×

กสิกรไทย คาดหยวนดิจิทัลถูกยกระดับเป็นสกุลเงินระดับภูมิภาคและทุนสำรองระหว่างประเทศใน 5 ปี ตั้งเป้ารุกตลาดจีน-อาเซียนผ่านช่องทางดิจิทัล

02.12.2021
  • LOADING...
กสิกรไทย

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและกระแสการมุ่งสู่ความยั่งยืนจะส่งผลให้ภูมิทัศน์ของโลกหลังโควิดเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อนและท้าทาย แต่ก็เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ โดยขณะนี้สำนักวิจัยหลายแห่งคาดว่าในปี 2030 เศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯ ทำให้ระหว่างนี้จะเกิดการประลองกันของมหาอำนาจโลก เช่น การกีดกันทางการค้าและเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งโอกาสของประเทศไทยคือการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับ 2 มหาอำนาจนี้ให้ได้ และต้องมองเรื่องนี้ให้เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค

 

“จีนผันตัวเองจากแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกไปเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกสินค้าไฮเทคและนวัตกรรม ขณะเดียวกันธุรกิจของจีนจะทยอยย้ายฐานการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลางจำนวนมาก หรือกว่า 900 ล้านคน และภายในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 1,200 ล้านคน มีกำลังซื้อ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งจีนและอาเซียนต่างเป็นคู่ค้าหลักของกันและกันอย่างแยกออกจากกันได้ยาก” พิพิธกล่าว

 

พิพิธกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาโลกเคยใช้เงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 71% แต่ในวันนี้ลดลงเหลือ 59% แต่ที่น่าจับตาคือเงินดิจิทัลหยวน (DCEP) หากเป็นที่ยอมรับในการทำการค้าการลงทุนและเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกครั้ง ซึ่งธนาคารคาดว่า 5 ปีข้างหน้า DCEP จะกลายเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระเงินในภูมิภาค

 

นอกจากนี้ จีนยังมีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีสูงมาก ซึ่งจีนมีจำนวนประชากรคิดเป็น 17% ของประชากรโลก มีการค้าและการบริโภคข้อมูลมหาศาล หากรวมเอเชียและประเทศกลุ่มแอฟริกาที่จีนเข้าไปเจาะฐานทรัพยากรธรรมชาติ รวมแล้วจะคิดเป็น 3ใน 4 ของประชากรโลก ซึ่งเท่ากับว่าข้อมูลในระบบของจีนและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำรวดเร็ว ท้ายที่สุดจะอยู่บนโลกดิจิทัลที่มีพลังมหาศาล

 

ขณะที่อีกหนึ่งกระแสสำคัญในเวลานี้ คือ Decarbonization ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่สังคมที่ไร้คาร์บอน โดยจีนแม้จะเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนสูงสุด แต่ก็มีการประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทำให้เชื่อว่าจะเห็นการรวมพลังของภาครัฐและเอกชนของจีนในการรับมือกระแสดังกล่าวได้ เพราะที่ผ่านมาจีนเป็นผู้นำในเทคโนโลยี ทั้งพลังงานลมและโซลาร์ รวมถึงรถ EV ซึ่งกระแสนี้เป็นโอกาสของการทำธุรกิจสีเขียวของประเทศไทย และจะขยายไปถึงกระแส ESG เช่นกัน

 

“ในส่วนของประเทศไทยเอง การเติบโตด้วยธีม ESG จะส่งผลดี แม้จะต้องมีการลงทุนสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.5 เท่าของ GDP แต่จะมีโอกาสสร้างงานใหม่ถึง 7 แสนตำแหน่ง และนี่คือโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจเก่าไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve ของไทย” พิพิธระบุ

 

พิพิธยังกล่าวอีกว่า การเติบโตของกสิกรไทยมีอยู่จากทั้งในและต่างประเทศ แต่การเติบโตด้วยการให้สินเชื่ออาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ธนาคารจึงมีเป้าหมายจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยลูกค้าทำธุรกิจ รวมถึงชีวิตการเงิน ทั้งการออมหรือการสร้างความมั่งคั่ง โดยเฉพาะในการรุกธุรกิจต่างประเทศที่สามารถใช้ดิจิทัลแบงก์ออกไปขยายธุรกิจได้มาก โดยปัจจุบันธุรกิจในภูมิภาคของธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปีที่ผ่านมามาอยู่ที่ 1.6 ล้านราย และในปีหน้าธนาคารได้ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย และเพิ่มเป็น 10 ล้านรายภายในปี 2024

 

“คริปโตอีโคโนมีที่เป็นการรวมระหว่างตลาดการเงิน หรือสินทรัพย์ดิจิทัล กับภาคเศรษฐกิจจริง ที่สามารถนำ Metaverse มาปรับใช้ ซึ่งจะสร้างผลิตภาพที่สูงขึ้น ในอนาคตเราจะเห็นทรัพยากรทางการเงินไหลเข้าไปสู่โลกคริปโตอีโคโนมี ซึ่งแบงก์อยู่เฉยไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องนำเอาเทคโนโลยีมายกระดับความรู้ความสามารถองค์กรและธุรกิจ” ผู้บริหารกสิกรไทยกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของรูปแบบการทำธุรกิจแบบโฮลดิ้งนั้น ที่ผ่านมาในส่วนของธนาคารกสิกรไทยได้มีการจัดโครงสร้างองค์กรมาโดยตลอด แต่ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่ถือเป็นจุดแข็งของเรา ขณะที่การส่งมอบบริการที่ดีให้กับลูกค้านั้น ธนาคารกสิกรไทยเป็นองค์กรที่มีคาแรกเตอร์พิเศษที่สามารถส่งมอบบริการที่ดีด้วยรูปแบบของความร่วมมือภายใน ทำให้หากมีการแยกธุรกิจออกไปอาจจะทำให้เสีย Synergy ได้  

