×

เสรีภาพทางวิชาการ vs. การบิดเบือนประวัติศาสตร์ ย้อนปมทายาทราชสกุลรังสิต ฟ้อง ‘ณัฐพล ใจจริง’

11.11.2021
  • LOADING...
เสรีภาพทางวิชาการ vs. การบิดเบือนประวัติศาสตร์

ความเคลื่อนไหวสำคัญสำหรับวงวิชาการที่เมื่อมีความเห็นแตกต่างกันแล้วจะถึงขั้นมีการฟ้องร้อง อาจไม่ใช่เรื่องปกติที่พบเห็นได้บ่อยนัก

 

เพราะโดยทั่วไปแล้ว หากใครมีความเห็นแย้ง อาจด้วยความเชื่อในสำนักคิดแตกต่างหรือมีประสบการณ์แตกต่าง หรือมีเงื่อนไขใดๆ ก็ตามแตกต่างกัน ก็จะผลิตงานวิชาการที่นำเสนอหลักฐานพร้อมความเห็นแย้งเผยแพร่ผ่านงานวิชาการ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถรับรู้รับทราบได้ว่าในเรื่องเดียวกันนั้น ถูกตีความหรือมีคำอธิบายแต่ละค่ายความคิดแตกต่างกันอย่างไร

 

ล่าสุด มีนักวิชาการที่ต้องขึ้นศาลเป็นจำเลยตามนัดไต่สวนครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการที่เห็นต่าง แม้ไม่ได้เป็นโจทก์ แต่ก็เป็นพยานให้ฝ่ายโจทก์ด้วย

 

THE STANDARD ชวนมาลองย้อนเหตุการณ์ที่ดูจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในแวดวงวิชาการมากนัก

 

ปี 2553: ณัฐพล ใจจริง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ปีการศึกษา 2552 จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการประเมินผลในระดับดีมาก เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ โดย กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

 

ก่อนหน้านั้น ณัฐพลสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับสอง จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับรางวัล ‘ทุนภูมิพล’ ในฐานะที่ได้คะแนนสูงสุด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ปัจจุบัน ณัฐพลเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

ปี 2556: หนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)’ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2564 โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

 

ปี 2563: หนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

 

  • 5 มีนาคม 2564 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร มอบหมายให้ สมผล ตระกูลรุ่ง ทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท ต่อ 6 จำเลย ประกอบด้วย

 

จำเลยที่ 1 ณัฐพล ใจจริง ผู้แต่งหนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’ และ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’

 

จำเลยที่ 2 กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จำเลยที่ 3 ชัยธวัช ตุลาธน บรรณาธิการหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ

 

จำเลยที่ 4 อัญชลี มณีโรจน์ บรรณาธิการหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี

 

จำเลยที่ 5 ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้ง 2 เล่ม

 

จำเลยที่ 6 ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

 

ในฐานความผิดละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท กรณีที่ ‘ณัฐพล’ เขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ หนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ และหนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)’

 

  • 26 มีนาคม 2564 นักวิชาการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องจุฬาฯ ให้ปกป้องเสรีภาพและมาตรฐานทางวิชาการ โดย 279 นักวิชาการและวิชาชีพอื่น ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีการตั้งกรรมการสอบสวนณัฐพล

 

  • 2 พฤษภาคม 2564 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันขยายเวลาให้ผู้อ่านที่ต้องการเปลี่ยนหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) โดย ณัฐพล ใจจริง เปลี่ยนได้อีก 6 เดือน โดยระบุว่า

 

“ตามที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ประกาศเปลี่ยนหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 (2556) กับ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขปรับปรุงในปี 2564  ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงจากการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2556 จากการทักท้วงของ ไชยันต์ ไชยพร ที่เกิดขึ้นในปี 2561

 

“ในการตีพิมพ์ครั้งนี้ (2564) กองบรรณาธิการได้แก้ไขตามที่ท้วงติงแล้ว ซึ่งมีเพียงจุดเดียว (หน้า 124) อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันขอยืนยันว่าความผิดพลาดดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นโดยเจตนา และไม่ได้กระทบต่อโครงเรื่องและสาระหลักในหนังสือเล่มนี้แต่อย่างใด 

 

“หากผู้อ่านท่านใดต้องการเปลี่ยนหนังสือ เรายินดีเปลี่ยนให้ โดยท่านสามารถส่งหนังสือคืนมาที่ สนพ. แล้วทางเราจะส่งเล่มใหม่ไปให้

 

“เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้หลายท่านไม่สะดวกที่จะส่งหนังสือมาแลกเปลี่ยน ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ขอขยายเวลาจากวันที่ 30 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 หรือเพิ่มอีก 6 เดือน”

 

  • 9 พฤศจิกายน 2564 ศาลแพ่งไต่สวนครั้งแรก และนัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.30 น.

