วันนี้ (9 พฤศจิกายน) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงปลายปีมักจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีอากาศหนาวเย็น การจัดบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติหรือรีสอร์ตต่างๆ บางที่มีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส หรือเป็นระบบที่ใช้แก๊สหุงต้ม หรือแอลพีจี เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ ซึ่งการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีการดูแลป้องกันที่ดี อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ใช้สูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป
ซึ่งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะไปจับกับเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้น้อยลง จนร่างกายขาดออกซิเจน และก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ รวมถึงเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันขณะอาบน้ำในห้องน้ำได้
นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า ประชาชน นักท่องเที่ยว ควรศึกษาวิธีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สที่ถูกต้องจากป้ายบอกคำแนะนำ รวมทั้งควรเปิดพัดลมระบายอากาศทุกครั้งที่อาบน้ำ กรณีที่ไม่มีพัดลมระบายอากาศหรือไม่มีช่องระบายอากาศ ให้หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส
แต่หากจำเป็นต้องใช้ ควรเปิดประตูไว้ขณะอาบน้ำเพื่อให้ระบายอากาศได้ และไม่ควรอาบน้ำเกิน 10 นาที กรณีอาบน้ำติดต่อกันหลายคน ควรเปิดพัดลมระบายอากาศ และเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้อากาศถ่ายเท หากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติให้ออกจากห้องน้ำทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลพิเศษ ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ที่กำลังป่วย ควรมีผู้คอยดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดขณะอาบน้ำ
“ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยหมดสติในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ควรรีบนำผู้ป่วยออกไปยังพื้นที่โล่งที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยให้นอนราบกับพื้น หากผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานที่บริการสาธารณสุขใกล้เคียงที่สุด หรือติดต่อสายด่วน 1669” นพ.สุวรรณชัยกล่าวทิ้งท้าย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP