วันนี้ (9 พฤศจิกายน) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการกำหนดเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 กรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
เพื่อให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมสามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด (Sinopharm) จากกรมควบคุมโรค, องค์การเภสัชกรรม, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สภากาชาดไทย, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้การบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุข เพื่อให้บริการแก่พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ ตามระเบียบและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ให้มีผลกระทบต่องบประมาณ และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด (Sinopharm) จากรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งใน พ.ศ. 2564 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนทั้งสิ้น 58 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจรวมทั้งสิ้นจำนวน 261,464 คน โดยในจำนวนนี้มีรัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาวัคซีนรวมทั้งสิ้น 40 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่แสดงความประสงค์ขอรับการฉีดวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 117,677 คน
สำหรับอัตราค่าใช้จ่าย จะคำนวณจากราคาวัคซีนป้องกันโรคโควิด (Sinopharm) ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งใน พ.ศ. 2564 กำหนดไว้จำนวน 2 เข็ม คูณด้วยจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่ประสงค์ขอรับวัคซีน 117,677 คน และใน พ.ศ. 2565-2568 จำนวน 2 เข็ม คูณด้วยจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจใน พ.ศ. 2564 ทั้งหมด 261,464 คน จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 58 แห่ง
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย