×

กลยุทธ์ราคาเป็นเหตุ ‘KEX’ กำไรไตรมาส 3 วูบ 95% เหลือเพียง 12 ล้านบาท

10.11.2021
  • LOADING...
KEX

แม้จะรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ อีกทั้งปริมาณจัดส่งพัสดุเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากกลยุทธ์ด้านราคาเชิงรุก แต่ KEX ก็ต้องเผชิญกับผลกำไรที่ลดลงเหลือเพียง 12 ล้านบาทในไตรมาสนี้ คิดเป็นการปรับตัวลดลงถึง 95% จากงวดเดียวกันปีก่อน 

 

บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ ​​KEX รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/64 ระบุว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 12.8 ล้านบาท ลดลง 95% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 292.1 ล้านบาท โดยไตรมาสนี้มีอัตรากำไรสุทธิคิดเป็น 0.2% ของรายได้ อันเป็นผลมาจากการดำเนินกลยุทธ์ด้านราคาเชิงรุกเพื่อความเป็นผู้นำตลาด รวมถึงการลงทุนส่วนเพิ่มเพื่อการเตรียมทรัพยากรสำรองในรูปแบบต่างๆ เพื่อรักษาระดับคุณภาพการให้บริการและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในภาวะวิกฤต ตลอดจนการเพิ่มความสามารถในการรองรับพัสดุเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งต้นทุนและค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อภาวะวิกฤตคลี่คลาย และจำนวนพัสดุปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทที่วางไว้ 

 

KEX ระบุว่า ปริมาณการจัดส่งพัสดุที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 3/64 มีการเติบโตสูงกว่า 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 และมีรายได้จาการขายและการให้บริการรวมทั้งสิ้น 5,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตรา 18.8% และ 15.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วและไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ 

 

เหตุผลหลักมาจากการดำเนินกลยุทธ์การด้านราคาเชิงรุก โดยรายได้จากลูกค้าทุกประเภท ทั้ง B2B, B2C และ C2C เติบโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาด C2C รวมถึงการรุกเข้าสู่ตลาดการจัดส่งพัสดุราคาประหยัดและกลุ่มสังคมโซเชียล 

 

นอกจากนี้ KEX ยังสามารถรักษาลูกค้าเดิม ทั้งในกลุ่ม B2B และ B2C ซึ่งได้รับการต่อสัญญาการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการสร้างความแข็งแกร่งในส่วนของปริมาณการจัดส่งพัสดุและรายได้ไนไตรมาสถัดๆ ไป

 

ต้นทุนขายและการให้บริการเพิ่มขึ้น 30.8% และ 27.9% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 และไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนการจัดส่งพัสดุที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 

 

แม้ว่าต้นทุนจากการดำเนินงานในสถานการณ์ปกติจะได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี แต่ KEX ได้มีการลงทุนในการจัดเตรียมทรัพยากรสำรองส่วนเพิ่มเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทยังคงสามารถรักษาระดับการให้บริการได้อย่างต่อเนื่องในภาวะวิกฤตนี้ รวมทั้งเพื่อการขยายความสามารถในการรองรับพัสดุเพื่อรองรับปริมาณการจัดส่งพัสดุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ 

 

สถานการณ์โควิดได้สร้างความลำบากและซับซ้อนในธุรกิจ ทั้งจากสถานการณ์แรงงานที่หดหายไป และปริมาณการจัดส่งพัสดุที่เพิ่มเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยสถานการณ์ชั่วคราวดังกล่าวได้ทำให้ต้นทุนการเตรียมการเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของบุคลากร ยานพาหนะ อุปกรณ์ และการจัดหาจำนวนศูนย์คัดแยกพัสดุสำรอง ศูนย์กระจายพัสดุสำรอง และจุดให้บริการต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อการชดเชยความเสียหาย คุณภาพการให้บริการที่ลดลง และความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ของบริษัทที่สูญเสียไป

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลงเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงไป และปริมาณการจัดส่งพัสดุเพิ่มขึ้นตามลำดับ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X