ยังแรงดีไม่มีแผ่วอย่างแท้จริงสำหรับ KBTG หรือ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป โรงงานผู้พัฒนานวัตกรรมและอยู่เบื้องหลังทุกเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย หลังจากที่ตลอดปี 2021 ที่ผ่านมา พวกเขาได้เปิดตัวนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
จากจุดเริ่มต้นของบริษัทเทคโนโลยีที่ก่อตั้งขึ้นและสปินออฟออกจากธนาคารกสิกรไทยในปี 2016 เพื่อพัฒนาและประสานศักยภาพด้านเทคโนโลยีให้กับบริษัทแม่ มาวันนี้ KBTG ได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยที่แข็งแกร่ง ดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่องค์กรได้อย่างต่อเนื่อง (ได้รับรางวัล Best Company to Work for จาก HR ASIA ในปี 2020 และ 2021) และยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกสิกร พาร์ตเนอร์ธุรกิจ และสังคมไทยได้อย่างมหาศาล
แต่ในวันที่คลื่นดิสรัปชันได้ย่นระยะเวลาเกิดเร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัวจากพิษโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจ แม้แต่บริษัทเทคโนโลยีก็ต้องเพิ่มสปีด ยกระดับอัตราเร่งและฝีก้าวของตัวเองเพื่อให้สอดรับทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกันกับ KBTG ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่แชปเตอร์ถัดไปของตัวเองเช่นกัน โดยที่ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา พวกเขาก็เพิ่งเปิดตัวแผนการของบริษัทภายใต้แนวคิด The Next Chapter of KBTG
ส่วนจะมีอะไรที่น่าสนใจ จะว้าวแค่ไหน THE STANDARD สรุปประเด็นสำคัญและข้อมูลที่คุณต้องรู้เอาไว้ให้แล้ว
The Next Chapter of KBTG เราจะได้เห็นอะไรจากโรงผลิตนวัตกรรมนี้?
กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงโรดแมปบริษัทในระยะปัจจุบัน ซึ่งกินช่วงเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2019-2021 โดยนิยามว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการทรานฟอร์มและการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในสภาวะวิกฤต (Transformation & Rise in Crisis Years) สืบเนื่องจากการทำ Modernization ตัวเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ใช้แนวทางการ Synergy เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของบุคลากรองค์กรให้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว พร้อมเปิดประตูแห่งการเติบโตไปสู่ระดับภูมิภาค (บุกไปจีนและเวียดนาม)
ปัจจุบัน KBTG มีบุคลากรในบริษัทรวมกว่า 2,000 ราย โดยมีแผนกในองค์กรอยู่หลากหลาย ตั้งแต่ฃ
- KBTGSec – แผนกที่ดูงานด้านการวางกลยุทธ์, ความปลอดภัยไซเบอร์, แบรนดิ้ง และบุคลากร
- KInfra – บริการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานเพื่อตอบสนองความต้องการของกสิกรไทยที่มีจำนวนการทำธุรกรรมไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านครั้งต่อปี รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรอื่นๆ ในฐานะพาร์ตเนอร์
- KSoft – ทีม Dev นักพัฒนาซอฟต์แวร์กว่า 1,100 ราย ดูแลแอปพลิเคชันมากกว่า 400 ตัว
- Beacon Interface – ทีมดูแลดีไซน์ UX และ UI
- KLabs – ทีมที่วิจัยด้าน Deep Tech พัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทำงานด้าน AI และ Data Science รวมถึง Co-Innovation ร่วมกับองค์กรอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ
