คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 หัวข้อ ‘The Future of Global Supply Chains and Thailand’s Quest for New S-Curve: เราจะสร้างความสามารถทางการแข่งขันของไทยในโลกใหม่ได้อย่างไร?’ ว่า กระแสความมั่งคั่งของโลกที่เริ่มเคลื่อนย้ายจากตะวันตกมาสู่ตะวันออกมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด ได้ส่งผลให้ชาติตะวันตกเริ่มมีการปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการลงทุนใหม่ซึ่งเกิดเป็นภาพที่คล้ายกับสงครามเย็นขึ้นในโลกระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรกับจีน
“ความขัดแย้งของประเทศยักษ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายซัพพลายเชน ในตอนนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่าสหรัฐฯ และพันธมิตร เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ปรับลดการลงทุนในจีน การลงทุนในจีนจะเหลือเฉพาะที่ผลิตและขายในจีนนอกนั้นถอนออกหมด โดยการผลิตจะถูกเคลื่อนย้ายจากจีนมายังอินเดียและอาเซียนมากขึ้น ทำให้ช่วงเวลาเช่นนี้เป็นช่วงสำคัญของไทยในการวางยุทธศาสตร์หาจุดยืนของตัวเอง” คณิศกล่าว
คณิศกล่าวว่า เป้าหมายที่แท้จริงของไทยในเวลานี้คือการหลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางเพื่อก้าวขึ้นไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นฐานเทคโนโลยีใหม่ผ่านโครงการ EEC คาดว่าจะใช้เวลา 8-9 ปี อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมักจะมีการพูดว่าไทยกำลังแข่งกับเวียดนามและมีโอกาสที่จะถูกเวียดนามแซง ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้อง
“ถ้าเรามัวแต่คิดว่าจะแข่งกับเวียดนาม มันเหมือนกับเรากำลังวิ่งถอยหลัง เราต้องมองไปข้างหน้า ไป Benchmark ตัวเองกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จะทำอย่างไรให้วิ่งเข้าใกล้เขาได้มากขึ้น” คณิศกล่าว
เลขาธิการ EEC ระบุว่า หลายคนอาจไม่ทราบว่า FDI ที่ไหลเข้าไปในเวียดนามมากในขณะนี้ 50% เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 30% เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและราคาถูก มีเพียง 10% ที่ลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ไทยเราไม่จำเป็นต้องใช้ FDI ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเพราะสามารถใช้เงินตัวเองทำได้ ขณะเดียวกัน FDI ที่เข้ามาในไทยแล้วลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นก็มีสัดส่วนเพียง 1% โดย 50% เป็นการลงทุนเรื่องอิเล็กทรอนิกส์
คณิศกล่าวว่า การกำหนด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในโครงการ EEC ของไทยทำให้ต่างชาติในเวลามองภาพไทยได้ชัดเจนขึ้น รู้ถึงทิศทางที่ประเทศต้องการจะมุ่งไปสู่การเป็นฐานอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เห็นได้จาก FDI ที่เข้ามาในไทยเวลานี้ที่ 70% อยู่ในกลุ่ม 5 อุตสาหกรรมแรกที่ EEC ต้องการผลักดัน เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากเพื่อนบ้าน
“เราควรปรับความคิดจากการแข่งขันกับเพื่อนบ้านให้กลายเป็นพลังแห่งความร่วมมือมากกว่า ถ้าเวียดนามดีเราก็ดี เพราะธุรกิจไทยไปลงทุนเวียดนามมาก วันนี้เมียนมามีปัญหา จะเห็นว่าเราส่งสินค้าไปขายได้ลดลง” คณิศกล่าว
เลขาธิการ EEC กล่าวอีกว่า ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้จะถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประเทศไทยว่าจะก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางด้วยการปฏิรูปตัวเองให้เป็นฐานการผลิตใหม่ได้หรือไม่ โดยมีเรื่องสำคัญอยู่ประมาณ 4-5 เรื่องที่ไทยต้องเร่งมือทำ คือ
- ลงมือทำอย่างจริงจัง
- แก้ไขกฎระเบียบที่เยอะและยุ่งยาก
- เปิดการค้าเพิ่มผ่านข้อตกลงต่างๆ
- ภาครัฐและเอกชนต้องไม่แยกกันเดิน
