×

เจาะลึก 3 ธีมลงทุนหุ้นโลก ‘Aerospace – Metaverse – Digital Asset’ ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กำลังมาแรงและมีแนวโน้มเติบโตดี

07.12.2021
  • LOADING...
ธีมลงทุน

เหลือเวลาอีกไม่นานก่อนที่ปีเก่าจะผ่านไปและปีใหม่จะเข้ามา ภาวะการลงทุนในปี 2021 ยังคงมีความผันผวนสูงต่อเนื่องจากการระบาดของโควิคในหลายระลอกทั่วโลก โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาและล่าสุดโอไมครอน การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักที่ส่งสัญญาณการทำนโยบายตึงตัวมากขึ้นและทยอยลดสภาพคล่องลง ปัญหาเงินเฟ้อและคอขวดด้านอุปทานและการขาดแคลนวัตถุดิบที่ส่งผลให้การผลิตและจัดส่งสินค้าล่าช้า ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนและวิกฤตหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจและธุรกิจและการคุมเข้มของทางการจีนต่อบริษัท Internet & Platform ขนาดใหญ่ที่ส่งผลกดดันบริษัทเทคโนโลยีของจีน 

 

เหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สร้างความผันผวนต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกทั้งในส่วนของตราสารหนี้ ตราสารทุน สินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ น้ำมัน รวมไปถึงความผันผวนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักทั่วโลกก็ยังให้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ และสามารถฝ่าช่วงความผันผวนมาได้สะท้อนจากดัชนีหลัก เช่น ดัชนี S&P 500 ที่ปรับขึ้นมาราว 22% ดัชนี Euro STOXX 600 ที่ปรับขึ้นมาราว 16% เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ดี การลงทุนหุ้นในลักษณะอ้างอิงกับภูมิภาคอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความหลากหลายและการเข้าถึงโอกาสการลงทุนในอีกหลายรูปแบบได้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมการลงทุนในลักษณะลงทุนตามธีมหรือ Thematic Investing จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดกระแสโดยทาง ARK Invest ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนพร้อมแนวคิดการลงทุนที่ล้ำหน้า เน้นการวิเคราะห์เชิงบูรณาการโดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์แบบ Industrial Bottom-Up เข้มข้นและเจาะลึกรายบริษัทมากกว่าแบบ Macro Top-Down ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงสั้นจะเผชิญความผันผวนได้สูง แต่ก็มีโอกาสทำกำไรได้มากในระยะยาว 

 

การลงทุนแบบ Thematic Investing มีมากมายตามเทรนด์ของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป หลายธีมเป็นที่นิยมสำหรับนักลงทุนต่างประเทศและหลายธีมก็เป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนไทย เช่น EV & Batteries, Clean & Renewable Energy, AI & Robotics, Cloud Computing, Semiconductor, Cybersecurity, Healthcare, Biotech & MedTech, E-Sport & Entertainment, E-Commerce, E-Learning ฯลฯ 

 

ทั้งนี้หลายธีมได้สร้างผลตอบแทนให้กับการลงทุนนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิคทั่วโลกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหุ้นโลกในกลุ่มเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม ซึ่งหุ้นในหลายธีมก็ได้ปรับตัวขึ้นมาพอสมควรหรือมากกว่าดัชนีหลักอย่าง S&P 500 ไปแล้ว 

 

ดังนั้นในปี 2022 SCB CIO มองว่าการคัดเลือกธีมการลงทุนอาจจะต้องมองหาอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น หรือสามารถเกาะกระแสการเติบโตของเมกะเทรนด์ในอนาคตได้ด้วยพื้นฐานของเรื่องราวและการเติบโตที่เป็นไปได้นับจากปัจจุบัน และยิ่งถ้าเป็นธีมที่ยังอยู่นอกกระแสหรือความนิยมในหมู่นักลงทุนยังไม่มาก จะยิ่งเป็นโอกาสในการลงทุนได้ในระยะยาว SCB CIO มองว่า 3 ธีมสำหรับการลงทุนหุ้นโลกในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ 1. Aerospace & Space Exploration 2. Metaverse และ 3. Cryptocurrency and Digital Assets ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

 

Theme 1: Aerospace & Space Exploration

SCB CIO มองการลงทุนในหุ้นของบริษัทระดับโลกที่มีส่วนร่วมในนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศและการสำรวจอวกาศอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับนักลงทุนอีกต่อไป จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและการนำไปใช้งานจริงได้นอกเหนือพื้นผิวของโลก เช่น เทคโนโลยีจรวด โดรน ดาวเทียม ฯลฯ การลงทุนในธีม Aerospace & Space Exploration เป็นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินและอวกาศทั้งหมด 

 

รวมถึงธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ ทั้งการท่องเที่ยวอวกาศ ระบบการกำหนดตำแหน่งบนโลก (GPS) การวัดและพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ รวมถึงระบบโทรคมนาคมและการสื่อสารขั้นสูง ตัวอย่างบริษัทชั้นนำของโลกที่อยู่ในธีม Aerospace & Space Exploration ได้แก่ บริษัท Trimble, Iridium Communications, Raytheon Technologies Corporation, Boeing, Virgin Galactic Holdings ฯลฯ SCB CIO มองหุ้นโลกในธีม Aerospace & Space Exploration มีความน่าสนใจเนื่องจาก 

 

  1. ต้นทุนเทคโนโลยีด้านอวกาศ และการสร้างยานอวกาศลดลง ธุรกิจการบินอวกาศและธุรกิจเกี่ยวเนื่องยังสามารถเติบโตได้อีกมหาศาลจากฐานที่ตํ่าในปัจจุบัน 
  2. บริษัทที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจการบินและอวกาศ รวมถึงการสำรวจอวกาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต 
  3. ธุรกิจอวกาศและการสำรวจอวกาศ มีขอบเขตมากกว่าแค่บริษัทดาวเทียมหรือยานอวกาศ และไม่ได้มีเพียงแต่บริษัทชั้นนำอย่าง SpaceX บริษัทเอกชนทางด้านธุรกิจการขนส่งทางอวกาศของ อีลอน มัสก์ ที่นักลงทุนคุ้นเคยเท่านั้น แต่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศที่ทำให้ต้นทุนถูกลงจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสามารถทำการต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ ได้อีกมาก 

 

อย่างไรก็ดี การลงทุนในธีม Aerospace & Space Exploration มีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณา คือ ความเป็นไปได้และความสามารถของการดำเนินธุรกิจในระยะยาว แม้ว่าธุรกิจนี้จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีผู้เล่นน้อยราย แต่ความสามารถในการทำกำไรในช่วงสั้นจะเป็นเรื่องท้าทาย และพัฒนาการของผลประกอบการจะเป็นจุดสนใจของนักลงทุนได้ค่อนข้างมาก ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มอาจมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนได้สูง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

Theme 2: Metaverse

จากถ้อยแถลงบริษัท Facebook ที่ประกาศเปลี่ยนชื่อมาเป็น Meta จุดกระแสเทคโนโลยี Metaverse ขึ้นอย่างมากและกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก แม้ Metaverse จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการเทคโนโลยี แต่กระแสถูกจุดขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ในเดือนสิงหาคม 2021 เมื่อบริษัท Facebook ได้ก้าวสู่การเสนอเทคโนโลยี Metaverse ด้วยการเปิดตัว ‘Horizon Workrooms’ ซึ่งเป็นพื้นที่ประชุมเสมือนจริงที่เพื่อนร่วมงานสามารถโต้ตอบกันได้ในรูปแบบของอวตารดิจิทัล Metaverse หรือเทคโนโลยีที่สร้างและผสานสภาพแวดล้อมของโลกความเป็นจริงที่เราอยู่เข้ากับโลกเสมือนจริงจนกลายเป็นชุมชนโลกเสมือนจริง ซึ่งสามารถผสานวัตถุรอบตัวและสภาพแวดล้อมให้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว โดยอาศัยเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ช่วยเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อให้หลายโลกกลายเป็นพื้นที่โลกเดียวกัน 

 

ตัวอย่างบริษัทชั้นนำของโลกที่อยู่ในธีม Metaverse มีอยู่มากมายในหลายอุตสาหกรรมและเป็นบริษัทผู้นำที่นักลงทุนคุ้นเคย ได้แก่ Facebook, Amazon, Roblox, Microsoft, Nvidia, Unity Software, Snap, Tencent Holdings ฯลฯ SCB CIO มองหุ้นโลกในธีม Metaverse มีความน่าสนใจเนื่องจาก 

 

  1. เป็นการลงทุนในวิวัฒนาการขั้นต่อไปของอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นวิวัฒนาการที่ผู้บริโภคจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติหลายประการ รวมถึงการเข้าถึงและเชื่อมโยงผ่านอุปกรณ์หลายเครื่องในเวลาเดียวกัน ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีแพลตฟอร์มและสถาปัตยกรรมแบบเปิดที่กระจายอำนาจ ที่ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยอุปกรณ์ เช่น แว่นตา ชุดหูฟัง 
  2. เทคโนโลยี Metaverse เกี่ยวพันโดยตรงกับธุรกิจหลายรูปแบบ และสามารถกระจายการลงทุนตั้งแต่ธุรกิจต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า นับตั้งแต่ Developer/Creator Economies, Advertising, Digital Events, Hardware ฯลฯ
  3. บริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse สามารถสร้างโอกาสการเติบโตที่หลากหลายไม่จำกัดเฉพาะโซเชียลมีเดีย แต่รวมไปถึงโอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวกับวิดีโอเกมและสันทนาการ อีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมการผลิตและสุขภาพ รวมไปถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นมากมาย 