- ***KX*** – เป็น New S-Curve Venture Builders ของ KBTG ที่จะลุยหาน่านน้ำ สร้างโอกาสจากธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับองค์กร (ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2018)
- Kubix – กลุ่มธุรกิจที่ดูแลด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่สปินออฟออกมาจาก KX เมื่อปี 2020
- KTech – กลุ่มธุรกิจของ KBTG ในจีน (เดิมคือ Kai Tai Tech) โดยปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 1 ล้านราย มียอดการจองสินเชื่อมากกว่า 1 พันล้านหยวน โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์เฉลี่ยเดือนละ 1 ตัว ทั้งๆ ที่ยังไม่สามารถเดินทางไปจีนได้เต็มรูปแบบด้วยซ้ำ
เรืองโรจน์ย้ำต่อว่า แนวทางของ KBTG ในวันนี้จะให้ความสำคัญใน 3S นั่นคือ Speed, Scale และ Synergy เพื่อสร้างเทคโนโลยีที่ Empower ผู้คนและสังคมด้วยความสะดวกสบาย ความอัจฉริยะ นวัตกรรมล้ำสมัย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงให้กับผู้คนอย่างหลากหลายโดยไร้ซึ่งข้อจำกัด และเปรียบองค์กรของตัวเองเป็นเสมือน ‘ลมใต้ปีก’ ของธนาคารกสิกรไทยที่จะช่วยให้เกิดโอกาสในการเติบโตได้อย่างมหาศาล
KX ฐานปล่อยจรวดนวัตกรรมแห่งใหม่ สร้าง New S-Curve ให้กสิกรไทย
ประเด็นที่สำคัญที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นประเด็นการให้ความสำคัญกับ ‘บล็อกเชน’ และโลกการเงินแบบ DeFi ที่พวกเขาเริ่มต้นทำอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2016 ก่อนจะได้รับอนุมัติจากทาง ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้สามารถดำเนินธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลตั้งแต่ปีที่แล้ว
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้เกิดบริษัทใหม่ในชื่อ KX (KASIKORN X) หรือ กสิกร เอกซ์ (https://kx.tech) ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการเป็นบริษัทลูกใน KBTG ตั้งแต่ปี 2018 ก่อนจะเริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดได้แยกตัวสปินออฟออกจาก KBTG มาดำเนินธุรกิจเป็นบริษัทแรกเป็นที่เรียบร้อย เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความลีนในแง่การดำเนินการ
KBTG อธิบายเพิ่มเติมว่า KX คือ Autonomous Venture Builder ด้าน Decentralized Finance and Beyond ที่จะมุ่งเน้นการสร้างธุรกิจใหม่ในด้านบริการทางการเงิน (Financial Service) และบริการอื่นๆ (Non-Financial Service) โดยมีภารกิจหลักคือการ ‘Building Trust in the Trustless World’ หรือการสร้างความเชื่อมั่นในโลกที่ปราศจากความน่าเชื่อถือ
ซึ่งแม้ว่า KX จะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นอิสระ แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนในระดับภูมิภาคเอเชียจากกลุ่ม KBank และ KBTG ส่วนโมเดลการดำเนินงานของ KX จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ
- Incubate การเพาะบ่มนวัตกรรมและโซลูชันด้านเทคโนโลยีต่างๆ
- Scale การยกระดับสเกลอัพสตาร์ทอัพนวัตกรรมนั้นๆ
- Spin แยกตัวออกมาตั้งบริษัทธุรกิจใหม่
จินตนาการให้เห็นภาพง่ายๆ คือ หากเปรียบ KX เป็นจรวดลำหนึ่ง จรวดลำนี้แม้จะสร้างขึ้นโดยบรรพบุรุษอย่างธนาคารกสิกรไทย และ KBTG แต่ ณ วันนี้ จรวดลำนี้ก็แยกตัวออกมาตั้งอาณานิคมใหม่ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของตลาดและโลกการเงินที่เปลี่ยนไปเข้าสู่โลกของ DeFi ภายใต้ภารกิจในการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับตลาด นักลงทุน ผู้บริโภค
