นักลงทุนทั่วโลกตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีและการแสดงความคิดเห็นจากหน่วยงานทางการชั้นนำของจีนต่อวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น สะท้อนให้เห็นว่าทางการจีนกำลังพยายามจัดการการสื่อสารกับนานาประเทศเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเงินของยักษ์ใหญ่ภาคอสังหาริมทรัพย์อย่าง China Evergrande Group เพื่อให้นักลงทุนทั่วโลกคลายกังวล แม้ว่า China Evergrande จะยังนิ่งเงียบอยู่หลังจากส่งหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
Bloomberg รายงานว่า แถลงการณ์จากหน่วยงานต่างๆ รวมถึง China Banking and Insurance Regulatory Commission พร้อมด้วยท่าทีของ ยี่กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) เมื่อวันพฤหัสบดี (9 ธันวาคม) ที่สื่อสารด้วยข้อความที่ชัดเจนไปยังนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายทั่วโลกว่า ทางการจีนเองจะไม่มีการให้เงินช่วยเหลือแก่ Evergrande แต่ความเสี่ยงต่างๆ ที่ตลาดกังวลได้ถูกบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว
ซึ่งการสื่อความดังกล่าวถูกนักลงทุนทั่วโลกที่ติดตามสถานการณ์อยู่ มองว่าเป็นวิธีการที่ผิดปกติสำหรับหน่วยงานทางการจีน และประเมินกันว่าทางการจีนน่าจะทำไปเพื่อประคองสถานการณ์โดยรวม และควบคุมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการล่มสลายของ Evergrande
โดยตลาดเริ่มจับสังเกตได้จากคำพูดของนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง เกี่ยวกับการลดอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ Evergrande ประกาศอย่างเป็นทางการเรื่องการเผชิญวิกฤตสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งคำพูดของ หลี่เค่อเฉียง ได้ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของ Junk Bond ของจีนในเวลานั้น อีกทั้งสื่อในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ค่อยรายงานเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของวิกฤต Evergrande
จากนั้น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศอัดฉีดเงิน 1 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.57 พันล้านดอลลาร์) เข้าสู่ระบบการเงิน ผ่านข้อตกลง Reverse Repo ประเภทอายุ 7 วัน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 2.2% โดย PBOC เปิดเผยว่า การอัดฉีดเงินสดมีเป้าหมายที่จะรักษาสภาพคล่องในระบบธนาคารให้มีเสถียรภาพอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ Reverse Repo เป็นกระบวนการที่ธนาคารกลางจีนเข้าซื้อหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ด้วยข้อตกลงที่จะขายคืนในอนาคต
การตัดสินใจดังกล่าวของธนาคารกลางจีนเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดการเงินวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจาก Evergrande
อี้กัง ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน (PBOC) ยังได้กล่าวถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่า ความเสี่ยงในระยะสั้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบภาคการเงินของจีนในระยะกลางและระยะยาวอย่างแน่นอน และได้กล่าวถึงประเด็นความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของ China Evergrande ว่าเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งในตลาดที่สามารถจัดการได้ตามกรอบหลักการและกฎหมาย ขณะที่ผลประโยชน์ของผู้ลงทุนจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายด้วยเช่นกัน
ท่าทีของผู้ว่าแบงก์ชาติจีนตอกย้ำถึงความชัดเจนของรัฐบาลปักกิ่งว่าไม่มีแผนการที่จะเข้าไปแทรกแซง เพื่อช่วยให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีนเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้การควบคุมของรัฐในเร็วๆ นี้แต่อย่างใด
ในวันเดียวกัน (8 ธันวาคม) สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ผู้ถือพันธบัตรต่างประเทศของ China Evergrande Group (Evergrande) เผยว่ายังไม่ได้รับเงินชำระดอกเบี้ยรอบที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 6-7 พฤศจิกายน ที่มีมูลค่ารวม 82.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งครบกำหนดผ่อนผันวันสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่า Evergrande กำลังถูกขึ้นสถานะผิดนัดชำระหนี้ และเตรียมเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของจีน
ก่อนหน้านี้ Evergrande ยอมรับว่าบริษัทไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ โดยบริษัทมีแผนที่จะรวมเอาพันธบัตรสาธารณะนอกอาณาเขตและภาระหนี้ภาคเอกชนทั้งหมดมารวมอยู่ในโปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศจีน ซึ่งในปัจจุบัน Evergrande มีพันธบัตรต่างประเทศมูลค่ารวม 1.92 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีพันธบัตรในประเทศมูลค่า 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ China Evergrande Group มีภาระหนี้สูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน (3.05 แสนล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมหนี้ของรัฐบาลจีน รวมถึงการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศจีนเผชิญกับการชะลอตัวอย่างรุนแรง
นอกจาก Evergrande แล้ว Kaisa Group Holdings เป็นอีกหนึ่งบริษัที่มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้หลังไม่สามารถชำระดอกเบี้ยมูลค่า 88.4 ล้านดอลลาร์ ที่มีกำหนดชำระในวันที่ 11 และ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่ง Kaisa จำเป็นต้องชำระดอกเบี้ยก่อนสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันในวันที่ 11 และ 12 ธันวาคมนี้
ปัจจุบัน เรียกได้ว่านักลงทุนต่างประเทศได้รับผลกระทบมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤต Evergrande ระดับความเครียดในตลาดตราสารหนี้นอกแผ่นดินใหญ่ยังคงอยู่ที่ระดับที่สูงมาก โดยจากรายงานติดตามสินเชื่อของจีนของ Bloomberg แสดงให้เห็นว่า เป็นการล่มสลายครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ ผลตอบแทนของ Junk Bond ปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนจะปรับลดลงเหลือประมาณ 20% ในขณะเดียวกันกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกบางแห่งขาดทุนเป็นประวัติการณ์ ในทางตรงกันข้ามตลาดพันธบัตรในจีนแผ่นดินใหญ่กลับยังคงมีความยืดหยุ่นมากกว่ามาก
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-12-10/china-tries-to-manage-global-message-on-evergrande-collapse?sref=CVqPBMVg
- https://www.reuters.com/markets/rates-bonds/china-supports-debt-issuance-by-developers-fund-acquisitions-sec-times-2021-12-10/
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-12-09/evergrande-to-be-handled-in-market-oriented-way-pboc-s-yi-says?sref=CVqPBMVg