 

ด้านภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2021 ธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาคยังเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด หรือ 34% จากปีที่ผ่ามา โดยในปี 2023 ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมด (Net Total Income: NTI) หรือมีรายได้เติบโตถึง 5 เท่า และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 1,037 คนในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นถึง 52% จากปี 2020 เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ โดยกลยุทธ์หลักในการขยายไปในต่างประเทศคือการส่งมอบคุณค่าบางอย่างที่ลูกค้าไม่เคยได้รับจากในประเทศ ด้วยการใช้ขีดความสามารถด้านดิจิทัลที่มีผ่านความร่วมมือกับ KBTG (KASIKORN Business-Technology Group)

 

“การเติบโตครั้งนี้เปรียบเสมือน ‘Metamorphosis’ คือ วิวัฒนาการเชิงความคิดของเรา ที่เปลี่ยนปรัชญาทางธุรกิจไปสู่การให้บริการที่เหนือกว่าธุรกิจธนาคาร ด้วยการสร้างโซลูชันและขีดความสามารถในการให้บริการลูกค้าอย่างไร้ขีดจำกัด (Limitless) ไร้รอยต่อ (Seamless) และไร้ขอบเขต (Borderless) ด้วยขอบเขตทางธุรกิจที่ขยายไปในทุกภูมิภาค การสนับสนุนทางเทคโนโลยี และศักยภาพของทีมงาน” ภัทรพงศ์กล่าว

 

ทั้งนี้ การเข้าไปทำธุรกิจในประเทศจีนนั้น ธนาคารมีความได้เปรียบฟินเทคในจีนตรงที่มีไลเซนส์ ธนาคารสามารถเปิดสาขาหรือทำธุรกิจการเงินทั้งหมด ด้วยประชากรจีนที่มี 1.4 พันล้านคน ทำให้ยังมีโอกาสเติบโตในกลุ่มลูกค้ารายย่อยและ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อออนไลน์ และ Cross Border Supply Chain และธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น สกุลเงินดิจิทัล NFT ซึ่งจีนมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ สำหรับธุรกิจในอาเซียนที่ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีการเติบโตนั้น ธนาคารจะรุกเข้าไปด้วยดิจิทัล ไม่เน้นการขยายสาขา

 

สำหรับธุรกิจในเวียดนาม ธนาคารจะเดินหน้าด้วยบริการดิจิทัลแบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่ สินเชื่อดิจิทัล (KBank Loan) และ K PLUS Vietnam โมบายล์แบงกิ้งที่ต่อยอดจากต้นแบบ K PLUS ในประเทศไทย และในอนาคตจะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่บนโมเดล Banking-as-a-Service (BaaS) ในการให้บริการมากกว่าธุรกิจการเงิน ที่จะเริ่มที่เวียดนามเป็นแห่งแรก สำหรับกัมพูชา ธนาคารพร้อมเปิดตัว Payroll Lending ที่ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่ออย่างง่ายดายผ่านแอปพลิเคชันของพันธมิตร ส่วนในฝั่ง สปป.ลาว จะยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบริการ QR KBank จากปัจจุบันที่มี 1.3 แสนรายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทุกธุรกรรมการเงินของลูกค้า  

 

สำหรับเป้าหมายถัดไปของธนาคารกสิกรไทย คือ การเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค โดยปัจจุบันธนาคารได้เร่งสร้างพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจและส่งมอบบริการทางการเงินให้กับลูกค้าในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีแผนในการจัดตั้งบริษัท K VISION FINANCIAL (KVF) เพื่อขยายการลงทุนด้านดิจิทัลในธุรกิจต่างๆ ด้วยเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มจำนวนพันธมิตรทางธุรกิจ สู่การเป็น Ecosystem ทางการเงินในระดับภูมิภาค พร้อมชูแผนการสร้างบริการทางการเงินเพื่อรองรับตลาด Digital Asset ที่จะเติบโตในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

 

เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG กล่าวว่า ประเทศจีนมีประชากรมากถึง 1,412 ล้านคน และมีการใช้โทรศัพท์มือถือ (Mobile Penetration) สูงมาก ส่งผลให้ Fintech Landscape ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในปี 2020 KBTG ได้จัดตั้งบริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited) ที่เซินเจิ้น มีภารกิจหลักคือ การหาบุคลากรจีนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมาร่วมทีม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร พร้อมทั้งต่อยอดโอกาสทางธุรกิจจากฟินเทคในจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไปสู่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน 

 

ความสำเร็จในก้าวปีแรกของ KBTG คือ การมีส่วนร่วมใน 14 โครงการสำคัญ ครอบคลุมในทุกประสบการณ์ทางการเงิน ทั้งด้านการปล่อยกู้ เงินฝาก การชำระเงิน รวมทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์กับ 7 พันธมิตรสำคัญในประเทศจีน และมีแผนเพิ่มทีมงานให้ใหญ่ขึ้นถึง 12 เท่า ภายในปี 2026

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising