×

ตามรอยโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ความเป็นมาและการคงอยู่ในยุคปัจจุบัน

13.11.2021
  • LOADING...
The oldest cinema

เมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากที่โรงภาพยนตร์สกาลาที่มีคุณค่าทางจิตใจและสร้างความทรงจำให้หลายคนได้เริ่มถูกทุบทิ้ง เหตุการณ์นี้ทำให้เราตั้งคำถามว่า ความสำคัญของโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเหล่านี้อยู่ที่ไหน? เราสามารถเก็บรักษาโรงภาพยนตร์เหล่านี้ไว้ได้มากน้อยขนาดไหนในโลกซึ่งที่ดินในเมืองมีแต่จะราคาพุ่งสูงขึ้นทุกวัน? นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันโดยการอนุรักษ์ และ/หรือต่อเติมส่วนขยายโครงสร้างอาคารเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนยังสามารถรักษาตัวตนและวางตัวเป็นแค่โรงฉายภาพยนตร์ได้หรือไม่? 

 

เพราะคำถามเหล่านี้ เราเลยได้หยิบยกโรงภาพยนตร์เก่าแก่ทั่วโลกมาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เห็นว่าในหลายประเทศ ผู้คนมักจะให้ความสำคัญกับโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนมากน้อยขนาดไหน และยังคงเก็บสิ่งที่ถือว่าเป็นมรดกโลกก็ว่าได้ อย่างเช่นในสหราชอาณาจักรเองก็มีโรงภาพยนตร์เก่าแก่หลายแห่งซึ่งถูกซื้อไปอยู่ภายใต้เครือบริษัทภาพยนตร์ต่างๆ อย่าง Electric Cinema หรือ Picturehouse โดยที่อาคารเหล่านี้จะถูกเก็บรักษาหรือรีโนเวตให้คงสภาพเดิม เพื่อใช้เป็นสถานที่ฉายภาพยนตร์ทั้งแบบอาร์ตเฮาส์และภาพยนตร์กระแสหลัก ทำให้วัฒนธรรมการดูหนังในโรงภาพยนตร์เก่าแก่เหล่านี้ยังคงเป็นกิจกรรมที่ใกล้ตัวผู้คนจนถึงทุกวันนี้ และไม่ใช่จะถูกเปลี่ยนไปเป็นแต่ตึกออฟฟิศหรือห้างสรรพสินค้าที่มีมากมายอยู่แล้ว

 

The oldest cinema

 

Cinéma Eden Théâtre (Eden Theatre), ฝรั่งเศส

Cinéma Eden-Théâtre หรือ Eden Theatre ตั้งอยู่ ณ เมือง La Ciotat บนชายฝั่งของ​​โกตดาซูร์ (Côte d’Azur) หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า เฟรนช์ริวิเอรา (French Riviera) ซึ่งเปิดประตูให้ผู้คนเข้ามาชมภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในปี 1899 และได้รับการบันทึกลง Guinness World Records ว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นั่นก็เพราะจุดเริ่มต้นของการฉายหนังหรือภาพยนตร์อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ หรือจะให้ถูกก็คือ ภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกได้ถูกฉายเป็นครั้งแรกในโรงภาพยนตร์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1899 โดยภาพยนตร์ที่นำมาฉายนั้นถูกคัดเลือกโดยสองพี่น้อง Auguste และ Louis Lumière ซึ่งใครที่ติดตามประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ก็อาจจะเคยได้ยินชื่อของพี่น้อง Lumière ซึ่งเป็นผู้คิดค้นระบบซิเนมาโตกราฟ (Cinématographe) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการฉายภาพเคลื่อนไหวให้ออกมาโลดแล่นอยู่บนหน้าจอ

 

ทั้งนี้ Auguste และ Louis Lumière ได้เริ่มฉายภาพยนตร์ ‘รถไฟ’ หรือ L’arrivée d’un train en gare de La Ciotat เป็นครั้งแรกต่อสาธารณชนตั้งแต่ปี 1895 ทว่าเป็นการฉายภายในบ้านของพวกเขาเองและในคาเฟ่ที่กรุงปารีสเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าโรงภาพยนตร์ที่มีการฉายหนังแห่งแรกในโลกก็คือที่ Cinéma Eden Théâtre ในปี 1899 นั่นเอง นอกจากนี้ Cinéma Eden Théâtre ยังมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นสิ่งปลูกสร้างร่วมสมัยกับหอไอเฟล ซึ่งเปิดให้ผู้คนเข้าชมได้เป็นครั้งแรก เพียง 10 วันหลังจากที่ Cinéma Eden Théâtre ฉายภาพยนตร์เรื่องแรกอย่างเป็นทางการ 

 

และถึงแม้วงการโรงภาพยนตร์ทั่วโลกจะกำลังตกอยู่สภาวะถดถอย ปัจจุบัน Cinéma Eden Théâtre ก็ยังสามารถยืนหยัดได้อย่างสง่าผ่าเผย พร้อมห้องฉายภาพยนตร์ที่รองรับผู้ชมได้ถึง 25,000 ที่นั่ง นับเป็นความภาคภูมิใจและสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกที่ยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

อ้างอิง:

 

The oldest cinema

 

Duke of York’s, สหราชอาณาจักร

โรงภาพยนตร์ Duke of York’s เปิดทำการเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 1910 และเพิ่งจะฉลองวันเกิดปีที่ 111 ไปเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ ในยุคเริ่มแรก โรงภาพยนตร์แห่งนี้ถูกมองว่าเป็นสถานที่ฉายภาพยนตร์ที่หรูหรา ถึงขนาดที่มีสโลแกนว่า ‘Bring her to the Duke’s, It is fit for a Duchess’ นัยว่าโรงภาพยนตร์ Duke’s นั้นเหมาะแก่การพาคุณผู้หญิงมา เพราะหรูหราควรค่าระดับดัชเชสเลยทีเดียว  

 

นอกเหนือจากคุณค่าทางจิตใจต่อผู้คนในท้องที่แล้ว ตัวอาคารของโรงภาพยนตร์ Duke of York’s ยังได้รับการรับรองสถานะการคุ้มครองเป็นอาคาร Grade II Listed อีกด้วย โดยในปี 2019 ทางโรงภาพยนตร์ได้ลงคลิปบทสัมภาษณ์ Christopher Willmott ผู้จัดการโรงภาพยนต์แห่งนี้ หลังการรีโนเวตตัวอาคารและพื้นผิวอาคาร (Façade) ด้านหน้าของ Duke of York’s โดย Christopher เล่าว่าทีมงานใช้เวลากว่า 6 เดือนในการรีโนเวตและลอกชั้นสีที่ถูกทาทับมาเรื่อยๆ ตลอด 100 กว่าปีที่ผ่านมา จนทำให้ค้นพบรายละเอียดดั้งเดิมของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นลวดลายอ่อนช้อยบนตัวตึก งานปูนปั้นรูปกุหลาบและสับปะรดตามบริเวณเสา ที่ถูกปิดทับด้วยปูนปลาสเตอร์และคอนกรีตในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

โรงภาพยนตร์ Duke of York’s ได้รับการรับรองจากสมาคม Cinema Theatre Association ให้เป็นโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักรที่ยังเปิดทำการอยู่จนถึงทุกวันนี้ แม้บางแหล่งข้อมูล อย่างบทความจากหนังสือพิมพ์ จะอ้างว่าโรงภาพยนตร์ Phoenix Cinema ในลอนดอนนั้นเป็นโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุด  

 

อ้างอิง:

 

The oldest cinema

 

Phoenix Cinema, สหราชอาณาจักร 

เนื่องจากโรงภาพยนตร์ Phoenix ถูกสร้างขึ้นในปี 1912 ไล่เลี่ยกับ Duke of York’s ทำให้มีบางส่วนที่มองว่า Phoenix ต่างหากที่เป็นโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังเปิดทำการอยู่ในสหราชอาณาจักร สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็น Phoenix หรือ Duke of York’s แต่การที่ทั้งสองที่ยังคงเปิดทำการและรักษาโครงสร้างเดิมไว้โดยไม่ถูกทุบทิ้งไปเสียก่อน ก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจไม่น้อยสำหรับคนรักภาพยนตร์และผู้คนในพื้นที่ ทั้งนี้ โรงภาพยนตร์ Phoenix ได้ปิดไปชั่วคราวในปี 2010 เพื่อซ่อมแซม ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งพร้อมกับรายละเอียดอาคารสไตล์เอ็ดวอร์เดียน (Edwardian) และอาร์ตเดโค (Art Deco) ที่ได้รับการบูรณะให้กลับมางดงามอีกครั้ง ในปัจจุบัน Phoenix Cinema อยู่ใต้ความดูแลโดยมูลนิธิที่ไม่แสวงผลกำไรในนามของผู้อยู่อาศัยของย่านนอร์ธลอนดอน ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามและความประสบความสำเร็จของผู้คนในชุมชน ในการเก็บรักษาอาคารที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไว้อีกด้วย

 

อ้างอิง:

 

The oldest cinema

 

Kino Pionier, โปแลนด์

อีกหนึ่งโรงภาพยนตร์ในยุโรปที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานก็คือ Kino Pionier Cinema ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองสเชชเซ็น (Szczecin) ของโปแลนด์ โรงภาพยนตร์แห่งนี้เดิมทีมีชื่อเรียกว่า Helios Cinema และเปิดทำการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 กันยายน 1909 ในตอนที่สเชชเซ็นยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนี (แม้เอกสารที่ถูกค้นพบจะแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วโรงภาพยนตร์แห่งนี้เปิดครั้งแรกในปี 1907)  

 

ตลอดหลายทศวรรษ Kino Pionier Cinema เป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Weltkinotheater และ Odra ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ Pionier ในปี 1950 ประวัติศาสตร์อันยาวนานของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ทำให้ได้รับการรองรับว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกโดย Guinness World Records ในปี 2005 ก่อนจะถูกชิงตำแหน่งโดย Cinéma Eden Théâtre 

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา Kino Pionier Cinema ได้ฉายภาพยนตร์จากยุโรป เอเชีย และอเมริกาใต้ แทนภาพยนตร์กระแสหลัก “เพื่อแสดงความตั้งใจในการทำภาพยนตร์ให้แก่ผู้ชมที่ไม่ได้มองภาพยนตร์เป็นเพียงสิ่งให้ความเพลิดเพลินเท่านั้น” และนอกจากจะมีฉายภาพยนตร์แล้ว เหล่า Cinephile ยังสามารถมานั่งที่บริเวณคาเฟ่ของ Kino Pionier พร้อมจิบกาแฟหรือไวน์ระหว่างชมภาพยนตร์เงียบที่ถ่ายทำในปี 1898 ณ เมืองสเชชเซ็น ที่เปิดวนคลอไปกับเสียงเพลงและเสียงพูดคุยของกลุ่มคนรักภาพยนตร์ 

 

แม้จะอยู่มาอย่างยาวนานและผ่านสงครามโลกมาได้ถึง 2 ครั้งด้วยกัน แต่ขณะนี้ Kino Pionier ก็กำลังเผชิญกับการที่อาจจะต้องปิดตัวลง เนื่องจากการระบาดของโควิด ทำให้จำนวนผู้ชมลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย จนทำให้ชาวเมืองถึงกับต้องมารวมตัวกันเพื่อระดมทุนให้ Kino Pionier สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยการระดมทุนนี้ก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ว่าเมืองสเชชเซ็น ที่เล็งเห็นความสำคัญของการรักษาโรงภาพยนตร์แห่งนี้ไว้เช่นกัน

 

อ้างอิง:

 

The oldest cinema

 

Plaza 1907, สหรัฐอเมริกา

อีกหนึ่งผู้ท้าชิงที่ได้รับการรับรองในปี 2018 ให้เป็นโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังเปิดทำการอยู่ ก็คือ Plaza 1907 ในรัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา และถึงแม้ว่า Cinéma Eden Théâtre ที่ฝรั่งเศส จะเป็นโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แต่ทาง Plaza 1907 ก็มองว่าตนเป็นโรงภาพยนตร์ ‘Purpose-built’ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงฉายภาพยนตร์โดยเฉพาะที่เก่าแก่ที่สุด เนื่องจาก Cinéma Eden Théâtre และโรงภาพยนตร์อื่นๆ นั้นเป็นอาคารที่ถูก ‘ดัดแปลง’ มาจากโรงละครหรืออาคารต่างๆ นั่นเอง

 

