กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวสูงขึ้น 2.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 2 ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ประกอบกับสินค้าในกลุ่มอาหารสดบางชนิด โดยเฉพาะผักสดได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ และไข่ไก่ราคายังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน
รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนนี้ ปัจจัยสำคัญนอกจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์โลกแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น
โดยในด้านอุปสงค์สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น 10% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.4 จากระดับ 42.1 ในเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะยังไม่อยู่ในระดับความเชื่อมั่น แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นในทุกภาคและทุกอาชีพ สำหรับด้านอุปทานสะท้อนได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้น 6.9%
อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรที่ราคาปรับลดลงและได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ได้ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับตัวลดลงในรอบ 15 เดือน ซึ่งอาจจะกระทบอุปสงค์ภายในประเทศและเงินเฟ้อของไทยได้ในระยะต่อไป เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) พบว่า ปรับตัวสูงขึ้น 0.21% (YoY) จาก 0.19% ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ สำหรับเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2564 สูงขึ้น 0.74% (MoM) และเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) ปี 2564 สูงขึ้น 0.99% (AoA)
รณรงค์กล่าวถึงแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2564 ว่ายังมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจาก
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เริ่มคลี่คลายในหลายพื้นที่จากการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ
- น้ำมันเชื้อเพลิง ราคายังมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงการขนส่ง
- อุทกภัยในหลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดน้อยลง และส่งผลต่อระดับราคาต่อไป สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางปกติตามปริมาณผลผลิตและความต้องการ อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดอาหารสดส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้าว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์โควิดยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังและส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.8-1.2% (ค่ากลางอยู่ที่ 1%) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP