ประเด็นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากกรณีไต้หวัน ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลังสหรัฐฯ แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะยืนหยัดเคียงข้างไต้หวันในฐานะ ‘พันธมิตร’ โดยพร้อมปกป้องไต้หวันจากการคุกคามจากจีน และสนับสนุนไต้หวันให้กลับเข้ามามีบทบาทในองค์การสหประชาชาติ (UN) อีกครั้ง ท่ามกลางท่าทีคัดค้านอย่างหนักแน่นจากจีน ที่มองไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของประเทศ
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากที่ตึงเครียดอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องการค้าและการขยายอิทธิพลในภูมิภาค อาจลุกลามบานปลายมากขึ้น ขณะที่ล่าสุด ผู้นำไต้หวันยังประกาศยืนยันการมีอยู่ของทหารอเมริกันในดินแดนไต้หวันเป็นครั้งแรก ซึ่งคาดว่าอาจส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดที่เป็นอยู่ร้าวลึกยิ่งกว่าเดิม
รายละเอียดและที่มาที่ไปของความเคลื่อนไหวตึงเครียดเหล่านี้เป็นอย่างไร THE STANDARD สรุปมาให้อ่านกัน
สหรัฐฯ ยืนยันปกป้องไต้หวัน
– ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีประเด็นเรื่องไต้หวันเป็นศูนย์กลาง ทวีความดุเดือดขึ้น นับตั้งแต่ที่จีนเพิ่มความเคลื่อนไหวทางทหารในพื้นที่ใกล้กับเกาะไต้หวันช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเพิ่มการส่งเครื่องบินกองทัพรุกล้ำน่านฟ้าของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง
– ซึ่งในช่วงวันที่ 1-4 ตุลาคม มีเครื่องบินรบและเครื่องบินกองทัพอื่นๆ ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน รวมกว่า 150 ลำ บินโฉบเข้าไปยังเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน ขณะที่กระทรวงกลาโหมไต้หวันชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันเลวร้ายมากที่สุดในรอบ 40 ปี
– ความกังวลต่อท่าทีคุกคามดังกล่าว ทำให้ทั่วโลกเกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ที่จีนอาจเปิดฉากโจมตีไต้หวัน เพื่อยึดกลับคืนมาเป็นดินแดนใต้การปกครองของจีน สอดคล้องกับท่าทีของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ที่แสดงความชัดเจนว่าจีนต้องการรวมชาติกับไต้หวัน แม้จะเน้นย้ำการดำเนินการตามหลักสันติวิธี
– คำถามดังกล่าว สะท้อนมาถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งเขาได้ตอบในรายการประธานาธิบดีพบประชาชน หรือ Presidential Town Hall ของสถานีโทรทัศน์ CNN ประกาศจุดยืนของสหรัฐฯ ในการปกป้องไต้หวันจากการโจมตีของจีน โดยชี้ว่าเป็น ‘พันธกรณีของสหรัฐฯ’ ที่จะต้องปกป้องไต้หวัน
– ขณะที่ทำเนียบขาวชี้ว่า ท่าทีของไบเดนเป็นไปตามกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ปี 1979 ที่สหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนไต้หวันในการป้องกันตนเอง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อไต้หวัน
สหรัฐฯ หนุนไต้หวันกลับมามีส่วนร่วมใน UN
– ประเด็นขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนในกรณีไต้หวัน ผุดขึ้นอีกจากกรณีที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา แสดงความเสียใจที่ไต้หวันถูกกีดกันมากขึ้นในเวทีโลก พร้อมทั้งเรียกร้องชาติสมาชิก UN ทั้งหมด ให้สนับสนุน ‘การมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง’ ของไต้หวันในเวที UN โดยยืนยันว่าการมีส่วนร่วมของไต้หวันใน UN ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง
– แถลงการณ์ของบลิงเคน มีขึ้นหลังวันครบรอบ 50 ปี ที่ไต้หวัน หรือในชื่อเดิมคือสาธารณรัฐจีน (Republic of China: ROC) ถูกโหวตให้ออกจากการเป็นสมาชิก UN เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1971 และแทนที่ด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามกลางเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ และโค่นล้มรัฐบาลของสาธารณรัฐจีน จนต้องอพยพไปยังเกาะไต้หวัน
– ขณะที่จีนประกาศคัดค้าน โดยชี้ว่าไต้หวันไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมเป็นสมาชิก UN โดย หม่าเสี่ยวกวง โฆษกประจำสำนักงานกิจการไต้หวันในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า “สหประชาชาติเป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับรัฐบาล ที่ประกอบได้ด้วยสมาชิกที่เป็นรัฐอธิปไตยต่างๆ ในขณะที่ไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีน”
