ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) กลายเป็นหนึ่งใน ‘เมกะเทรนด์’ ที่องค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจมาก ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนเริ่มมีการนำปัจจัยเหล่านี้มาใช้ประกอบการพิจารณาก่อนการตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าบริษัทใดที่มีการผนวกความสำคัญของ ESG เข้ากับแผนกลยุทธ์ บริษัทนั้นๆ จะสามารถขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
สอดคล้องกับกระแสสังคมโลกที่ตื่นตัวในเรื่องการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น เห็นได้จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties) หรือ ‘COP26’ ที่ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อกำหนดบทบาทของแต่ละประเทศรวมทั้งไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระงับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ตลอดจนผลกระทบต่อกิจการและวิถีชีวิตของผู้คนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ทำให้กระแสการลงทุนด้าน ESG กำลังมาแรงและได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกอยู่ในเวลานี้
สำหรับ PwC เอง เราได้จัดทำผลสำรวจ 2021 Global Investor Survey ที่เปิดเผยถึงมุมมองของนักลงทุนกว่า 325 รายจากทั่วโลกต่อประเด็น ESG ในมิติของการลงทุน โดยวันนี้ผมจึงอยากนำข้อมูลบางส่วนที่น่าสนใจมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านทุกท่าน ดังนี้
‘ภาวะโลกรวน’ ปัจจัยกระตุ้นการลงทุน ESG
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ส่งผลให้นักลงทุนจำนวนมากหันมาแสวงหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้มากกว่าผลตอบแทนจากการลงทุน แต่คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย ส่งผลให้การลงทุน ESG ได้รับความนิยม และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ผลสำรวจของ PwC พบว่า 79% ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจ คำนึงถึงมิติ ESG ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินและการตัดสินใจลงทุน ขณะที่ 68% มองว่า ควรมีการนำเป้าหมายและผลการดำเนินงานด้าน ESG ไปประกอบการพิจารณาค่าตอบแทนผู้บริหารบริษัท นอกจากนี้ 49% ของนักลงทุนยังมีแผนที่จะถอนการลงทุนในบริษัทที่ไม่มีมาตรการในการจัดการกับปัญหา ESG อย่างเพียงพอ
ผลตอบแทนจากการลงทุนยังเป็นสิ่งสำคัญ
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักลงทุนต่างแสวงหาผลตอบแทนที่ดี แต่หากบริษัทที่เราลงทุนต้องการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน การดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญเพียงแค่ผลประกอบการและผลกำไรระยะสั้นอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลด้วย
ผลสำรวจพบว่า 75% ของนักลงทุนมองว่า การลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แม้ผลกำไรในระยะสั้นอาจจะไม่มาก หรือลดลง เพราะบริษัทต้องจัดสรรเงินลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาด้าน ESG อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงสัดส่วนของผลตอบแทนที่ลดลงที่พวกเขายอมรับได้ เพื่อแลกกับการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน พบว่า 81% ของนักลงทุนยอมรับได้ หากผลกำไรจากการลงทุนลดลงเพียง 1% หรือน้อยกว่า
ด้วยเหตุนี้ บริษัทควรหาจุดสมดุลระหว่างการบริหารผลกำไรระยะสั้นและผลตอบแทนที่ยั่งยืนที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยไม่ลืมที่จะเสริมคุณค่าให้กับองค์กรด้วย ทั้งนี้การจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสื่อสารกับนักลงทุนว่า องค์กรมีการบูรณาการกลยุทธ์ ESG เข้ากับพันธกิจของบริษัทนั้นอย่างไร และมีแผนดำเนินการอย่างไรเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านการเติบโตอย่างยั่งยืนที่ตอบโจทย์ทั้งการเติบโตของผลกำไรและการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล
เจาะลึกการจัดทำรายงานความยั่งยืน
ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ถือเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจจากการจัดทำรายงานความยั่งยืน นอกเหนือไปจากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท โดยผลสำรวจของ PwC พบว่า นักลงทุนต้องการให้บริษัทเห็นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (ประเภทที่ 1) ซึ่งหมายถึง กิจกรรมที่หน่วยงานภายในบริษัทเป็นผู้ดำเนินงานเอง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการซื้อพลังงานภายนอกองค์กร (ประเภทที่ 2) หรือกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยหน่วยงานอื่นเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อนให้แก่บริษัท
นอกจากนี้มีเพียง 1 ใน 3 ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจที่เชื่อว่า รายงานความยั่งยืนในปัจจุบันมีคุณภาพที่ดีเพียงพอแล้ว ในขณะที่นักลงทุนจำนวนมากยังคงไม่มั่นใจว่า รายงานความยั่งยืนมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเมื่อนโยบายด้านการรายงานความยั่งยืนของภาครัฐและหน่วยงานกำกับมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ก็จะส่งผลให้การรายงานด้านการบริหารความยั่งยืนขององค์กรทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ยิ่งมีความสมบูรณ์และตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับบริษัทจดทะเบียนไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ว่า การรายงานที่ดีจะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินศักยภาพในการดำเนินธุรกิจขององค์กรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงยังสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคมโดยรวมด้วย
เราจะเห็นว่า ESG ไม่ใช่เทรนด์การลงทุนที่เรียกกันติดหูแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่องค์กรทั่วโลกจะต้องนำปัจจัยด้าน ESG มาผนวกเข้ากับพันธกิจ กลยุทธ์ และแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรแบบองค์รวม เพราะผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเท่านั้นที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันจากกระแสดิสรัปชันให้กับองค์กร และลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนยุคใหม่ที่ใส่ใจประเด็นด้าน ESG มากขึ้น
แม้ว่าวันนี้องค์กรไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้นำ ESG มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจมากเท่ากับบริษัทในต่างประเทศ แต่ความตื่นตัวของหน่วยงานกำกับและความนิยมของการลงทุนอย่างมีสำนึกรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจะเป็นแรงผลักดันให้องค์กรไทยทั้งขนาดเล็กและใหญ่เร่งนำ ESG มาผนวกเป็นกลยุทธ์สำคัญในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง:
- ข่าวนายกรัฐมนตรี, รัฐบาลไทย
- The economic realities of ESG, PwC
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP