×

เปิดข้อมูลวิจัยโอไมครอนกับผลกระทบวัคซีน นักวิทยาศาสตร์พบอะไรบ้าง แล้วอะไรที่ยังไม่ได้คำตอบ

11.12.2021
  • LOADING...
โอไมครอน

บรรดานักวิจัยจากหลายประเทศยังคงพยายามเร่งศึกษาและทำความเข้าใจต่ออันตรายของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน กับผลกระทบต่อวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยล่าสุดจนถึงเมื่อวานนี้ (10 ธันวาคม) มีอย่างน้อย 4 กลุ่มวิจัยทั่วโลก ที่เปิดเผยผลการวิจัยจาก 4 ห้องปฏิบัติการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโควิดโอไมครอนมีผลอย่างไรกับวัคซีน ด้วยการทดลองจากตัวอย่างเลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว 

 

โดยผลวิจัยที่ถูกนำมาเผยแพร่นี้ยังเป็นเพียงขั้นต้น และอาจจะยังไม่สามารถให้ข้อสรุปที่ชัดเจนได้ เนื่องจากเป็นเพียงตัวอย่างงานวิจัยเพียงเล็กน้อยที่ยังคงดำเนินการอยู่และยังไม่ผ่านการตรวจสอบอย่างเป็นทางการจากผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นจึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลต่างๆ มากขึ้น และเนื่องจากเป็นการวิจัยในห้องปฏิบัติการ จึงอาจจะไม่สะท้อนผลที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงอย่างแน่ชัด 

 

แต่ถึงกระนั้น ข้อมูลวิจัยเหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้เชี่ยวชาญ ในการฉายให้เห็นภาพอันตรายของโอไมครอน และอาจเป็นกุญแจไปสู่การไขคำตอบได้ว่า โอไมครอนนั้นหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้มากแค่ไหน

 

และนี่คือผลวิจัยที่ถูกเปิดเผยจากทั้ง 4 ห้องปฏิบัติการ

 

1. งานวิจัย Pfizer-BioNTech ชี้วัคซีนเข็มกระตุ้นอาจช่วยฟื้นฟูภูมิคุ้มกันต้านโอไมครอนได้ในระดับปกติ

งานวิจัยนี้มีอะไรบ้าง

  • นักวิทยาศาสตร์ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech จำนวน 2-3 โดส
  • การทดลองมีขึ้นในช่วงที่ระดับแอนติบอดี (Antibody) หรือสารภูมิต้านทานในร่างกายเพิ่มขึ้นสูงสุด คือช่วง 3 สัปดาห์หลังฉีดเข็ม 2 หรือ 1 เดือนหลังฉีดเข็ม 3
  • นักวิจัยใช้อนุภาคเทียม หรือ Pseudovirus ของโอไมครอน ซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อโรคในการทดลองกับตัวอย่างเลือด โดยการทดลองแบบนี้ทำได้รวดเร็วกว่า แต่ก็มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทดลองกับไวรัสจริงๆ
  • นักวิจัยทำการเปรียบเทียบว่าวัคซีนมีผลอย่างไรต่อโอไมครอน ไปจนถึงโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่ตรวจพบครั้งแรกเมื่อปี 2019

 

ผลวิจัยพบอะไรบ้าง

  • สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech จำนวน 2 โดส พบว่า โอไมครอนทำให้ระดับแอนติบอดีลดลง 96% หรือประมาณ 25 เท่า
  • การฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech 2 โดสยังคงก่อให้เกิดแอนติบอดีที่ต้านทานโอไมครอนได้บางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด และมีเชื้อไวรัสที่สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้
  • การฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech 2 โดส ยังได้รับประโยชน์จาก T Cells ซึ่งเป็นแนวป้องกันที่ 2 ของระบบภูมิคุ้มกัน
  • การฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech 2 โดส ยังช่วยป้องกันการเกิดอาการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโอไมครอน แม้ว่าระดับแอนติบอดีจะค่อนข้างต่ำ
  • ผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech เข็ม 3 หรือเข็มกระตุ้นนั้นมีระดับแอนติบอดี ที่ช่วยต้านทานโอไมครอนสูงกว่า 2 เข็มมาก
  • นักวิจัยชี้ว่า การฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech เข็มกระตุ้น จะช่วยฟื้นฟูแอนติบอดีในการต้านทานโอไมครอนให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับการฉีดวัคซีน 2 โดส ที่มีผลต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม

 

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ

  • ผู้บริหารของ Pfizer และ BioNTech กล่าวว่า งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า วัคซีนเข้มกระตุ้นนั้นเป็นส่วนสำคัญของการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโอไมครอน
  • งานวิจัยของ Pfizer-BioNTech คล้ายคลึงกับงานวิจัยอื่นๆ คือมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบแอนติบอดี เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีน แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เห็นด้วยว่านั่นหมายถึงระดับการป้องกันโอไมครอนทั้งหมด เนื่องจากแอนติบอดีนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน 
  • โดยแอนติบอดีสามารถยับยั้งไวรัสจากการติดเชื้อได้เมื่ออยู่ในร่างกาย แต่องค์ประกอบสำหรับภูมิคุ้มกันอื่นๆ (อย่าง T Cells และ Memory B Cells ที่เกิดจากวัคซีนหรือการติดเชื้อก่อนหน้านี้) สามารถช่วยยับยั้งอาการป่วยหรือเสียชีวิต
  • การใช้ Pseudovirus ซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อโรคนั้น เป็นข้อสังเกตสำคัญของการทดลอง เนื่องจากมันไม่เหมือนกับการทดลองด้วยไวรัสโอไมครอนจริงๆ

 

2. งานวิจัยแอฟริกาใต้ชี้ โอไมครอนส่งผลระดับภูมิคุ้มกันลดลง 40 เท่า

งานวิจัยนี้มีอะไรบ้าง

  • นักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยตัวอย่างเลือด 14 ตัวอย่าง จากผู้ติดเชื้อโอไมครอน 12 คน 
  • ทั้ง 12 คนนั้นได้รับการฉีดวัคซีน  Pfizer แล้ว 2 โดส
  • 6 ใน 12 คนนั้นเคยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นมาก่อน

 

ผลวิจัยพบอะไรบ้าง

  • โอไมครอนลดระดับแอนติบอดีในร่างกายลงกว่า 40 เท่า เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม
  • ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ มีระดับภูมิคุ้มกันในการต้านทานโอไมครอนที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ฉีดวัคซีน Pfizer 2 โดส

 

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ

  • เช่นเดียวกับงานวิจัยอื่นๆ งานวิจัยของแอฟริกาใต้ก็ดูที่ระดับแอนติบอดีเป็นหลัก โดยมองว่าแอนติบอดี เป็นตัวแทนการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และไม่มีการวิจัยว่าโอไมครอนส่งผลต่อ T Cells และ B Cells อย่างไร
  • ข้อสังเกตเดียวของงานวิจัยนี้ คือทีมนักวิจัยไม่ได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น อีกทั้งยังวิจัยจากตัวอย่างเลือดที่มีจำนวนน้อย ดังนั้นระดับความรุนแรงของแอนติบอดีที่ลดลงจึงอาจเปลี่ยนแปลงได้หากมีข้อมูลวิจัยตัวอย่างเลือดที่มากขึ้น

 

3. งานวิจัยในสวีเดน แสดงให้เห็นระดับแอนติบอดีลดลงพอประมาณ

งานวิจัยนี้มีอะไรบ้าง

  • สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institutet) ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดของสวีเดน ทำการวิจัยตัวอย่างเลือด 34 ตัวอย่าง โดยครึ่งหนึ่งคือเลือดของผู้บริจาคที่ถูกสุ่มเลือก และอีกครึ่งมาจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เคยติดโควิดก่อนหน้านี้

 

ผลวิจัยพบอะไรบ้าง

  • ไม่พบการลดลงของระดับแอนติบอดีมากนักเมื่อเทียบกับงานวิจัยในแอฟริกาใต้ โดยระดับแอนติบอดีในตัวอย่างเลือดที่นำมาวิจัยกับโอไมครอน ลดลงประมาณ 5-7 เท่า