Plaza 1907 เปิดทำการครั้งแรกในปี 1907 ภายใต้ชื่อ Bijou ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นโรงภาพยนตร์ Crystal ในปี 1910 และ Plaza ในปี 1935 และได้รับการรีโนเวตให้มี 2 จอในช่วงยุค 1980 แต่เพราะโรงภาพยนตร์แห่งนี้เคยปิดทำการชั่วคราวไปในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression จึงทำให้ Plaza 1907 ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่เปิดทำการต่อเนื่องมาอย่างยาวนานที่สุด

 

อ้างอิง:

 

The oldest cinema

 

Cinéma du Panthéon, ฝรั่งเศส

โรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของปารีสอย่าง Cinéma du Panthéon นั้นตั้งอยู่ในส่วนที่เปี่ยมเสน่ห์ของเมืองอย่าง Quartier Latin โดยเปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1907 และถูกซื้อไปในปี 1929 โดย Pierre Braunberger ผู้ทำให้โรงภาพยนตร์แห่งนี้กลายเป็นผู้นำแห่งวงการภาพยนตร์อินดี้ เพราะนอกจากจะเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งนี้แล้ว Braunberger ยังเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของยุคทองแห่งวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส และเป็นผู้คนพบ Jean-Pierre Melville และ Jean-Luc Godard และอีกมากมาย ที่กลายมาเป็นผู้กำกับแห่งคลื่น La Nouvelle Vague หรือ French New Wave นอกจากนี้ Cinéma du Panthéon ยังเป็นหนึ่งในโรงภาพยนตร์แห่งแรกที่ฉายภาพยนตร์ต่างประเทศพร้อมซับไตเติล ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่เป็นอย่างมากในศตวรรษก่อน ในยุคที่ภาพยนตร์มักจะถูก ‘พากย์’ ให้เหมาะสมกับการฉายในแต่ละประเทศเสียมากกว่า 

 

ในปี 2006 โรงภาพยนตร์แห่งนี้ได้ต่อเติมห้องฉายภาพยนตร์ที่มีนักแสดงชื่อดังจากยุค French New Wave อย่าง Catherine Deneuve มาออกแบบให้ 

 

อ้างอิง:

 

The oldest cinema

 

The Electric, สหราชอาณาจักร (เบอร์มิงแฮม) 

ถึงแม้จะมีอีกโรงภาพยนตร์อาร์ตเฮาส์ที่ชื่อคล้ายกันอย่าง The Electric ในกรุงลอนดอนที่อาจทำให้คนสับสน แต่ The Electric ที่ถูกยกมาพูดถึงนี้เป็นโรงภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่นอกกรุงลอนดอนในเมืองเบอร์มิงแฮม ซึ่งเปิดทำการเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคมปี 1909 และเป็นหนึ่งในโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของเกาะอังกฤษที่ยังมีลมหายใจอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับคนในเมือง เพราะโรงภาพยนตร์แห่งนี้เพิ่งมีข่าวสดๆ ร้อนๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าได้ถูกขายให้กับ Kevin Markwick ผู้บริหารและเจ้าของโรงหนัง Picturehouse Cinema โดยจะเปิดทำการอีกครั้งภายในช่วงคริสต์มาสที่จะถึงนี้ หลังจากปิดไปชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์ตอนต้นปี 2020 

 

อ้างอิง:

 

The oldest cinema

 

The Electric, สหราชอาณาจักร (ลอนดอน)

แม้จะมีชื่อเดียวกันแต่ The Electric ในย่านนอตติ้งฮิลล์ของกรุงลอนดอนนั้น สร้างขึ้นโดยสถาปนิก Gerald Seymour Valentin และเปิดทำการเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ Electric Cinema Theatre ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1911 ให้แก่ผู้ชมจำนวน 564 ที่นั่ง โดยฉายภาพยนตร์เงียบความยาว 20 นาทีเรื่อง Henry 

 

ในปี 1987 โรงภาพยนตร์แห่งนี้ได้ปิดตัวลง ท่ามกลางเสียงคัดค้านและความพยายามในการช่วยเหลือของผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนั้น ซึ่งประกอบด้วยนักแสดงและคนในวงการภาพยนตร์ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Audrey Hepburn, Anthony Hopkins, Alan Bates, Julie Christie และอื่นๆ อีกมากมาย และหลังจากนั้นในปี 1988 ทางคณะกรรมการดูแลผังเมือง Kensington and Chelsea Town Council’s Planning Committee ก็ได้นัดพูดคุยกับกลุ่มพัฒนาที่ดิน Willingshire ซึ่งเป็นเจ้าของใหม่ของ The Electric ที่ต้องการจะพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นบาร์และร้านอาหารพร้อมพื้นที่สำหรับเต้นรำ แน่นอนว่าแผนการนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักโดยกลุ่มรณรงค์ Save The Electric Cinema Campaign รวมถึงผู้คนในพื้นที่ 

 

ในท้ายที่สุด The Electric จึงรอดพ้นจากการถูกรื้อถอน ก่อนจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ Soho House Group และประตูของโรงภาพยนตร์จากยุค 1910 แห่งนี้ก็ถูกเปิดออกอีกครั้งพร้อมกับการรีโนเวตครั้งใหญ่ ที่นับว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นโดยที่ยังสามารถอนุรักษ์บรรยากาศดั้งเดิมไว้ได้ ผ่านการเปลี่ยนที่นั่งทั้ง 240 ที่ให้กลายเป็นโซฟาและเก้าอี้นวมที่มาพร้อมกับเบาะวางเท้า พร้อมด้วยบาร์ที่ให้บรรยากาศหรูหราของช่วงยุค 1910 รวมถึงการส่วนของจอฉายภาพยนตร์ให้กลายเป็นซุ่มโค้งขนาดใหญ่พร้อมจอที่สามารถรองรับหนังได้ทุกสัดส่วน 

 

อ้างอิง:

 

The oldest cinema

 

Theatr Colwyn, เวลส์ สหราชอาณาจักร

โรงภาพยนตร์เก่าแก่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1885 และเปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1909 ภายในอาคารสไตล์อาร์ต เดโค (Art Deco) และเป็นสถานที่ฉายภาพยนตร์เก่าแก่ที่สุดในเวลส์ ถึงแม้จะมีอายุเก่าแก่ แต่โรงละครและโรงภาพยนตร์โบราณแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณะพร้อมกับติดตั้งอุปกรณ์ฉายหนังที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้คนในท้องที่สามารถรับชมภาพยนตร์ได้อย่างเต็มอรรถรส นอกจากนี้ Theatr Colwyn ยังมีพื้นที่สาธารณะสำหรับจัดแสดงละครโรงเรียนและการแสดงต่างๆ รวมถึงห้องจัดคอนเสิร์ต ทั้งยังมีห้องอัดเสียงและห้องซ้อมดนตรีสำหรับคนในชุมชนอีกด้วย 

 

นอกจากจะเป็นโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังเปิดทำการในเวลส์แล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Theatr Colwyn ก็คือการที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้บริษัทเอกชน เพราะสภาเทศบาล Conwy County Borough Council นั้นเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ โดยมีคณะตลกที่เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงที่สุดในสหราชอาณาจักรอย่าง Monty Python เป็นผู้อุปถัมภ์ร่วมกับ Terry Jones และนักแสดง/นักเขียน Celyn Jones

 

อ้างอิง:

 

The oldest cinema

 

State Theater, สหรัฐอเมริกา

State Theater ในรัฐไอโอวา เป็นอีกหนึ่งโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกในแง่ที่ว่า อาคารแห่งนี้ไม่เคยปิดประตูลงแม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมายาวนานกว่าร้อยปี โดย State Theater ได้เปิดทำการเป็นครั้งแรกในปี 1897 ในฐานะโรงโอเปรา The Graham Opera House ที่มีราคาตั๋วจำหน่ายอยู่ที่ 15 เซนต์ต่อคน นับเป็นราคาที่สูงเอาเรื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินในสมัยนั้น และในปี 1930 โรงโอเปราแห่งนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็น State Theater ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

 

หลักจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในปี 2010 ทางโรงภาพยนตร์ก็ได้รีโนเวตอาคาร พร้อมกับออกแบบผิวอาคารหรือ Façade ด้านหน้าให้เป็นสไตล์ยุค 1940 ซึ่งเป็นช่วงรุ่งเรืองของ State Theater ในปัจจุบันโรงภาพยนตร์แห่งนี้ยังคงเปิดทำการอยู่ โดยฉายภาพยนตร์ทั้งแบบ 2D และ 3D สำหรับผู้ชมทั่วไป

 

อ้างอิง:

 

ภาพ: Shutterstock, AFP, Getty Images, Courtesy of Cinema

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X