- เร่งพัฒนาเรื่องคน
ด้าน สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กระแสเมกะเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก เช่น การเติบโตของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โครงสร้างประชากรโลกที่อายุยืนขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคระบาด เทคโนโลยีดิจิทัลและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จะส่งให้ซัพพลายเชนในโลกถูกเขย่าจากวงใหญ่วงเดียวให้แตกออกเป็นวงเล็กๆ หลายวงและจะมีความเป็นภูมิภาคมากขึ้น
“ในอนาคต Global Value Chain จะถูกเปลี่ยนให้เป็น Regional Value Chain โดยมีบริษัทขนาดใหญ่ต้นทางที่ออกแบบการผลิต จากนั้นการผลิตจะถูกกระจายไปหลายๆ วงเพื่อป้องกันการสะดุด ขณะที่ภาคบริการ หรือ Service จะไม่จำกัดให้อยู่แค่ในรูปแบบเดิม แต่จะถูกทำให้เป็น Servicification ที่แทรกซึมอยู่ในภาคการผลิตทั้งหมด” สมประวิณกล่าว
สมประวิณระบุว่า ซัพพลายเชนโลกที่จะเปลี่ยนไปจากการถูกแตกออกเป็นหลายวงจะทำให้ไทยต้องวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกัน โดยหนึ่งในวิธีการที่ไทยควรทำคือจัดลำดับตัวเองแล้วส่งเสริมให้ผู้ผลิตที่เก่งในระดับโลกเข้าไปอยู่ในวงที่เป็นระดับเดียวกัน ส่วนผู้เล่นที่เก่งรองๆ ลงมาก็ส่งเสริมให้เข้าไปอยู่ในตลาดที่รองลงมา
“ปัจจุบันความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยอยู่ในอันดับ 35 จาก 64 ประเทศ เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน เรามี 7 อุตสาหกรรมที่ติด Top 15 ของโลก และมี 3 อุตสาหกรรมที่เราติด Top 3 เห็นได้ว่าเรามีของดีอยู่ แต่เราจะส่งใครไปแข่งในลีกไหน นั่นเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ บางครั้งเราอาจร้องเพลงไม่เก่ง แต่ถ้าเราไปอยู่ในวงดนตรีที่เล่นดี ภาพรวมก็อาจจะออกมาแบบพอไปได้ อยู่ที่เราคบเพื่อนแบบไหน ซัพพลายเชนก็เช่นกัน” สมประวิณกล่าว
จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การตัดสินใจว่าเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจะมองภาพรวมของตลาดทั้งภูมิภาคนั้นๆ ส่วนการตัดสินใจว่าจะเลือกประเทศใดเป็นฐานจะขึ้นอยู่กับจุดเด่นของประเทศนั้นๆ เช่น หากเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นในเวลานี้คงต้องมองเวียดนาม แต่ถ้ามองหาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมแล้วในระดับหนึ่งจะมองมาที่ไทย
“เราต้องเข้าใจว่าแต่ละประเทศมีจุดเด่นที่ต่างกัน ไทยเราเปลี่ยนจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมมาหลายสิบปีแล้ว เรามีอีสเทิร์นซีบอร์ดและเรากำลังจะทำภาคสองซึ่งคือ EEC ถ้าเราวางตำแหน่งตัวเองว่าแข่งกับเวียดนามแสดงว่าเรายึดติดกับอดีต ในสมัยที่เรายังมีแรงงานมากๆ และราคาถูก ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ตอนนี้เราต้องมองไปข้างหน้า เอาตัวเองไปเทียบกับคนที่เหนือกว่า” จรีพรกล่าว
จรีพรเชื่อว่า การพัฒนาโครงการ EEC ของไทยจะช่วยสร้างแรงดึงดูดให้กับทั้งภูมิภาคอาเซียนไม่เฉพาะประเทศไทย ซึ่งแม้ว่าเม็ดเงินในอุตสาหกรรมบางประเภทจะไหลเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไทยก็จะได้ประโยชน์ด้วยจากการเติบโตด้านกำลังซื้อของเพื่อนบ้าน ดังนั้นการเปลี่ยนมุมมองต่อเพื่อนบ้านจากคู่แข่งเป็นพาร์ตเนอร์จะช่วยยกระดับการเติบโตทั้งภูมิภาคไปด้วยกันได้
“นักลงทุนต่างชาติต้องการสร้างซัพพลายเชนให้ต่อกันในอาเซียน เขาไม่ได้มองเราเป็นคู่แข่งกันแต่มองว่าส่งเสริมกัน อยากให้ภูมิภาคเติบโตไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่จะขายของได้มากขึ้น จากกำลังซื้อของคนในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น แทนที่เราจะมองว่าคนอื่นเป็น Threats ให้มองว่าจะร่วมมือกันได้อย่างไรดีกว่า” จรีพรกล่าว