×

‘เศรษฐพุฒิ’ แนะไทยเร่งปรับโครงสร้างใหญ่ทางเศรษฐกิจ รับกระแสดิจิทัล-สิ่งแวดล้อม ก่อนสูญเสียศักยภาพเติบโตได้เหลือ 3% ต่อปี

18.11.2021
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ ‘Looking Beyond COVID-19: โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19’ ว่า  โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะผ่านช่วงยุคทองมา 40 ปีแล้ว โดยยังคงพึ่งพาการส่งออกในภาคเศรษฐกิจเดิมๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

 

โดยเรื่องนี้สะท้อนได้จากภาคการส่งออกที่ปัจจุบันเวียดนามแซงไทยไปแล้วจากที่ไทยเคยส่งออกได้มากกว่าถึง 10 เท่า โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราภาคส่งออกเวียดนามมีการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่า และปีที่ผ่านมา ส่งออกได้มากกว่าไทยถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทย 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า 

 

ในด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ก็พบว่าเวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2557 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบสองเท่า โดยสาเหตุที่ FDI ของไทยที่ลดลงเป็นผลจากความน่าสนใจของไทยที่น้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพแรงงาน โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้า

          

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ก็คาดว่าต้องใช้เวลานานกว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิดจะเน้นเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้นิยมเที่ยวกลุ่มเล็ก รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้นการจะหวังพึ่งรายได้การท่องเที่ยวที่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงย่อมเป็นไปได้ยาก 

 

ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น หากไทยไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเรื่อยๆ และถ้ามองไปใน 10-20 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานของไทยจะลดลงมาเป็นปีละ -1% หากไทยไม่ปรับในเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้น ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียงปีละ 3% ก็คือ -1% บวก 4% และแนวโน้มมองไปข้างหน้า ถ้าไม่มีการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานต่างๆ ขณะที่สังคมยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยไปเรื่อยๆ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะยิ่งชะลอตัวลงจากจำนวนแรงงานจะหดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

 

“คำถามคือ แล้วเราจะโตแบบไหน Growth Story ของเราจะเป็นแบบไหน คำตอบคือ เราคงต้องโตแบบไทยต่อยอดโดยเอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ ทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง เช่น อาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถกรรม มาเป็นจุดแข็ง เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ” เศรษฐพุฒิ กล่าว

 

ทั้งนี้ Growth Story ของไทยจะต้องปรับให้สอดคล้องกับกระแสใหม่อย่างน้อย 2 กระแส ได้แก่ กระแสดิจิทัลที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง ส่วนอีกกระแสหนึ่ง คือ Sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน นอกจากนี้จะต้องเน้นการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม หรือ Inclusive Growth เพื่อให้เศรษฐกิจมีความทนทานต่อความท้าทายต่างๆ ได้มากขึ้น

 

“ภาครัฐจะต้องปรับสู่โหมด Facilitator ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ที่สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว และเศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง ประกอบด้วย การตั้งธง หรือวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ และมีกลไกสนับสนุน โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่อาจต้องเพิ่มแรงจูงใจให้เร่งทำ” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว 

 

ขณะเดียวกันต้องเร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับกฎระเบียบต่างๆ (Regulatory Guillotine) การเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบคมนาคม Digital Infrastructure และระบบการศึกษา ให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งขยายนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น FTA เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของไทยให้กับบริษัทข้ามชาติ (MNCs) และสามารถขยายตลาดส่งออกของเราได้

          

สำหรับภาคธุรกิจ จะต้องตัดสินใจยกระดับธุรกิจ ปรับรูปแบบกิจการ หรือวางแผนลงทุนใหม่ โดยต้องให้น้ำหนักกับทั้งกระแสดิจิทัลที่ทำให้ธุรกิจต้องแข่งกันมากขึ้น และการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานต่างๆ อย่างจริงจังและทันท่วงที เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพและความปลอดภัย ตัวอย่างที่ชัดคือ การปรับตัวเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีตาม Carbon Footprint บนสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป ที่กำลังจะถูกบังคับใช้ หากเราไม่ปรับตัว สินค้าส่งออกที่ยังมี Carbon Footprint สูง ซึ่งมีกว่า 50% ในการส่งออกรวมของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมาก

          

ขณะที่ภาคธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน จะต้องมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน ให้สนับสนุนการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสในอนาคต ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อหรือเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำเทคโนโลโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับธุรกิจ หรือมุ่งสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการผนวกเรื่อง ESG ในกระบวนการให้สินเชื่อ และมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างเคร่งครัด

 

ในส่วนของ ธปท. เอง ในฐานะผู้กำกับดูแลระบบการเงินก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทในการเป็น Facilitator และลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยเอื้อให้ทุกภาคส่วน ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่กำลังจะมาถึง

 

โดยปัจจุบัน ธปท. กำลังเร่งวาง Future Financial Landscape เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ผ่านการเพิ่มการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยผู้ให้บริการทางการเงินในการปรับตัว รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบการเงินสามารถรองรับ Shock ได้ดีขึ้น คาดว่าจะเห็นภาพชัดขึ้นในต้นปีหน้า 

          

“ภายใต้ Landscape นี้ ธปท. จะปรับแนวทางการดูแลระบบการเงินจากการเน้นเรื่อง Stability มาให้น้ำหนักกับ Resiliency โดยเน้นการรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์สำคัญคือ การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและ SMEs ให้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อด้อยที่ครัวเรือน 86% ยังมีหนี้กึ่งในระบบและนอกระบบ และกว่า 60% ของ SMEs ในไทยยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งการนำเทคโนโลยี เช่น Digital มาใช้ จะช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น” เศรษฐพุฒิ กล่าว

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X