 

  • 9 พฤศจิกายน 2564 กุลลดา จำเลยที่ 2 ออกแถลงการณ์เผยแพร่ทางแฟนเพจฟ้าเดียวกัน โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า

 

“คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิได้ใช้เวลาตรวจสอบวิทยานิพนธ์แล้ว และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า วิทยานิพนธ์สอบผ่าน และวิทยานิพนธ์ดีมาก ซึ่งเป็นงานวิชาการที่เปิดให้มีการโต้เถียงได้โดยเสรี

 

“หากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเป็นสถาบันวิชาการในระดับสากล ก็ควรต้องรับรองหลักการดังกล่าวอันเกิดขึ้นภายในสถาบันของตนด้วย และควรต้องมีบทบาทในการปกป้องดิฉัน ซึ่งทำหน้าที่อันชอบธรรมตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย

 

“แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ยอมรับหรือกระทำตามหลักการที่มีความเป็นสากลนี้ และไม่ได้ดำเนินการปกป้องดิฉันในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งทำหน้าที่ตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยอย่างที่ควร แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนบทบาทของดิฉันในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาดังกล่าว”

 

ย้อนเหตุการณ์ก่อนที่จะมีคดี ‘ทายาทราชสกุลรังสิต’ ฟ้องร้องณัฐพลและอีก 5 จำเลย ในปี 2564

 

  • ไชยันต์ ไชยพร ให้สัมภาษณ์ WATCHDOG CHANNEL เผยแพร่ทาง YouTube วันที่ 24 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีคำบรรยายประกอบคลิปใน YouTube ระบุว่า “พิสูจน์หลักฐานเอกสาร วิทยานิพนธ์ของ ดร.ณัฐพล ใจจริง สร้างเรื่อง…..เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ – ความเห็นของ อ.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ต่อการชุมนุมของคณะราษฎร 63 – สัมภาษณ์ 21 ธันวาคม 2563 คลิกดูได้ที่: 

 

 

  • เนื้อหาคำให้สัมภาษณ์ไชยันต์ระบุตอนหนึ่งว่า หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สวรรคตในปี 2559 ก็ได้ร่วมกับนักวิชาการอีก 2 ท่าน ทำวิจัยให้สถาบันพระปกเกล้า ได้ทุนวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า ทำเรื่องเกี่ยวกับการเมืองในรัชกาลที่ 9 พระองค์ต้องเผชิญอะไรบ้างในช่วง 70 ปีครองราชย์

 

  • ทีมทำวิจัยได้สำรวจวรรณกรรมใครเขียนอะไรเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง พบเอกสารที่เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง เขียนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และได้ดูการอ้างอิงในหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ซึ่งเป็นหนังสือที่ไชยันต์ระบุว่า เพื่อนร่วมงานในภาควิชาการปกครองสำรวจเยาวชนที่ชุมนุมปลดแอกในปี 2563 พบว่าหนังสือเล่มนี้เป็น 1 ใน 4 เล่มที่ฮิตมาก น่าจะมีอิทธิพลกับเยาวชน จึงเช็กการอ้างอิง

 

  • เมื่อตรวจสอบแล้วไชยันต์มองว่า หนังสือณัฐพลเป็นการเผยแพร่ข้อความเท็จ อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งความรุนแรงทางการเมืองได้ ไม่ได้มองว่าเป็นการเขียนจากการตีความ แต่ไชยันต์มองว่าเป็นการเสกสรรปั้นแต่งข้อมูล

 

  • ไชยันต์ ไชยพร ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: การศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า กล่าวด้วยว่า ได้แจ้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และกรรมการวิทยานิพนธ์ของณัฐพลรับทราบเกี่ยวกับการอ้างอิงบทบาทของกรมขุนชัยนาทฯ ในวิทยานิพนธ์ เมื่อณัฐพลติดต่อบัณฑิตวิทยาลัยเพื่อแก้ไข ทางบัณฑิตวิทยาลัยไม่ให้แก้เพราะจบไปแล้ว ไชยันต์ทำเรื่องไปที่บัณฑิตวิทยาลัยอีกครั้ง บัณฑิตวิทยาลัยประชุมแล้วผลออกมาไม่เผยแพร่วิทยานิพนธ์ทั้งรูปกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์

