กะพริบตาไม่กี่ทีเราก็ต้องเตรียมตัวบอกลาปี 2017 กันแล้ว และถ้าคุณกำลังวางแผนแต่งบ้านรับปีใหม่หรือกำลังหาซื้อของแต่งบ้านเป็นของขวัญให้ใครบางคนประทับใจอยู่ ไอเท็มสายไม้สายทรอปิคัลที่กำลังฮิตอยู่ในท้องตลาดอาจยังพิเศษไม่พอ ลองมาทำความรู้จักกับ Saint Louis ผู้ผลิตเครื่องแก้วคริสตัลชั้นนำจากฝรั่งเศสที่เพิ่งเปิดตัวคอลเล็กชันโคมไฟและแจกันคริสตัลใหม่ต้อนรับเทศกาลเฉลิมฉลองนี้ และ THE STANDARD มีโอกาสได้ไปชมคอลเล็กชันนี้อย่างใกล้ชิดกับ ‘เจโรม ฟูเชอราส์ เดอ ลาแวร์ญอลล์’ (Jérôme de Lavergnolle) ผู้บริหารแบรนด์ที่บินตรงจากปารีสมาเพื่อการนี้
ถ้าพูดถึงโคมไฟแชนเดอเลียร์คริสตัล หลายคนอาจมีภาพในหัวผุดขึ้นมาเหมือนกัน เป็นภาพคฤหาสน์ของแม่พระเอกในละครหลังข่าว พ่วงด้วยภาพบริวารรับใช้ที่กำลังปัดกวาดเช็ดถูเฟอร์นิเจอร์ทองสไตล์พระเจ้าหลุยส์ แต่หลังจากที่คุณเจโรมได้พาเราเดินดูสินค้าแต่ละชิ้นแล้ว ภาพบ้านในละครแบบนั้นก็ถูกลืมไปทันที
“แม้ว่าแบรนด์จะเริ่มผลิตแก้วมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 โดยมีช่างเป่าแก้วและช่างเจียระไนชำนาญการที่การันตีด้วย Meilleurs Ouvriers de France รางวัลงานฝีมือช่างสูงสุดของฝรั่งเศส แต่เราไม่เคยหยุดพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและดีไซน์ให้ทันยุคสมัย เราอาศัยการนำความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากสมัยเก่ามาผสานเข้ากับจินตนาการทางศิลปะสมัยใหม่” เจโรมเล่าถึงต้นกำเนิดของแบรนด์อย่างคร่าวๆ ก่อนจะโยงถึงวิสัยทัศน์ของแบรนด์ที่ไม่ยึดติดกับขนบดั้งเดิมด้วยการเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์เลือดใหม่ๆ เข้ามาสร้างสรรค์คอลเล็กชันอยู่เสมอ
“ไอเดียสดใหม่จากดีไซเนอร์ที่เราชวนมาออกแบบทำให้เราต้องทดลองวิธีการผลิตใหม่ๆ ตามไปด้วย ดีไซเนอร์บางคนถึงกับมาใช้เวลาอยู่ในโรงงานกว่าสัปดาห์จึงจะได้ดีไซน์ใหม่ขึ้นมา อย่างโคมไฟคริสตัลรุ่น Matrice ที่เปิดอ้าสองด้านได้ ดีไซเนอร์สาวชาวดัตช์ กิกิ ฟาน ไอจ์ค (Kiki Van Eijk) ก็ปิ๊งไอเดียขึ้นตอนเธอเห็นช่างกำลังแทงเหล็กหลอมคริสตัล โคมไฟรุ่นนี้จึงมองดูคล้ายกับคริสตัลที่คาอยู่ตรงปลายเหล็กหลอม” เจโรมยกตัวอย่างให้เห็นภาพแนวคิดการดีไซน์ที่ยืดหยุ่นและร่วมสมัยของแซงต์หลุยส์ก่อนจะเชิญชวนเราไปเยี่ยมชมโรงงานบ้าง “จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ดีไซเนอร์นะครับที่เข้าไปได้ โรงงานของเราเปิดเป็นมิวเซียมด้วย ใครมีโอกาสได้มาที่แคว้นลอร์แรน (Lorraine) ก็แวะเข้ามาได้ โรงงานอยู่ห่างจากปารีสแค่ 2-3 ชั่วโมงเอง” เขาเสริม
ส่วนคอลเล็กชัน Tommy ของปี 2018 ที่เจโรมบินมาเปิดตัวถึงเมืองไทยก็ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานดีไซน์ร่วมสมัยที่เกิดจากการนึกสนุกอยากดัดแปลงเครื่องแก้ว ซึ่งเริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 1928 เป็นเครื่องแก้วบนโต๊ะอาหารที่เคยใช้เสิร์ฟในงานเลี้ยงรับรองที่พระราชวังแวร์ซายส์มาแล้ว
“มันก็มาจากการนึกสนุกของเราอีกนั่นแหละ เราเห็นว่าลายเจียระไนรูปเพชรบนแก้วพวกนั้นคงจะสวยและโดดเด่นกว่าเดิม ถ้าถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นของแต่งบ้านชิ้นใหญ่อย่างโคมไฟตั้งโต๊ะและแจกัน ลายเจียระไนของมันจะเพิ่มประกายระยับให้มุมรับแขกในบ้านของคุณได้อย่างพอดี ไม่ดูเยอะเกินไป”
ทว่ากระแสนิยมในการแต่งบ้านตอนนี้เหมือนจะหันไปทางสายมินิมัลกันหมด วัตถุระยิบระยับเหล่านี้จะเข้าไปแทรกตัวอยู่ในนั้นได้อย่างไร คนที่ซื้อไปแต่งบ้านต้องอายุขึ้นเลข 4 เลข 5 เท่านั้นหรือเปล่า? เจโรมเองได้ไขข้อข้องใจเราในจุดนั้นให้เราแล้ว
“สำหรับผมการแต่งบ้านคือการสนุกกับการทดลอง หลายครั้งที่ความลงตัวเกิดจากการลองเลือกหยิบข้าวของเครื่องใช้จากต่างที่มาไว้ด้วยกัน อย่างเครื่องคริสตัลก็ไม่ใช่เครื่องประดับชิ้นขลังสำหรับพระราชวังหรือคฤหาสน์อีกต่อไป มันสามารถกลายมาเป็นพระเอกในห้องแบบสแกนดิเนเวียมินิมัลก็ได้ คริสตัลกับไม้เองก็อยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัวอย่างที่เราพิสูจน์มาแล้วกับโคมไฟไม้แอชในคอลเล็กชันโฟเลีย” เจโรมแนะนำทิปส์ในการเลือกแต่งบ้านด้วยเครื่องคริสตัล ก่อนจะเสริมปิดท้ายว่า ความสนุกในการแต่งบ้านต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ “ผมว่ามันหมดยุคแล้วที่คนต้องเลือกซื้อสินค้าตามแบบที่จำกัด พวกเขาควรได้สนุกกับการปรับแต่งสินค้าที่จะเข้าไปอยู่ในบ้านพวกเขาไปอีกนาน ถ้าคุณชอบแชนเดอเลียร์รุ่นหนึ่งแต่ไม่ชอบทรงหลอดไฟที่มากับมัน อยากเปลี่ยนสีคริสตัล หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนวัสดุตัวยึด คุณก็สามารถทำได้”
อยากรู้ว่าเทคนิคที่กล่าวมานี้จริงไหม ให้ลองไปชมกันได้ที่ Saint Louis ชั้น 3 สยามพารากอน แล้วคุณอาจจะหลงใหลไปกับลายเจียระไนสุดละเมียดของมัน จนลืมภาพคฤหาสน์แบบในละครปริศนาไปเลย
Photos: Saint Louis