ไบเดน ใช้เวทีอาเซียนหนุนไต้หวัน คัดค้านจีน
– นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดน ได้กล่าวในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ซึ่งมีผู้นำ 18 ชาติเอเชียแปซิฟิก รวมชาติอาเซียน จีน สหรัฐฯ และรัสเซีย เข้าร่วมประชุมเมื่อวานนี้ (27 ตุลาคม) โดยชี้ถึงการกระทำของจีนในการคุกคามไต้หวันช่วงไม่นานนี้ว่า เป็นการบีบบังคับและคุกคามสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
– ถ้อยแถลงของไบเดนที่เข้าร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล มีขึ้นต่อหน้าหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งหลี่ไม่ได้ตอบโต้ข้อกล่าวหาของผู้นำสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมา แต่กล่าวต่อที่ประชุม โดยเน้นย้ำการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ตลอดจนเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน ว่าเป็นผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
ไต้หวันยอมรับมีทหารอเมริกันอยู่ในดินแดนของตน
– ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงของไต้หวัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNN ชี้ว่าภัยคุกคามจากจีนนั้นกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น ‘ทุกๆ วัน’ พร้อมระบุว่าประชาชนไต้หวันกว่า 23 ล้านคน พยายามอย่างหนักในการปกป้องตนเองและปกป้องระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพ โดยชี้ว่าไต้หวันนั้นเป็น ‘ไฟสัญญาณ’ ของประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องปกป้อง เพื่อธำรงไว้ซึ่งรักษาศรัทธาที่ทั่วโลกมีให้กับค่านิยมประชาธิปไตย
– ไช่ยังเปิดเผยต่อ CNN ว่า มีทหารของกองทัพสหรัฐฯ อยู่ในไต้หวันเพื่อปฏิบัติภารกิจฝึกซ้อม แต่ไม่เปิดเผยจำนวนและไม่ระบุว่ามีการประจำการถาวรหรือไม่ ซึ่งเธอถือเป็นประธานาธิบดีไต้หวันคนแรกที่ยอมรับการมีอยู่ของทหารอเมริกันบนแผ่นดินไต้หวัน หลังจากที่ทหารสหรัฐฯ กลุ่มสุดท้ายที่อยู่ในไต้หวันอย่างเป็นทางการได้ถอนกำลังออกไปเมื่อปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่วอชิงตันเปลี่ยนไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่ง
– การยอมรับเรื่องทหารอเมริกันในไต้หวันของไช่ เกิดขึ้นหลังจากที่ The Wall Street Journal รายงานว่า มีนาวิกโยธินของกองทัพสหรัฐฯ อยู่ในไต้หวันมาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งหนังสือพิมพ์ Global Times ของทางการจีน กล่าวหาไช่ว่าพยายามกดดันให้รัฐบาลปักกิ่งแก้ปัญหาเรื่องไต้หวันด้วยการใช้กำลัง
– ขณะที่ ชิวกั๋วเจิ้ง รัฐมนตรีกลาโหมไต้หวันเผยว่า ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางทหารระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ นั้นมีค่อนข้างมากและค่อนข้างบ่อย โดยดำเนินมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว
ภาพ: Photo by Ceng Shou Yi / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.washingtonpost.com/national-security/2021/10/26/us-taiwan-china/
- https://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/taiwan-china-biden-tsai/2021/10/28/89f040a6-3797-11ec-9662-399cfa75efee_story.html
- https://www.aljazeera.com/news/2021/10/27/china-says-taiwan-has-no-right-to-join-un-after-us-nod
- https://edition.cnn.com/2021/10/27/asia/tsai-ingwen-taiwan-china-interview-intl-hnk/index.html
- https://www.reuters.com/world/blinken-urges-all-un-member-states-support-taiwan-participation-2021-10-26/
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/summit-with-se-asia-japan-champions-open-seas-australia-defends-aukus-pact-2021-10-27/
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/biden-says-united-states-would-come-taiwans-defense-2021-10-22/
- https://www.asahi.com/ajw/articles/14469311