให้ดี เม็ดถัดไปจะสบายแล้ว ยอมเสียเวลาที่จะเลือกครั้งแรกหน่อย แล้วอยู่กับเขาไปนานๆ อย่างนั้นผมว่าเวิร์ก”

 

แล้วถ้าซื้อเกินเกณฑ์ที่เขากำหนดละครับ

คนส่วนใหญ่จะมีแนวคิด ถ้าเขาบอกอะไรตามกฎหมาย เราจะไปคิดเพิ่มเองว่ามันทำได้ เช่น ซื้อเกินมาแล้วไม่ได้เอามาลดหย่อนภาษีทั้งหมด แต่เอามาลดหย่อนเฉพาะส่วนที่ลดหย่อนได้ แล้วคิดว่าคงไม่ได้ผิดเงื่อนไขอะไร คือต้องบอกว่าส่วนที่เกินเขาเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องเอาไปรวมกับภาษีเพื่อคิดเป็นรายได้ แล้วเสียภาษีเงินก้อนนั้น ส่วนกำไรที่เกิดขึ้นต้องหัก ณ ที่จ่าย 3% อีก และกำไรต้องมาคิดรวมภาษีเงินได้ตอนปลายปีอีก มันจะปวดหัวมาก

 

แล้วถ้ามีบางคนตัดซื้อทุกปี แต่ปีนี้รายได้ลด แต่ไปผูกกับธนาคารไว้แล้วว่าให้ตัดเท่านั้นเท่านี้ มันก็เลยเหลื่อม กลุ่มนี้ไม่ตั้งใจ ควรทำอย่างไร

จริงๆ ไม่ตั้งใจไม่เป็นไร แค่แจ้งสรรพากร บอกเขาว่าจะซื้อเกินเพราะว่าเงื่อนไขอย่างนั้นอย่างนี้ อาจมีเบี้ยปรับนิดหน่อย ต้องคุยกับสรรพากรแล้วว่าอย่างนี้ทำอย่างไร เหมือนเรามอบตัวก่อน ยกมือว่าเราผิดเอง รับรองว่าอย่างนี้ไม่มีปัญหาระยะยาว เพราะมันคือแค่ครั้งเดียว แล้วอีกอย่างหนึ่งถ้าใครไม่มั่นใจเรื่องกฎสรรพากร แล้วชอบถามสรรพากรเขตหรือที่ไหนก็แล้วแต่ แล้วคำตอบที่ได้ไม่ตรงกัน ผมมีวิธีหนึ่งที่ใช้ คือเขียนข้อหารือเข้าไปที่กรมสรรพากรเลย ซึ่งข้อหารือนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์เขาจะตอบเรากลับมา เราเขียนได้ว่าเราผิดเงื่อนไขอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องทำอย่างไรบ้าง หรือทำแบบนั้นแบบนี้ได้ไหม ส่งเป็นคำถามแบบนี้เข้าไป สรรพากรก็จะมีนิติกรฝ่ายกฎหมายมานั่งตอบให้ แล้วส่งจดหมายฉบับนี้กลับมาเป็นตราครุฑเรียบร้อยว่าคำถามที่คุณถามมาทำได้หรือไม่ อย่างไหนคือผิดหรือถูก ถ้าคุณทำตามเงื่อนไขไม่ได้ผิดอะไร แล้วส่งยื่นภาษี แต่เกิดสรรพากรเรียกตรวจบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ผิดกฎ เราสามารถหยิบจดหมายที่นิติกรเขียนไว้เอามายัน สอดแทรกเข้าไปในเอกสาร เขาจะเงียบทันที เพราะถูกต้องตามที่นิติกรอธิบายไว้แล้ว

 

แล้วถ้าเราซื้อ LTF แบบ DCA ไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 55 ปี จะดีกว่าการซื้อ RMF หรือไม่ เพราะเงื่อนไข LTF น้อยกว่า

จริงๆ มันคนละหน้าที่กันครับ ทำแบบนี้ก็ได้ ไม่ได้ห้าม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าคุณจะเทียบกับ RMF ถ้าคุณจะ DCA จนถึงอายุ 55 ปี ก็ใช้ RMF เพราะมันถึงอายุ 55 ปีอยู่แล้ว แล้วคุณเลือกกองที่มีความเสี่ยงต่ำได้ด้วย เพราะ LTF คุณได้แต่กองเสี่ยงสูงนะ แล้วพออายุ 55 ปี คุณก็ไม่ควรจะเสี่ยงสูงมากขนาดนั้นแล้ว