 

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ

  • เหมือนงานวิจัยอื่นที่มุ่งเน้นการดูที่แอนติบอดีเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันทั้งหมด
  • ข้อสังเกตที่พบ คือยังไม่แน่ชัดว่าตัวอย่างเลือดทั้งหมดมาจากผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ และไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าพวกเขาฉีดวัคซีนทั้งแบบ 2 เข็มหรือเข็มกระตุ้นแล้วนานแค่ไหน
  • อีกข้อสังเกตคือมีการใช้ไวรัสที่ไม่ก่อโรคในการวิจัย ซึ่งอาจให้ผลแตกต่างจากการใช้เชื้อโอไมครอนจริงๆ

 

4.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต พบระดับแอนติบอดีในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนลดลงค่อนข้างมาก

งานวิจัยนี้มีอะไรบ้าง

  • ทีมนักวิจัยทำการทดลองตัวอย่างเลือดจาก 117 คนที่มีสถานะการฉีดวัคซีนแตกต่างกัน 
  • กลุ่มตัวอย่างนั้นมีตั้งแต่ประชาชนอายุ 20 ปีไปจนถึง 93 ปี และมีการฉีดวัคซีนแล้วตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึง 7 เดือน
  • งานวิจัยนี้ใช้ไวรัสโควิดโอไมครอนจริงๆ โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มีต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา

 

ผลวิจัยพบอะไรบ้าง

  • การลดลงของแอนติบอดีค่อนข้างมาก โดยมีตั้งแต่ 11 เท่าไปจนถึง 37 เท่า สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer, Moderna, AstraZeneca รวมถึงวัคซีนเข็มกระตุ้น
  • พบระดับแอนติบอดีที่ต้านทานไวรัสในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 

 

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ

  • ข้อสังเกตหลักเช่นเดียวกับงานวิจัยอื่น คือการวัดระดับแอนติบอดีในลักษณะเป็นตัวแทนการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และไม่ทราบว่าโอไมครอนส่งผลกระทบอย่างไรต่อ T Cells และ B Cells
  • การศึกษาครอบคลุมตัวอย่างเลือดมากกว่า 100 ตัวอย่าง อีกทั้งยังครอบคลุมช่วงอายุและระยะเวลาการฉีดวัคซีนที่กว้าง แต่เมื่อแบ่งสถานะการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มย่อย เช่น ผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกเป็น Moderna และตามด้วยเข็มกระตุ้นจาก Pfizer จะทำให้กลุ่มตัวอย่างที่นำมาวิจัยนั้นน้อยลงมาก หมายความว่าผลวิจัยอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากมีข้อมูลวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติม
  • ไฮไลต์ของงานวิจัยนี้ คือเป็นงานวิจัยแรกที่มีข้อมูลวิจัยวัคซีนของ AstraZeneca และ Moderna

 

นอกจากนี้ ยังมีอีก 8 คำถามสำคัญเกี่ยวกับโอไมครอนและวัคซีนที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกยังคงค้นหาคำตอบ ได้แก่

 

  1. โอไมครอนจะแทนที่หรือแพร่ระบาดร่วมกับเดลตาหรือไม่?
  2. โอไมครอนจะมีการแพร่ระบาดมากกว่าเดลตาหรือไม่? และหากเป็นเช่นนั้น จะเกิดได้อย่างไรและมากแค่ไหน?
  3. โดยทั่วไปแล้วโอไมครอนก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงหรือเบากว่า เมื่อเทียบกับเดลตา?
  4. การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยป้องกันเชื้อโอไมครอนได้ดีแค่ไหน
  5. วัคซีนโควิดที่มีอยู่จะป้องกันโอไมครอนได้นานแค่ไหน?
  6. เด็กควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่?
  7. จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ในปีหน้าหรือไม่?
  8. การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และ 3 ควรเว้นระยะเวลาห่างเท่าไร?

 

ภาพ: Photo Illustration by Pavlo Gonchar/SOPA Images/LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X