×

เหล่ามหาเศรษฐี ‘รักงานศิลปะ’ หรือซื้อไว้เพื่อ ‘ลดหย่อนภาษี’ กันแน่?

05.11.2021
  • LOADING...
งานศิลปะ

มีมหาเศรษฐีมากมายที่รักงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนของศิลปินอย่าง Rothko, Basquiat หรือ Banksy ที่แขวนอยู่ในห้องโถงด้านหน้า เพื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจและความปีติยินดีต่องานศิลปะ แต่นอกจากนั้นนี่ยังเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย

 

ทนายของเหล่าเศรษฐีที่พยายามช่วยเหลือลูกค้าของตัวเองในการเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายภาษีในรัฐวอชิงตันที่คุกคามต่อคนรวย โดยทนายเหล่านี้กล่าวว่า พวกเขาได้รับคำขอจากมหาเศรษฐีนักสะสมงานศิลปะ เพื่อให้ค้นหากลยุทธ์ในการปกป้องความมั่งคั่งของพวกเขาจากกรมสรรพากรแห่งสหรัฐฯ หรือ Internal Revenue Service (IRS) มากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ช่องโหว่ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือการบริจาคงานศิลปะให้กับพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นการบริจาคแบบแบ่งส่วน หรือ Fractional Gifts คือยังมีความเป็นเจ้าของในงานนั้นๆ อยู่ โดยที่งานศิลปะดังกล่าวจะถูกส่งไปๆ มาๆ ระหว่างผู้บริจาคและพิพิธภัณฑ์ เหมือนกับพ่อแม่ที่หย่าร้าง ผลัดกันดูแลลูกๆ ของตนร่วมกัน 

 

โดยเจ้าของจะสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ตามมูลค่าตลาดของงานศิลปะนั้น ซึ่งสามารถทำแบบนี้โดยลดหย่อนภาษีไปเรื่อยๆ ตราบเท่านี้ยังเป็นเจ้าของร่วมในงานศิลปะนั้นได้นานถึง 10 ปี ก่อนที่งานศิลปะจะไปสู่การกุศลหรือพิพิธภัณฑ์อย่างถาวร

 

การแบ่งส่วนความเป็นเจ้าของงานศิลปะเป็นวิธีที่มหาเศรษฐีหาประโยชน์ทางภาษี เพื่อปกป้องความมั่งคั่งของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคเดโมแครตมองหาวิธีการเก็บภาษีแบบใหม่จากผู้มีรายได้สูง โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้สรุปกรอบการใช้จ่ายเพื่อสังคมต่างๆ ออกมา และยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องการเก็บภาษีส่วนเกินจากเศรษฐี 5% สำหรับรายได้ที่สูงกว่า 10 ล้านดอลลาร์ และอีก 3% สำหรับรายได้ที่มากกว่า 25 ล้านดอลลาร์

 

รวมถึงการที่ทุกสิ่งทุกอย่างมีมูลค่าที่สูงขึ้น ตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ ไวน์ ไปจนถึงของสะสมที่เกี่ยวกับกีฬา มูลค่าที่สูงขึ้นเหล่านี้ทำให้เหล่าเศรษฐีต้องเร่งวางแผนทางการเงินใหม่ และแผนทางการเงินที่ว่าก็ได้ทำลายความเป็นศิลปะลงไป อย่างภาพวาดอันมีค่าของ Francis Bacon ถูกขายไปเมื่อปีที่แล้วในราคา 84.6 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.8 พันล้านบาท และในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภาพวาดของ Banksy ที่เป็นภาพเด็กผู้หญิงและบอลลูนสีแดง เรียกเงินได้ถึง 25.4 ล้านดอลลาร์ หรือ 846 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดในการประมูลของศิลปินท่านนี้เลยทีเดียว มูลค่าที่สูงขนาดนี้แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาครอบครองงานศิลปะของเหล่าเศรษฐี

 

