14 ปีที่แล้ว ‘Alipay’ ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็น Payment Solution และให้บริการผู้บริโภคชาวจีนในฐานะแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกด้านการชำระเงินออนไลน์ภายใต้การบริหารโดย Ant Financial บริษัทลูกของ Alibaba
แต่ปัจจุบัน พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป ประเทศไทย บอกว่า Alipay ได้ก้าวข้ามการเป็น Online Payment Platform ไปสู่การเป็นซูเปอร์แอปพลิเคชันระดับโลกที่ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในทุกๆ ด้านไปแล้ว
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ จากจุดเริ่มต้นของกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ (e-Wallet) ทุกวันนี้ Alipay กลายเป็นทุกอย่างสำหรับคนจีนจริงๆ พูดง่ายๆ คือ มีความสำคัญมากถึงมากที่สุดในทุกอณูการใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ลุกจากที่นอนออกไปทำงานและกลับบ้านมาทิ้งตัวลงบนเตียง เปรียบเสมือนซูเปอร์แอปพลิเคชันที่ทุกคนต้องดาวน์โหลดติดโทรศัพท์มือถือไว้
พิภาวินเล่าเคสตัวอย่างการใช้งาน Alipay ให้ฟังว่า ทุกวันนี้บริการต่างๆ ในประเทศจีนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การบริหารของ Alibaba และ Ant Financial เกือบจะทั้งหมด ดังนั้น ระบบนิเวศต่างๆ จึงเอื้อประโยชน์ให้ผู้คนเรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมไร้เงินสดและทำธุรกรรมผ่าน Alipay จนคุ้นชินไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งส่วนหนึ่งก็นับเป็นโชคของจีนที่เริ่มต้น Cashless Society ในช่วงที่อีคอมเมิร์ซกำลังบูมพอดี
“ในเมืองจีนตอนนี้ถ้าใครไม่มี Alipay ก็ใช้ชีวิตลำบาก เพราะเขาคุ้นเคยกับการจ่ายเงินด้วย Mobile Payment และ QR Code กันไปแล้ว”
เธอพูดพลางฉายวิดีโอพรีเซนเทชันที่โชว์ให้เห็นว่าคนจีนไม่ได้ใช้ Alipay แค่จ่ายเงินซื้อของออนไลน์เท่านั้น แต่ใช้ทำธุรกรรมตั้งแต่จ่ายกับข้าวที่ตลาดสด, ชำระค่าน้ำค่าไฟ, ช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า, ซื้อตั๋วภาพยนตร์, ช่วยหารค่าอาหารกับเพื่อนๆ, จองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก, จ่ายค่าโดยสาร ไปจนถึงการลงทุนในกองทุนต่างๆ และยังสามารถใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลได้อีกด้วย (ยังจำกัดลักษณะการรักษาอยู่)
https://www.youtube.com/watch?v=MPptJps4gAk
มีการเปิดเผยตัวเลขยอดผู้ใช้งานผ่าน Alipay ล่าสุดพบว่า มีจำนวนผู้ใช้งานแบบ Active มากถึง 520 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้ใช้งานมากกว่า 52% ของสัดส่วนตลาด โดย 80% ของผู้ใช้งานทั้งหมดนิยมใช้ผ่านมือถือ
ในช่วงเทศกาลคนโสดเมื่อวันที่ 11 เดือน 11 ที่ผ่านมา ซึ่งบรรดาอีคอมเมิร์ซในประเทศจีนจัดโปรโมชันลดแลกแจกแถมกันกระหน่ำ ก็กลายเป็นช่วงที่ Alipay ทำสถิติมียอดทำธุรกรรมสูงสุดต่อวินาทีอยู่ที่ประมาณ 256,000 ครั้ง! เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้วที่มียอดการทำธุรกรรมสูงสุดใน 1 วินาทีอยู่ที่ 120,000 ครั้ง
ด้านความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ เป็นที่ทราบกันดีว่าโดยปกติแล้วร้านค้าจีนอาจจะไม่ได้ขายสินค้าที่เป็นของแท้ทุกร้าน แต่การจะมีบัญชี Alipay ในประเทศจีนได้ก็จำเป็นจะต้องเปิดบัญชีธนาคารในประเทศและผูกเบอร์โทรศัพท์เข้ากับตัวระบบเสียก่อน ดังนั้น การติดตามตัวผู้ขายเพื่อเอาผิดจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ที่สำคัญ ปัจจุบันยังมีการนำระบบไบโอเมตริก 3 รูปแบบในการตรวจจับกล้ามเนื้อบนใบหน้า, เส้นเลือดบนใบหน้า และเส้นเลือดในตาขาวมาใช้ยืนยันตัวบุคคลเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานอีกด้วย
นี่คือหลักฐานที่ยืนยันภาพความเป็น Global Lifestyle Super Application ของ Alipay ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
Alipay ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างไร?
