×

เปิดเบื้องหลังการผลิตวัคซีน ‘AstraZeneca’ โดยสยามไบโอไซเอนซ์

โดย THE STANDARD TEAM
26.11.2021
  • LOADING...
AstraZeneca

วานนี้ (25 พฤศจิกายน) บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จัดงานเสวนาออนไลน์ในชื่อ ‘FROM LAB TO JAB’ เกี่ยวกับกระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของ AstraZeneca โดยมี เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และ นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้

 

THE STANDARD ได้สรุปสาระสำคัญจากงานเสวนาออนไลน์ ‘FROM LAB TO JAB’ โดยเฉพาะเบื้องหลังโรงงานผลิตวัคซีนโควิดในไทยของสยามไบโอไซเอนซ์ ดังนี้

 

เป้าหมายของแอสตร้าเซนเนก้าในฐานะผู้ผลิตวัคซีน

 

เจมส์ ทีก ในฐานะประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิดนับเป็นวิกฤตด้านสุขภาพครั้งใหญ่ที่สุด โดย AstraZeneca ยึดมั่นต่อภารกิจสำคัญในการผลิตและส่งมอบวัคซีนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพสูงและมีประสิทธิภาพให้ได้เร็วที่สุด ผ่านการร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย และได้รวบรวมพันธมิตรจากทั่วโลกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ รัฐบาล และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อประสานงาน, พัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด เพื่อส่งมอบให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

นอกจากนี้ ทาง AstraZeneca ได้ทำการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิดแล้วกว่า 2 พันล้านโดส ให้แก่ประเทศต่างๆ มากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก และประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนจำนวนดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ และมากกว่า 175 ล้านโดส ถูกส่งให้กว่า 130 ประเทศ ผ่านโครงการ COVAX โดยในปัจจุบัน มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิดของ AstraZeneca ช่วยป้องกันผู้ป่วยโควิดไปประมาณ 50 ล้านราย ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 5 ล้านราย และช่วยชีวิตคนมากกว่าหนึ่งล้านชีวิต จากการศึกษาค้นคว้าในระยะทดลองในคลินิกและข้อมูลการใช้งานจริง แสดงให้เห็นได้ว่าวัคซีนของ AstraZeneca ปลอดภัย

 

อย่างไรก็ตาม เจมส์ ทีก ระบุเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย สยามซีเมนต์ กรุ๊ป และ สยามไบโอไซเอนซ์ นำมาซึ่งความมั่นใจต่อการเดินหน้าขยายกำลังการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของ AstraZeneca เพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน บนความมุ่งมั่นที่จะเสริมความแข็งแกร่งของ Supply Chain ในระดับภูมิภาค รวมถึงใช้ประโยชน์จากความสามารถด้านอุตสาหกรรมที่เรามี ประกอบกับความร่วมมือกับพันธมิตรการผลิตมากกว่า 25 ราย ที่ตั้งอยู่ใน 15 ประเทศ และทุกๆ ล็อตการผลิตวัคซีนยังผ่านกระบวนการทดสอบคุณภาพอย่างเข้มข้น โดยต้องทดสอบถึง 60 รายการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนทุกโดสจะได้รับมาตรฐานสูงสุดและเท่าเทียมกัน

 

การส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทย

 

เจมส์ ทีก กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทาง AstraZeneca ได้ส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทยไปแล้วมากกว่า 35 ล้านโดส และสัปดาห์หน้าจะประกาศจำนวนที่ส่งมอบในเดือนพฤศจิกายน

 

ส่วนเป้าหมายในปี 2022 เจมส์ ทีก กล่าวว่า ความสำคัญลำดับแรกสุดก็คือ AstraZeneca จะสามารถส่งมอบวัคซีน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทยได้ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ และจะไม่หยุดจนกว่าทุกคนในไทยจะได้รับวัคซีนทุกคน ทั้งนี้ AstraZeneca จะทยอยส่งมอบวัคซีนให้ไทยเพิ่มอีก 60 ล้านโดส สำหรับภายในไตรมาสที่ 3  ของปี 2565 เพื่อสนับสนุนแผนการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข

 

ขณะที่การผลิตวัคซีนรุ่น 2 รหัส AZD2816 โดยใช้เทคโนโลยีไวรัลเวกเตอร์ (Viral Vector) เช่นเดิม แต่มีการพัฒนาเพื่อให้รับมือกับสายพันธุ์ไวรัสที่หลากหลายมากขึ้น โดยจะเห็นผลของการพัฒนานี้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 อย่างไรก็ตาม วัคซีนของ AstraZeneca (AZD1222) ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ก็มีประสิทธิผลสูงมากเช่นกัน ในการศึกษาทางคลินิกสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงได้ 80-90%

 

ทั้งนี้ ทุกครั้งก่อนการส่งมอบวัคซีนของ AstraZeneca จะมีการทดสอบคุณภาพโดยใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก สำหรับการผลิตวัคซีนในแต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน โดยเวลาประมาณ 60 วันจะถูกใช้ไปกับการทดสอบ ซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นในทุกโรงงาน ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รวมถึงประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนทุกรอบการผลิตมีมาตรฐานเดียวกัน

 

ทางด้าน นวลพรรณ ล่ำซำ ระบุว่า เดิมที บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นโรงงานผลิตยาชีววัตถุโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูงในการผลิต เช่น ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง (EPO) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว (GCSF) ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยยาทั้ง 2 ตัว สามารถบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยชาวไทยลดการพึ่งพายาจากต่างชาติ สร้างความมั่นคงทางยาแก่สาธารณสุขของไทย

 

ส่วนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด โรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูงที่ใช้ในการผลิตยา และมีความใกล้เคียงกับเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีนแบบไวรัลเวกเตอร์ของ AstraZeneca จึงทำให้มีศักยภาพในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน และได้รับเลือกเป็นโรงงานผู้ผลิตในเวลาต่อมา

 

“กว่าที่สยามไบโอไซเอนซ์จะได้รับเลือกเป็นโรงงานผู้ผลิตวัคซีนของ AstraZeneca ต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกหลายขั้นตอน และทาง AstraZeneca ได้เล็งเห็นว่า โรงงานของเรามีความพร้อมมากที่สุด เพราะได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล มีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนของ AstraZeneca ได้ทุกขั้นตอน จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และเป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ สามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต AstraZeneca จึงเลือกสยามไบโอไซเอนซ์เป็นหนึ่งในฐานการผลิต เพื่อร่วมต่อสู้กับวิกฤตโควิด” นวลพรรณกล่าว

 

ขณะที่ ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนนั้นเป็นไปอย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องของเอกสารจำนวนมากกว่าหมื่นหน้า ที่ต้องตรวจสอบโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคุณภาพที่ได้รับการรับรองจากยุโรป หรือที่เรียกว่า EU Qualified Person เป็นผู้ตรวจสอบเอกสารทั้งหมด และในขั้นตอนก่อนการส่งมอบ ทางโรงงานได้ทำการตรวจสอบวัคซีนทุกล็อตอย่างถี่ถ้วน

 

และมีไม่กี่ประเทศบนโลกที่สามารถผลิตวัคซีนได้ในระดับนี้ และสยามไบโอไซเอนซ์ในฐานะตัวแทนของโรงงานไทย เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความรุนแรงของการระบาดของโรคโควิด ทั้งในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือระหว่าง AstraZeneca และสยามไบโอไซเอนซ์ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคม 2563 นับถึงปัจจุบันถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับวงการยาชีววัตถุและวงการวัคซีนของประเทศไทย

 

“ประสบการณ์ที่เราได้รับจากการผลิตวัคซีนนี้เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ อีกทั้งวัคซีนที่ส่งออกไปนั้นเป็นสิ่งที่ทำโดยคนไทย 100% ในโรงงานของเรากว่า 400-500 คน โดยเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก AstraZeneca ถือว่าเป็น Change Agent ที่จะช่วยต่อยอดองค์ความรู้ให้กับวงการวัคซีนของไทยต่อไปในอนาคต” ดร.ทรงพลกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X