แล้วเจ้าจรวดลำนี้ก็มียานลูกในเครืออีกมากมายที่พร้อมจะแยกตัวออกมา กระจายตัวไปสร้างอาณานิคมของตัวเองในกลุ่มธุรกิจการเงิน โลกดิจิทัลใหม่ๆ หากพบว่าตลาดและธุรกิจน้ันๆ มีช่องว่างของโอกาสและศักยภาพมากพอ เช่นตัวอย่างของ Kubix ที่สปินออฟออกจาก KX ออกมาดำเนินธุรกิจ ICO Portal ของตัวเองได้สำเร็จแล้ว
‘Coral’ แพลตฟอร์ม NFT ใหม่ล่าสุดที่สปินออฟออกจาก KX ตาม Kubix แบบหายใจรดท้ายทอย
ความท้าทายล่าสุดของ KX และ KBTG คือการที่พวกเขาได้เปิดตัว Coral (https://coralworld.co) แพลตฟอร์มซื้อขายผลงานศิลปะดิจิทัลแบบ NFT Marketplace เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงผลงานศิลปะชั้นสูงให้กับนักลงทุนและผู้ใช้งานทุกคนแบบไร้ข้อจำกัด สะดวก น่าเชื่อถือ และปลอดภัย
หัวใจสำคัญที่ทำให้ Coral โดดเด่นและมีจุดแข็งต่างจากแพลตฟอร์ม NFT Marketplace อื่นๆ คือการที่ KX เปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถซื้อขายผลงานศิลปะดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น เพลง, ดนตรี, งานกราฟิก, วิดีโอ ฯลฯ ได้อย่างสะดวกสบายด้วยการใช้เงินทั่วๆ ไป (Fiat Money) อย่างเงินบาทหรือเงินดอลลาร์สหรัฐ ผ่านบัตรเครดิต, เดบิต หรือ Mobile Payment โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกระเป๋าเงินคริปโตฯ ของตัวเองแต่อย่างใด แต่ยังคงอยู่บนมาตรฐานของ Ethereum Standard ซึ่งเป็น Global Standard ระดับโลก
และเคลมว่ากระบวนการซื้อผลงาน NFT นั้นสามารถทำได้เสร็จเพียงแค่ 10 คลิก หรือ 5 นาทีเท่านั้น ทำให้แม้กระทั่งคนที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี ศิลปิน และแบรนด์ ก็สามารถซื้อ-ขายผลงาน NFT ได้ง่ายดายโดยไร้กำแพงอุปสรรค โดยวิธีการเมื่อออนบอร์ดแล้วสามารถขายผลงานได้ด้วย 3 ขั้นตอน คือ อัปโหลด, ตั้งราคา และอนุมัติให้กับแพลตฟอร์มทำการ Mint NFT และโอนย้ายขายให้แทนศิลปิน
แต่ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย เพราะ Coral จะมีการคัดกรองตัวศิลปินที่นำงานเข้ามาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มว่าเป็นศิลปินตัวจริง ตัวงานที่เอามาขายบน Coral ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Authentic NFT
นอกเหนือจากนี้ อีกจุดเด่นสำคัญคือ Coral จะไม่มี Upfront Cost ซึ่งโดยปกติแล้ว แพลตฟอร์ม NFT Marketplace ทั่วๆ ไปจะทำการแปลงชิ้นงานนั้นๆ ให้เป็น NFT ตั้งแต่เริ่มเลย ทำให้แม้จะยังขายไม่ออก ตัวศิลปินที่นำผลงานอัปขึ้นระบบขายก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายแล้ว
ขณะที่บน Coral นั้นจะใช้วิธีแบบ Lazy Minting แปลงงานศิลปะนั้นๆ เป็น NFT ต่อเมื่อขายได้แล้วเท่านั้น โดยโมเดลการทำเงินของ Coral คือการหักค่าธรรมเนียมจากการซื้อขาย และตัวศิลปินก็ยังต่อยอดเพิ่มการสร้างรายได้จากผลงานชิ้นน้ันๆ ได้ด้วยการใส่เงื่อนไขโมเดล Royalty Fee ที่เมื่อเกิดการซื้อขายต่อๆ ไป ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานจะสามารถหัก % จากการขายเพิ่มเติมได้ตามกำหนด ซึ่งจะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการร่วมผลักดันโอกาสการเติบโต การต่อยอดผลงานศิลปินไทยให้ได้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก และเสริมแกร่งระบบนิเวศของอุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์ไทยให้อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
เท่านั้นยังไม่พอ Coral ยังได้ร่วมมือกับสยามพิวรรธน์ สร้างสะพานเชื่อมโลกคู่ขนานออนไลน์-ออฟไลน์เข้าด้วยกัน โดยนำผลงานศิลปะ NFT มาจัดแสดงบน NFT Innovation Digital Wall ที่สยามพารากอน และไอคอนสยาม เพื่อสร้าง Awareness และความครึกครื้นให้กับผลงานศิลปะดิจิทัล
อักเซล วินเทอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เผยถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับ KX และ KBTG ในครั้งนี้ว่า “เราอยู่ในยุคของเทคโนโลยีดิสรัปชันที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกภูมิภาค ไม่ใช่แค่ในซิลิคอนแวลลีย์อีกต่อไป ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือการเปิดโอกาสสำหรับการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้การทำงานร่วมกันแบบ Partnership ข้ามอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาธุรกิจบริการใหม่ๆ ให้ง่ายขึ้น และลดแรงเสียดทาน เพิ่มโอกาสใหม่ๆ
“สิ่งที่สำคัญมากๆ ไม่แพ้กันคือการที่เราจะต้องรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เร่งด่วนและต้องทำให้ไว ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคให้ทัน และเราก็มองว่า NFT คือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ โดยที่ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับ KX และ KBTG เราทำงานร่วมกันมานานแล้ว และสยามพิวรรธน์ก็จะนำประสบการณ์ด้านการเป็นผู้นำธุรกิจไลฟ์สไตล์มาเสริมให้กับ KBTG”
พอล-ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Head of Venture Builder, KASIKORN X Co.,Ltd. กล่าวเพิ่มเติมในงานแถลงข่าวการเปิดตัว Coral ว่า นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของ KX และ KBTG ที่จะนำพาทุกคนเข้าสู่โลก DeFi ทางการเงินได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย ก่อนจะเปิดจักรวาลไปสู่โลก Metaverse ในอนาคตอันใกล้
“ปัจจุบันเริ่มมีแบรนด์ต่างๆ ที่ให้ความสนใจเข้ามาพูดคุยกับ KX ถึงความเป็นไปได้ในการนำสินค้าและบริการมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม Coral แล้ว ท้ังนี้ ตลาด NFT ในไทยกำลังเติบโตอย่างมหาศาล มีขนาดหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเค้กกำลังโตในระดับ Tripple Digit (3 หลัก) ในทุกๆ ปี”
ทั้งนี้ ในระยะแรก Coral จะเปิดให้ผู้ใช้งานทำได้แค่การซื้อผลงานศิลปะ NFT และจัดโชว์เคสผ่านหน้าโปรไฟล์ของตัวเองได้เท่านั้น ก่อนที่ในเฟสถัดไปในอนาคต จะมองถึงความเป็นไปได้ในการอนุมัติให้ตัวนักสะสมสามารถทำการเทรดซื้อขายผลงานผ่านแพลตฟอร์มได้ด้วย
ด้านเรืองโรจน์กล่าวถึงอนาคตและเทรนด์ Metaverse ว่า เป็นเทรนด์ที่จะมาแน่นอน โดยตนเคยพูดเอาไว้ว่าเราจะได้เห็นนวัตกรรมโลกอนาคตนี้เริ่มเทกออฟในปี 2024 และจะแปลงสินทรัพย์ในโลกดิจิทัลให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นก็เช่น ในอนาคตที่ดินบนโลก Metaverse อาจจะมีมูลค่าสูงแซงมูลค่าที่ดินในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยซ้ำ
“ผมเชื่อว่าถัดไปต่อจากโลก Metaverse มันจะเป็นการผสานเทรนด์นี้ให้เข้ากับเทคโนโลยีอื่นๆ และจะเปิดโอกาสมหาศาลสำหรับคนที่เป็นครีเอเตอร์และเพลเยอร์ในโลกใหม่ๆ สร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ๆ จนนำไปสู่เศรษฐกิจใหม่ในโลกดิจิทัล ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำในตอนนี้คือการ Reimagine” เรืองโรจน์กล่าวทิ้งท้าย