 

  • ไชยันต์ให้ความเห็นในการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวว่า บัณฑิตวิทยาลัยไม่ควรปิด เพราะเมื่อปิดคนจะเข้าใจว่าเนื้อหาในนั้นคือความจริงที่ถูกเซ็นเซอร์เสรีภาพทางวิชาการ ขณะที่เรื่องที่เขียนนั้นเป็นข้อมูลเท็จในความเห็นของไชยันต์ นอกจากนั้น ไชยันต์บอกด้วยว่า ได้แจ้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันว่ามีข้อผิดพลาด ถ้าเขาไม่เผยแพร่หรือมีกระดาษแปะยอมรับความผิดพลาดก็จบ แต่สำนักพิมพ์กลับเงียบ

 

  • ต่อมา ไชยันต์ให้สัมภาษณ์รายการ เรื่องลับมาก ดำเนินรายการโดย เสรี วงษ์มณฑา สัมภาษณ์เผยแพร่ทางเนชั่นทีวี วันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยไชยันต์กล่าวตอนหนึ่งถึงหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ว่า ประเด็นที่เป็นประเด็นสำคัญ ต้องการให้เขาแก้ไขเป็นหลัก แต่ยังไม่มีการแก้ไขในหนังสือเล่มนี้ อยู่ในหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ในหน้า 124 ที่กล่าวถึงกรมขุนชัยนาทนเรนทร โดยอ้างอิงรายงานสถานทูต ซึ่งไชยันต์บอกว่าเมื่อเช็กเชิงอรรถแล้วไม่มีข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือขอฝันใฝ่ฯ

 

  • ด้านทนายความฝ่ายจำเลย วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของกุลลดา จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD วันนี้ (11 พฤศจิกายน) ว่า คำฟ้องของโจทก์ ระบุว่า ได้ข้อมูลจากไชยันต์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ส่วนตัวมองว่า คดีดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นในวงวิชาการในสังคมประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการซึ่งรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง และการทำวิทยานิพนธ์ก็เป็นเสรีภาพของผู้ศึกษาที่มุ่งพัฒนาต่อยอดความรู้ ไม่น่าจะถูกมองว่าเป็นการบิดเบือน เนื่องจากเป็นการนำเอกสารมาวิเคราะห์ตีความทางวิชาการ ซึ่งหากใครไม่เห็นด้วยก็สามารถโต้แย้งหักล้างถกเถียงกันด้วยเหตุผล หรือเขียนหนังสือทำวิจัยพิสูจน์สิ่งที่ไม่เห็นด้วย อ้างเอกสารชิ้นเดียวกันแต่ตีความอีกแบบก็ได้

 

  • วิญญัติกล่าวด้วยว่า อำนาจฟ้องของโจทก์น่าจะไม่สมบูรณ์ในแง่การบอกว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการอ้างว่าถูกละเมิด รวมถึงสิทธิในการนำคดีมาฟ้องน่าจะขาดอายุความ เพราะการสอบวิทยานิพนธ์เกิดขึ้นเกิน 10 ปีแล้ว ส่วนอายุความ 1 ปีนับแต่รู้ก็ฟังไม่ขึ้น

 

  • อย่างไรก็ตาม มองว่าฝ่ายโจทก์รวมถึงไชยันต์ซึ่งเป็นพยาน ต้องใจกว้างให้มีการพิสูจน์ความจริงในอดีตถึงเหตุการณ์ที่เป็นปัญหานี้ในศาลว่าอะไรเกิดขึ้น ความจริงคืออะไร เชื่อว่าคนไทยที่ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ก็อยากรู้ และหากมีหลักฐานในงานวิชาการจากนักวิชาการท่านอื่นๆ ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันกับวิทยานิพนธ์และหนังสือของณัฐพลแล้ว ทางฝ่ายโจทก์และไชยันต์จะยอมรับได้หรือไม่

 

  • ส่วนการทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 2 วิญญัติกล่าวว่า ไม่มีใครทักท้วงว่ากุลลดาทำผิดระเบียบหรือขั้นตอนกฎหมาย การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ทำภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ไม่มีใครคิดว่าจะถูกฟ้อง และมองว่า จุฬาฯ ควรจะปกป้องอาจารย์และนิสิตตามที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เพียงการรับตรวจสอบหรือมุ่งลงโทษโดยการระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์

 

ภาพ: ฟ้าเดียวกัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X