 

อย่างไรก็ดี การลงทุนในหุ้นโลกในธีม Metaverse มีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณา คือ Metaverse ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและโครงสร้างพื้นฐานกำลังถูกสร้างขึ้นทีละส่วน และปัจจุบันยังมีบริษัทน้อยรายที่สามารถสร้างกำไรโดยตรงจาก Metaverse ได้ชัดเจน นอกจากนี้แม้โอกาสในการลงทุนกำลังเกิดขึ้นในหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่การนำไปใช้จริง (Use Case) ของ Metaverse ยังเห็นได้ชัดเฉพาะกับบริษัทที่ทำด้านโซเชียลมีเดีย วิดีโอเกม และการทำงานทางไกล ซึ่งได้ประโยชน์จากฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ และบริษัทแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างประสบการณ์กิจกรรมดิจิทัลแบบสด รวมถึงบริษัทฮาร์ดแวร์ล้ำสมัย ในขณะที่ยังมีธุรกิจอีกหลายด้านที่ยังต้องรอ Use Case ที่จะถูกพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

 

Theme 3: Cryptocurrency and Digital Assets

เทคโนโลยีกระจายศูนย์ (Decentralized) เช่น Blockchain ก่อให้เกิดเทรนด์การลงทุนรูปแบบใหม่ที่เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนใน Traditional Asset Class เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน สินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าว ได้แก่ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ที่มีนิยามกว้างครอบคลุมทั้งตลาดสกุลเงินดิจิทัลและเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และ NFT (Non-Fungible Token) ซึ่งเป็นโทเคนที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ ทำให้สามารถแสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นได้ ในอดีต สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล นักลงทุนมีทางเลือกไม่มากที่จะเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและการเงินที่รุดหน้าได้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการลงทุน ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลปัจจุบันมีทางเลือกที่หลากหลายและเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

นอกจากนี้ สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทางอ้อม สามารถทำได้ผ่านการลงทุนในหุ้นบริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัลและ Blockchain โดยตรง และ/หรือบริษัทที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอีกทอด เช่น Oracle, CME Group, Kakao, Square, MicroStrategy ฯลฯ SCB CIO มองการลงทุนในธีม Digital Assets เป็นได้ทั้งการลงทุนทางอ้อมผ่านหุ้นบริษัทจดทะเบียนและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรงและมีความน่าสนใจ เนื่องจาก 

 

  1. ความสนใจและเงินลงทุนของนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันทั่วโลกเริ่มมีบทบาทมากขึ้น และมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตต่อเนื่อง 
  2. กระแส Asset Tokenization เป็นจุดเปลี่ยนที่เร่งกระบวนการผนวกสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาเป็น Investible Asset โดย Tokenization เป็นกระบวนการที่สินทรัพย์อ้างอิง (ที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้) ถูกแปลงเป็น ‘โทเคน’ ดิจิทัล ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะแปลงสินทรัพย์หลากหลายประเภทเป็นโทเคน ตั้งแต่เงินสด ตราสารทุน และตราสารหนี้ ไปจนถึงสินทรัพย์จริง เช่น อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ และงานศิลปะ 
  3. การขยายตัวของเทคโนโลยี Blockchain ที่ครอบคลุมและต่อยอดออกไปในหลายอุตสาหกรรม การมาถึงของกระแส Decentralized Finance (DeFi) หรือบริการทางการเงินแบบไร้ตัวกลาง โดยใช้คริปโตเคอร์เรนซีและรันระบบด้วย Smart Contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงกระแส GameFi (Play to Earn) ซึ่งเป็นกระแสการเล่นเกมรูปแบบใหม่ที่เป็นการผสมระหว่าง Game และ DeFi ในลักษณะการเล่นเกมเพื่อให้ได้เงิน ล้วนเป็นหนึ่งในเทรนด์สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในโลกบล็อกเชนที่กำลังมาแรง 

 

อย่างไรก็ดี การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงหลายประการที่ต้องพิจารณาก่อนการลงทุน เช่น ความผันผวนด้านราคาที่มีมากกว่าสินทรัพย์ใน Traditional Asset Class และการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศหรือผ่านองค์กรที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงความเสี่ยงจากการสูญเสียหรือถูกขโมยสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้อาจมีความเสี่ยงจากกิจกรรมทางอาชญากรรม เช่น การฟอกเงิน เป็นต้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X