ถ้ามีโอกาสเข้าไปซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven หรือร้านสะดวกซื้อแบรนด์อื่นๆ แล้วเห็นป้ายสีฟ้าพร้อมข้อความตัวอักษรภาษาจีนบริเวณเคาน์เตอร์จ่ายเงินก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะทุกวันนี้ร้านค้าส่วนใหญ่ในไทยมีช่องทางทำธุรกรรมผ่าน Alipay เป็นของตัวเองกันหมดแล้ว
ยิ่งถ้าไปตามจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต หรือสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนจีน ก็จะยิ่งเห็นป้าย ‘ที่นี่รับ Alipay’ ถี่ขึ้นกว่าเดิมไม่เว้นแม้แต่ร้านค้าเล็กๆ ริมถนน
ปีที่แล้วมีการเปิดเผยว่าพลเมืองจีนเดินทางออกมาเที่ยวนอกประเทศมากถึง 124 ล้านคน ขณะที่ปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนไทยไม่ต่ำกว่า 9.5 ล้านคน
สะท้อนให้เห็นว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนคือหนึ่งในเม็ดเงินหลักช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจบ้านเรา ยิ่งเมื่อมองความจริงที่ว่าชาวจีนมีพฤติกรรมไม่ชอบพกเงินสด แต่ชอบทำธุรกรรมผ่าน e-Wallet ร้านค้าหลายๆ แห่งจึงผุดไอเดียนำเสนอช่องทางรับเงินรูปแบบนี้เหมือนๆ กัน
ส่วน Alipay เองก็มีความพยายามขยายขอบเขตการบริการให้ซัพพอร์ตคนจีนทั่วโลกอยู่แล้ว เมื่อความต้องการของผู้ให้บริการฝั่งร้านค้าไทยและจีนเดินมาบรรจบกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือแพลตฟอร์มชำระเงิน Alipay ที่แพร่หลายในไทย
ถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของ Alipay ในประเทศไทยจริงๆ คงต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ที่ร้านค้าปลอดภาษี ‘คิง เพาเวอร์ (King Power)’ เป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ติดต่อขอรับ Alipay เข้ามาใช้ ก่อนที่ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าอื่นๆ จะเดินตามรอยทำเรื่องติดตั้งขอรับ Alipay มาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ในประเทศไทย Alipay ยังร่วมมือกับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายแห่ง (Licensed Acquirers) ทั้งธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, เคาน์เตอร์เซอร์วิส ฯลฯ รวม 10 เจ้า ซึ่งพาร์ตเนอร์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นตัวกลางประสานงานให้เงินจากลูกค้าจีนกลับเข้าสู่กระเป๋าสตางค์ผู้ค้าชาวไทยได้เร็วขึ้น ประมาณการอยู่ที่ราวๆ 1-2 วัน โดยคิดค่าธรรมเนียมการใช้เป็นเปอร์เซ็นต์ คล้ายๆ กับการรูดบัตรเครดิต และไม่ต้องไปเปิดบัญชีธนาคารในจีนให้วุ่นวาย
Alipay ยังเดินหน้าทำแคมเปญโฆษณาในตัวแอปฯ ช่วยโปรโมตนักท่องเที่ยวให้แวะมาที่ร้านค้าที่ใช้บริการเพื่อเพิ่มยอด Traffic หน้าร้านได้อีกด้วย ยิ่งร้านไหนที่มีโปรโมชันดี มีส่วนลดเยอะ อัลกอริทึมของ Alipay ก็จะดันลิงก์ร้านค้าให้ขึ้นไปอยู่ในหน้าแรกๆ ได้
สำหรับในประเทศไทย หากแบ่งตามธุรกิจที่มียอดการทำธุรกรรมผ่าน Alipay มากที่สุดจะจำแนกได้เป็น 3 อันดับ ได้แก่
- ร้านค้าปลอดภาษีคิง เพาเวอร์
- ร้านสะดวกซื้อ
- ร้านขายเครื่องสำอาง
ส่วนบริการในไทยที่นักท่องเที่ยวจีนอยากให้รองรับ Alipay มากที่สุดคือการคมนาคมและการขนส่งในไทยนอกเหนือจาก Grab และ Uber โดยทางพิภาวินเล่าถึงปัญหาว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์แท็กซี่อยู่มากมายหลายค่าย ทำให้การพูดคุยไม่บังเกิดผลเสียที ขณะที่การร่วมงานกับรถไฟฟ้า BTS ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
แต่ในอนาคตอันใกล้นี้แว่วมาว่าทาง Alipay เตรียมหารือร่วมกับกรมสรรพากร ทำระบบ Tax Refund ช่วยอำนวยความสะดวกคืนภาษีนักท่องเที่ยวจีนแล้ว
ภารกิจปั้น TrueMoney Wallet ให้กลายเป็น Alipay ไทย
ตัวแทนจาก Alipay บอกว่า ทุกวันนี้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เรียกร้องอยากใช้งาน Alipay แต่ติดปัญหาตรงที่แพลตฟอร์มของพวกเขาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ใช้งานจากจีนเท่านั้น ทำได้เต็มที่ที่สุดก็คือสนับสนุนให้ผู้ค้าจากไทยมีช่องทางรับเงินของ Alipay
ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาจึงเข้ามาลงทุนกับ True ด้วยการเซ็นสัญญาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม TrueMoney Wallet เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ผ่านการแลกเปลี่ยน Know How และประสบการณ์องค์ความรู้ในด้านต่างๆ ของบริษัท เพื่อให้ผู้ให้บริการ e-Wallet จากไทยรายนี้ได้รับความนิยมจนเปลี่ยนสถานะเป็น Alipay ของคนไทย
ปัจจุบัน Alipay และ TrueMoney Wallet ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ให้บริการกระเป๋าสตางค์ออนไลน์รายแรกและรายที่สองในโลกที่สามารถชำระเงินผ่านสโตร์ของบริษัท Apple โดยทาง Alipay ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า ผู้ใช้บริการพาร์ตเนอร์ในหลายๆ ประเทศอย่าง Paytm (อินเดีย), Kakao Pay (เกาหลีใต้) และ GCash (ฟิลิปปินส์) จะต้องสามารถทำธุรกรรมใช้จ่ายร่วมกันได้อย่างไร้ข้อจำกัด
อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบภาพรวมความนิยมในเชิงการใช้งานปัจจุบันต้องบอกว่าไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของสังคมไร้เงินสดเท่านั้น ขณะที่ประเทศจีนรุดหน้าไปไกลกว่านั้นมากๆ แล้ว
“อุปสรรคของไทยคือความคุ้นเคยและความลังเลในการใช้ e-Wallet ว่าจะสะดวกและปลอดภัยจริงหรือเปล่า? ซึ่งหากเปรียบเทียบกันตอนนี้ผู้บริโภคในไทยยังเป็นผู้ใช้งานระดับอนุบาลอยู่ ส่วนจีนเหมือนจบปริญญาเอกเป็นระดับด็อกเตอร์ไปแล้ว แต่คิดว่าถ้ามีกรณีการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันก็น่าจะเป็นส่วนช่วยให้คนหันมาใช้ e-Wallet ได้เยอะขึ้น” พิภาวินกล่าว
การจะผลักดันให้แพลตฟอร์มของตัวเองเป็นที่นิยมได้นั้น พิภาวินบอกว่าต้องปรับมุมคิดพอสมควร เนื่องจากผู้ให้บริการกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะวัดความนิยมในการใช้งานหรือ KPI (Key Performance Indicator) ผ่านตัวเลขมูลค่าเงินหมุนเวียนในระบบเป็นหลัก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการวัดจากจำนวนการทำธุรกรรมจะทำให้เห็นภาพรวมที่ชัดกว่า ที่สำคัญผู้ให้บริการจะต้องไม่มองตัวเองเป็นแค่กระเป๋าสตางค์ แต่ต้องมองตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์ม
“ผู้ให้บริการจะต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าแพลตฟอร์มธุรกรรมออนไลน์สร้างประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้พวกเขาได้ เช่น ช่วยให้ไม่ต้องพกเงินเยอะๆ ลคความยากลำบากในการเข้าคิวจ่ายค่าบริการต่างๆ เพราะลำพังการให้ข้อมูลเรื่องการช่วยเหลือประเทศชาติประหยัดงบผลิตเงินสด คนก็ไม่รู้สึกว่าเป็นประโยชน์กับตัวเขาและช่วยจูงใจให้เปลี่ยนมาใช้ e-Wallet
“ส่วนตัวคิดว่าภายใน 2 ปีนับจากนี้ คนไทยก็น่าจะหันมาใช้ e-Wallet มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยก็เริ่มให้การสนับสนุนมากขึ้นแล้วกับการทำธุรกรรมผ่าน Qr Code”