 

คือความหมายว่า LTF เขาลงในหุ้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะลงทุนแบบฉันไม่สนใจ 7 ปี ปฏิทิน ฉันจะลงทุนยาวๆ ไปจนถึง 55 ปีอยู่แล้ว แต่ว่าต้องไม่ลืมว่า LTF ต่อให้ไปถึง 55 ปี มันก็คือการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ ซึ่งตรงกับช่วงใกล้เกษียณของคุณแล้ว ถึงตอนนั้นควรจะปรับมันมาเป็นตราสารหนี้ หรือ RMF อสังหาริมทรัพย์ก็มี

จริงๆ RMF ไม่มีปันผล แต่เขาจะเก็บปันผลไว้ให้เราก่อน ซึ่งมันดีมาก

 

ต้องบอกว่าทางตลาดหลักทรัพย์เองก็พยายามเชียร์ให้ซื้อ RMF ก่อน เพราะว่าวัตถุประสงค์มันเกิดมาชัดเจนเพื่อวางแผนเกษียณ ในขณะที่ LTF เกิดมาเพื่อสนับสนุนตลาดทุน เงื่อนไขมันเลยสั้นกว่า แต่จะจับจ้อง 7 ปี กับถึง 55 ปี เป็นประเด็นสำคัญ

จริงๆ ควรเปลี่ยนตัวเองให้มองเป้าหมายการลงทุนดีกว่า

 

ตอนแก่จะได้มีเงินใช้เงินเก็บ และใช้ช่องทางนี้เป็นตัวเก็บน่าจะเป็นสิ่งที่ดี

หรือจะใช้การลงทุนทั้ง 2 กองนี้ก็ได้ เช่น ผมซื้อ LTF เป็นสัดส่วนหุ้นในพอร์ต และ RMF เป็นกองประเภทอื่น พอร์ตเกษียณผมก็จะมีทั้ง LTF และ RMF ในนั้น

 

เหมือนหยิบตะกร้าหนึ่งมีทั้ง LTF ที่เป็นหุ้นและ RMF แล้วไปใส่อย่างอื่น

ตราสารหนี้บ้าง ทองคำบ้าง

 

เพื่อให้พอร์ตสมดุลกัน เสี่ยงเยอะส่วนหนึ่ง เสี่ยงน้อยส่วนหนึ่ง วิธีนี้เอาไปใช้ได้นะครับ

แนะนำเลยครับ

 

บางคนไปซื้อ LTF/RMF ที่มีปันผล สิ้นปีต้องนำเงินเหล่านี้ไปรวมในรายการเงินได้เพื่อมาคิดคำนวณภาษีใช่ไหม

จริงๆ ไม่ต้อง เงินปันผลถ้าเราทำหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วก็ไม่ต้องนำมารวมแล้วก็ได้ จบในตอนได้เลย หรือเอามารวมก็ได้ แต่จะไม่ได้เครดิตภาษีคืนเหมือนหุ้น เพราะเงินปันผลจากกองทุนรวมเรานับเป็น มาตรา 40 (8) ซึ่งคือคนละก้อนกับเงินปันผลของหุ้น ซึ่งคือ มาตรา 40 (4)

 

แล้วถ้าซื้อแบบมีปันผลไปแล้ว พอได้ปันผลมา เงินก้อนนี้ควรจะบริหารอย่างไร แนะนำหน่อย

ต้องบอกว่าคนที่ซื้อกอง LTF ปันผล ผมเชื่อว่าตอนแรกที่เขาคิดคือเขาอยากได้เงินปันผลมาใช้ระหว่างทาง ถ้าคุณมีเป้าหมายอยู่แล้วว่าจะเอาก้อนนั้นมาใช้ ก็ใช้มันซะ แต่ถ้าบางคนไม่อยากได้เป็นปันผลแต่ไปเลือกกองปันผลนี่ไม่ดี คิดผิด เพราะว่าถ้าคุณไม่อยากมีปันผล แต่อยากได้ปันผลมาเก็บกำไรไว้ก่อน แล้วค่อยเอากลับไปลงทุน คุณจะโดน 2 ดอก ดอกแรกคุณจะโดนภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ดอกที่ 2 เสียค่าธรรมเนียมในการซื้อ ถ้ามี เพราะฉะนั้นผมว่าจริงๆ แล้วคุณต้องคิดให้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่า เป้าหมายในการซื้อกองปันผลคือเพื่ออะไร ถ้าเพื่อเอามาใช้ คุณก็เอามาใช้ แต่ถ้าเพื่อจะเก็บระยะยาว ก็อย่าเลือกกองปันผลตั้งแรกเลยดีกว่า

 

โฆษณากองทุนมักชูจุดเด่นว่าผลตอบแทนย้อนหลัง 5-10 ปีที่ผ่านมาสูง แต่มักจบด้วยผลตอบแทนในอดีตไม่มีผลต่อการลงทุน มันแปลกนะ เรากำลังซื้อเพื่ออนาคต คุณก็เอาข้อมูลในอดีตมาเปรียบเทียบกัน เสร็จแล้วเราเริ่มเคลิ้ม แล้วคุณก็จบด้วยประโยคนั้น มันขัดแย้งในตัวเองไหม

ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วที่เขาต้องพูดอย่างนี้เพราะไม่มีใครรู้อนาคตจริงๆ ว่าจะดีต่อไหมหรืออย่างไร เขาเลยต้องเคลมตัวเองไว้ก่อนว่าดูได้ ที่ผ่านมาเจ๋ง แต่ไม่ได้บอกว่าต่อไปจะดีแบบนี้ พอดีว่ามีเปเปอร์หนึ่งของ กลต. ถ้าดูผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี ระดับ Top Fund 20 กว่ากองนี้เขาตามต่อ ลองลงทุนต่อเนื่องไปอีก 5 ปีข้างหน้า ปรากฏว่าเหลือครึ่งหนึ่งที่ยังเจ๋งอยู่ ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดี ถ้าคุณไปดูผลตอบแทนย้อนหลังยาวๆ ก็อาจได้กองที่เจ๋งต่อเนื่องก็มี มีครึ่งหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่า หนึ่งกองอาจจะหายไป แต่อีกหนึ่งกองอาจยังเป็น Top Fund เหมือนเดิม

 

“เราไม่ต้องหากองทุนที่เจ๋งที่สุด แต่เราหากองทุนที่สม่ำเสมอที่สุด อย่างนี้เราหาได้ มันมีอยู่”

 

หมอนัทมีคำแนะนำ เกณฑ์ให้เขาพิจารณาบ้างไหม

ขั้นแรก เซตเป้าหมายก่อนว่าตัวเองอยากได้ผลตอบแทนประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่จะวางไว้ ก็ดูตรงนั้นก่อน สมมติว่าได้ 7-8% เราก็ไปหากอง ทีนี้การไปหากองเราก็ดูผลตอบแทนย้อนหลังที่บอกเมื่อสักครู่ ประมาณ 3-5 ปี ว่ากองไหนมีเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ดี กองพวกนี้อาจจะได้สัก 12% อันนี้ก็โอเคแล้ว แล้วเราก็ลิสต์มา 4-5 กอง

 

ต่อจากนี้ก็ดูว่ากองไหนที่ค่าธรรมเนียมน้อยที่สุด เลือกมาสัก 2 กอง อาจดูจากหนังสือชี้ชวนได้ เอามากางดูเลย แต่ถ้าเขาบอกว่าเก็บสูงสุดเท่านั้นเท่านี้แต่ไม่ได้บอกว่าปัจจุบันเก็บเท่าไร โทรถามเลย มันคือเงินของเรา เขาจะมีตัวเลขจริงอยู่ แล้วไม่ต้องไปกลัวว่าเงินมากเงินน้อยเขาจะไม่บอกเรา เขาบอกหมด แล้วพอได้ 2 กองที่พอใจแล้วก็แบ่งเงินลงทุนเลย เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยง เราทำงานเลือกกองทุน ตัดเงินสัก 6 เดือน 1 ปี เปิดพอร์ตดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง เวลามอนิเตอร์ก็ต้องเทียบกับผลโดยเฉลี่ย อย่าให้ไปหาสูงสุดต่ำสุด

 

สามารถติดตามหมอนัทได้ที่ไหน

ผมเขียนบนเพจเฟซบุ๊ก คลินิกกองทุน และเขียนสกู๊ปในการเงินการธนาคาร และคอลัมน์ทุกเดือนที่โพสต์ทูเดย์ หรือใครอยากเริ่มลงทุนผมก็อยู่หลายที่ สามารถเข้าไปอ่านบทความใน Aommoney หรือ Treasurist ก็สามารถติดตามได้

 

 


 

Credits

 

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X