ทั้งนี้ กรมสรรพากรไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภาษีที่ถูกลดหย่อนจากวิธีการบริจาคประเภทนี้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถติดตามได้ว่ากลยุทธ์นี้สามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้มากน้อยเพียงใด และมหาเศรษฐีเหล่านี้ก็มักจะไม่ประกาศถึงการบริจาคนี้เหมือนกับคนทั่วไปที่บริจาคผลงานทั้งหมดให้กับพิพิธภัณฑ์

 

Metropolitan Museum of Art ของนิวยอร์ก, Museum of Modern Art และ Los Angeles County Museum of Art พิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในสถาบันที่รับการบริจาคแบบแบ่งส่วน อย่าง Metropolitan Museum of Art ก็มีการรับบริจาคแบบแบ่งส่วนในงานศิลปะถึง 17 ชิ้นในปีทางบัญชีนี้ ตัวอย่างที่โดดเด่นตัวอย่างหนึ่งคือภาพวาดของแม่ที่กำลังให้นมลูก โดยศิลปินโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ชาวฝรั่งเศส Paul Gauguin ซึ่งพิพิธภัณฑ์เป็นเจ้าของในงานศิลปะนี้เพียงแค่ 10% เท่านั้น ตามรายงานประจำปีสำหรับปีงบประมาณ 2019-2020 

 

Laura Beck ทนายความของ Cummings & Lockwood ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนอสังหาริมทรัพย์และการคุ้มครองความมั่งคั่ง กล่าวว่า “มันก็สมเหตุสมผลนะ เมื่อคุณไม่ต้องการเป็นเจ้าของบางสิ่งไปตลอดชีวิต แต่คุณยังสามารถแขวนมันไว้บนผนังของคุณและสนุกกับมันได้นานหลายปี”

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีกล่าวว่า การขนส่งอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก เจ้าของจะต้องหาองค์กรการกุศลที่ปกติแล้วจะเป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ต้องเข้าไปเป็นเจ้าของงานศิลปะอย่างแท้จริงภายในปีแรก เพราะการขนส่งไปๆ มาๆ ต้องเสียทั้งค่าขนส่ง ค่าประกัน ควบคู่ไปกับความเสี่ยงที่งานจะเสียหายจากการขนส่งอีกด้วย

 

การบริจาคแบบแบ่งส่วนนี้ใช้ได้ดีในช่วงก่อนปี 2006 ที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้ลดหย่อนได้น้อยลง โดยเหล่าเศรษฐียุค 2000 มักจะใช้วิธีนี้กันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจำนวนเงินที่สามารถนำไปหักลดหย่อนได้จะขึ้นอยู่กับมูลค่าตลาดของงานศิลปะนั้นๆ ณ เวลาที่ผู้บริจาคส่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่นับจากมูลค่าแรกเริ่มตั้งแต่ตอนที่เจ้าของซื้อมา เมื่องานศิลปะมีมูลค่าสูงขึ้น ความมั่งคั่งของเหล่าเศรษฐีก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน แต่หลังจากปี 2006 เหล่าเศรษฐีก็ลดหย่อนได้น้อยลง แต่วิธีการนี้ก็ยังรักษาความมั่งคั่งได้ดีอยู่

 

ราคาที่พุ่งสูงขึ้นของงานศิลปะก็มาพร้อมกับข้อได้เปรียบทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาด้านการเงินเกี่ยวกับงานศิลปะที่เพิ่มมากขึ้น การยืมเงินโดยใช้มูลค่าของงานศิลปะเป็นหลักประกัน ทำให้ผู้คนได้รับเงินสดจำนวนมากโดยไม่ต้องขายงานศิลปะนั้น ซึ่งหมายความว่าจะไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการขาย และมูลค่าของงานศิลปะก็ยังเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อีกด้วย

 

Colleen Boyle ผู้อำนวยการฝ่ายขายระดับประเทศของบริษัทที่ปรึกษา Fine Art Group กล่าวว่า มีความต้องการสินเชื่อสำหรับงานศิลปะและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมันเกี่ยวกับการจัดการความมั่งคั่งของครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นในช่วงโควิด ผู้คนก็ให้ความสนใจกับการวางแผนในอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นอีกด้วย

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X