×

CIMBT มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าเหมือนเสือหมอบรอกระโจน คาดส่งออก ท่องเที่ยว และกำลังซื้อระดับกลาง-บน ที่ฟื้นตัวหนุน GDP โตได้ 3.8%

25.11.2021
  • LOADING...
CIMBT

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 จาก 0.4% เป็น 1.1% และปี 2565 จาก 3.2% เป็น 3.8% รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ดีกว่าคาด จากปัญหาอุปทานชะงักงันในโรงงานที่ไม่รุนแรงและกำลังคลี่คลาย พร้อมกับการควบคุมการระบาดโควิดในประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจนสามารถเปิดเมืองและเปิดรับการท่องเที่ยวได้ 

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า นับจากปี 2563 เป็นต้นมา ท่ามกลางการระบาดของโควิดทั่วโลก เศรษฐกิจไทยเผชิญภาวะถดถอย โตช้า ซึมยาว โดยในปี 2564 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP ไทยจะเติบโตต่ำสุดในอาเซียน เหนือเพียงประเทศเมียนมาที่มีปัญหาการเมืองที่รุนแรง 

 

ขณะที่ต่างประเทศเริ่มมองประเทศไทยเป็น ‘คนป่วยแห่งเอเชีย’ ที่ต่างชาติเมินการลงทุน ทั้งการลงทุนทางตรง (FDI) พิจารณาได้จากยอดการออกบัตรส่งเสริมฯ ที่มีเงินลงทุน 227,720 ล้านบาท จำนวน 936 โครงการ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ลดลง 31% และ 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม  63,399 ล้านบาท ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 

 

“เรามองว่าในความเป็นจริงเศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพ เพียงแต่รอปัจจัยที่เอื้ออำนวยและมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการเติบโตระยะยาวอย่างเต็มที่ จึงอาจเปรียบเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าเป็นเสมือนเสือโคร่งที่ซุ่มหมอบรอจังหวะพุ่งกระโจน ไม่ใช่เสือป่วยนอนหลับนิ่งอย่างที่ใครคิดกัน แต่ขณะเดียวกันต้องระวังให้ดี เพราะมีเสือร้ายอีกตัวคอยดักซุ่มขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565” อมรเทพกล่าว

 

ทั้งนี้ อมรเทพระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะมี 3 ปัจจัยสนับสนุนในการฟื้นตัว ได้แก่

 

ปัจจัยแรก คือ การส่งออก ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.7% จากการฟื้นตัวต่อเนื่องในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเคมี และกลุ่มอาหารแปรรูป ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ หลังจากที่พลเมืองในหลายประเทศได้รับการฉีดวัคซีน มีการเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มเร่งขึ้นอีกครั้ง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ 

 

ทำให้คาดว่าหลายประเทศในปีหน้าจะจำกัดการเคลื่อนย้ายคนเฉพาะกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือมีปัญหาสุขภาพ แทนการล็อกดาวน์ ส่วนภาคการผลิตของไทยไม่ได้มีปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันรุนแรง สามารถบริหารจัดการแรงงานที่ติดเชื้อโควิดและคัดแยกแรงงานกลุ่มเสี่ยงไม่ให้กระทบแรงงานส่วนใหญ่ได้ดี กำลังการผลิตเร่งขึ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งภาคอุปสงค์และอุปทานด้านการส่งออกของไทยในปีหน้า

 

ปัจจัยที่สอง คือ การท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 5.1 ล้านคน นับว่าฟื้นตัวดีขึ้นหลังการเปิดประเทศและลดข้อจำกัดด้านการกักตัวของนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวเช่นกัน เพื่อลดความยุ่งยากหากนักท่องเที่ยวต้องกักตัวหลังเดินทางกลับจากไทย ประเทศเหล่านี้ประกอบด้วยสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และกลุ่มยุโรปอื่นๆ กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มอาเซียน ยกเว้นจีน ที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย โดยก่อนโควิดในปี 2562 มีสัดส่วนสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด จะยังไม่กลับเข้ามาไทยมากนัก 

 

โดยสำนักวิจัยคาดว่าจะมีคนจีนเพียง 9% ของจำนวนนักท่องเที่ยว 5.1 ล้านคน เนื่องจากทางการจีนกังวลการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศ จึงยังไม่น่าจะเปิดให้มีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากนัก การท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้ดีช่วงครึ่งปีหลัง เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจรอให้พลเมืองไทยได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงมากกว่านี้ 

 

ดังนั้น การเข้ามาของนักท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีหลังจะเร่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนและกระจายตัวได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ประกอบการอิสระ กลุ่มแรงงานด้านบริการ และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์

 

ปัจจัยที่สาม คือ กำลังซื้อระดับกลาง-บน ที่เริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายหลังเปิดเมือง การที่ไทยไม่มีปัญหาการว่างงานสูง แต่คนระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะขาดความเชื่อมั่นในความมั่นคงของงาน ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มคึกคัก คนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยและนำเงินออมออกมาใช้มากขึ้น กลุ่มที่จะฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร โรงแรม และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ โดยกลุ่มที่ฟื้นได้เร็วจะอยู่ในกลุ่มที่ผู้บริโภคสามารถลดค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการภาครัฐที่คาดว่าจะยังคงมีต่อเนื่อง เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ และเราเที่ยวด้วยกัน 

 

ขณะเดียวกัน เมื่อความเชื่อมั่นฟื้นได้ดีขึ้นหลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง การได้รับวัคซีนเข็ม 3 มีมากขึ้น คนจะกล้าซื้อของกลุ่มที่มีราคาสูงขึ้น เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ แม้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกจะขับเคลื่อนด้วยการบริโภคจากกลุ่มกำลังซื้อกลาง-บนเป็นหลัก แต่เชื่อว่าหลังมีการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มมากขึ้น กำลังซื้อระดับกลาง-ล่างจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปีหน้ายังอยู่ระดับสูงและปริมาณน้ำที่มากกว่าปีนี้น่าจะสนับสนุนผลผลิตให้มากขึ้นและทำให้รายได้ภาคเกษตรสูงขึ้นในปีหน้า 

 

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะพุ่งทะยานได้จาก 3 ปัจจัยเบื้องต้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะสะดุดจาก 3 ปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

 

ปัจจัยแรก คือ การระบาดของโควิดรอบใหม่ ทั้งในไทยและประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่จะกระทบกำลังซื้อของคนในประเทศ การส่งออก และการท่องเที่ยว แม้ไทยและอีกหลายประเทศจะไม่ล็อกดาวน์ แต่จะกระทบความเชื่อมั่น การบริโภค และกระทบห่วงโซ่อุปทานให้ภาคการผลิตหยุดชะงักได้ 

 

ปัจจัยที่สอง คือ สงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงดำเนินต่อไปในปี 2565 ถ้าปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น บรรยากาศการค้าโลก รวมทั้งความต้องการสินค้าจากไทยไปจีนและอาเซียนจะได้รับผลกระทบดังเช่นในอดีต แม้ไทยจะยังสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้ดี แต่ก็ไม่น่าจะชดเชยการส่งออกที่ลดลงในภูมิภาคได้ 

 

ปัจจัยที่สาม คือ ปัญหาเงินเฟ้อ หรือค่าครองชีพของคนไทยที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน อาหารสด และต้นทุนภาคการผลิตอื่นๆ แม้เงินเฟ้อปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.9% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากเกิดปัญหาอุปทานชะงักงันในภาคการผลิตในจีน หรือราคาวัตถุดิบอื่นๆ พุ่งขึ้นเร็ว อัตราเงินเฟ้อของไทยอาจเร่งขึ้นได้อีก ซึ่งราคาสินค้าที่สูงจะกระทบกำลังซื้อของคนรายได้น้อยมากกว่าคนรายได้สูง เพราะคนรายได้น้อยมีสัดส่วนการบริโภคต่อรายได้สูง แปลว่ามีเงินเท่าใดก็ต้องนำไปใช้จ่ายแทบทั้งหมด เมื่อรายได้โตไม่ทันรายจ่าย ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น หรือคนจะต้องยิ่งประหยัดหรือลดการบริโภคลง และขาดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

 

โดยมองว่าแนวทางแก้ปัญหาเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่มาตรการทางการคลังด้วยการลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย แต่ไม่น่าจะเป็นการหว่านแหด้วยการลดราคาสินค้าหรือใช้เงินรัฐในการอุดหนุนทุกอย่าง เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจฟื้น กำลังซื้อคนระดับกลาง-บนดีขึ้น รัฐบาลน่าจะสามารถเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นได้

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทและดอกเบี้ยในปีหน้า สำนักวิจัยคาดว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยด้านทุนเคลื่อนย้าย โดยปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังมีต่อเนื่องถึงช่วงกลางปีหน้า มีผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ดำเนินการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือสิ้นสุดมาตรการ QE ในช่วงกลางปี ก่อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีหน้า ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ อย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการสื่อสารที่ชัดเจนไม่น่าจะมีผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนโลกผันผวนแรง 

 

แต่ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ อาจดึงเงินให้ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยบ้าง แม้ต่างชาติยังน่าจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ไทย เพื่อหวังผลตอบแทนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะจากการเปิดประเทศ ที่น่าจะมีผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกมาเกินดุลในช่วงครึ่งปีหลังจากที่ขาดดุลสูงในปีนี้ โดยสำนักวิจัยคาดการณ์เงินบาทปลายปี 2564 ไว้ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปลายปี 2565 ไว้ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

ในด้านดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปีตลอดทั้งปีหน้า และน่าจะใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า หรือส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนที่ขาดรายได้ เพิ่มความยืดหยุ่นในการชำระหนี้ แต่จากเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น  ทาง กนง. อาจเริ่มส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังระดับขนาดเศรษฐกิจไทยยืนได้เหนือปี 2562 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% และมีการกระจายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2566

 

“โดยสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเป็นปีเสือหมอบรอกระโจน แต่ให้ระวังเสือร้ายหรือปัจจัยเสี่ยงทำเศรษฐกิจสะดุด นอกจากนี้เรายังอยากให้นักลงทุนทำใจดีสู้เสือ เพื่อรับศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้านี้ ซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนในเดือนพฤศจิกายนปีหน้าในสหรัฐฯ อาจมีความพยายามจากทั้งสองพรรคใหญ่ในการดึงคะแนนนิยมจากประชาชนด้วยการใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อจีน ซึ่งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนมาตรการที่จีนจะใช้ตอบโต้สหรัฐฯ และจัดระเบียบเศรษฐกิจในประเทศ อาจสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุนได้ อย่างไรก็ดี แม้มีปัญหาใดๆ ก็แล้วแต่ นักลงทุนจะย้อนกลับมามองที่ว่า Fed จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือยังคงเสริมสภาพคล่องต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดทุนได้” อมรเทพกล่าว 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X