×

#OleOut โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ กับวิกฤตศรัทธาครั้งรุนแรงที่สุด

20.10.2021
  • LOADING...
OleOut

ดูเหมือนสถานการณ์ภายในทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะเปลี่ยนผันอย่างรวดเร็ว โดยหลังจากที่พวกเขาคว้าตัว คริสเตียโน โรนัลโด กลับมาร่วมทีมได้อย่างยิ่งใหญ่ กับความหวังที่จะสามารถกลับมาผงาดเป็นทีมอันดับหนึ่งของอังกฤษอีกครั้ง

 

วันนี้ ‘ปีศาจแดง’ ไม่ชนะในพรีเมียร์ลีกติดต่อกันเป็นเกมที่ 3 และผลงานในช่วงเดือนที่ผ่านมาไม่ต่างอะไรจากฝันร้าย 7 นัดหลังสุดพวกเขาคว้าชัยชนะได้แค่ 2 นัดเท่านั้น โดยในชัยชนะทั้งสองนัดนั้นเป็นการรอดตัวแบบหวุดหวิดในเกมที่ มาร์ค โนเบิล ยิงจุดโทษพลาดทำให้เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่เล่นดีกว่าแพ้ และอีกนัดโรนัลโดยิงประตูชัยให้ทีมเอาชนะบียาร์เรอัลในช่วงนาทีสุดท้ายของการทดเวลาบาดเจ็บ

 

และหลังจากที่รอดตัวมาหลายนัด ในเกมกับเลสเตอร์ ซิตี้ เราได้เห็นภาพของแมนฯ ยูไนเต็ดที่ล้มเหลวแทบทุกจุดในพื้นที่ของสนาม (ยกเว้น ดาบิด เด เคอา ที่หากไม่งัดฟอร์มยอดเยี่ยมออกมาบางทีสถานการณ์ของทีมอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้)

 

นี่คือสถานการณ์ที่อาจจะเรียกว่าเลวร้ายที่สุดของแมนฯ ยูไนเต็ด ภายใต้การนำของโอเล กุนนาร์ โซลชาร์ นับตั้งแต่ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของฤดูกาล 2018-19 หลังจากที่เขาเพิ่งได้รับสัญญาให้เป็นผู้จัดการทีมแบบเต็มตัว และอาจจะเรียกได้ว่าให้ความรู้สึกคล้ายกับช่วงเดือนท้ายๆ ของ โฆเซ มูรินโญ ในโอลด์แทรฟฟอร์ด ก่อนที่กุนซือชาวนอร์เวย์จะเข้ามารับงานต่อเลยทีเดียว

 

แน่นอนว่าโซลชาคือคนที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดในเวลานี้ มันเกิดอะไรขึ้น และเขาจะเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้เหมือนที่ผ่านมาหรือไม่?

           

  1. ไม่มีระบบและโครงสร้าง

 

จากเกมกับเลสเตอร์ สิ่งที่สื่อทุกสำนักพูดถึงตรงกันคือปัญหาใหญ่ที่สุดของแมนฯ ยูไนเต็ดที่มีมาช้านานภายใต้การคุมทีมของโซลชาร์

 

สิ่งนั้นคือการที่เขาไม่มีระบบ แผน หรือโครงสร้างที่ชัดเจนและดีพอสำหรับทีม

 

ในช่วงที่ผ่านมา – หรืออาจจะพูดได้ว่านับตั้งแต่ได้ บรูโน แฟร์นันด์ส เข้ามาสู่ทีมในช่วงต้นปี 2020 – แมนฯ ยูไนเต็ดมักจะเก็บผลการแข่งขันที่ดีได้เสมอ โดยที่มีหลายต่อหลายครั้งที่ทีมไม่ได้เล่นดี แต่ที่สุดแล้วจะมีใครสักคนในทีมที่ ‘เสก’ อะไรบางอย่างออกมา และทำให้ทีมคว้าชัยชนะหรืออย่างแย่คือเสมอได้

 

บ้างก็มีการเรียกว่าเป็น ‘Ole Time’ เหมือนอดีตเจ้านายในตำนานอย่าง เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่แมนฯ ยูไนเต็ดจะทำประตูในช่วงนาทีเป็นนาทีตายได้เสมอ

 

แต่ในฤดูกาลนี้ดูเหมือนสิ่งเหล่านั้นจะเริ่มลดลงไป พร้อมกับปัญหาที่ชัดเจนขึ้นคือ โซลชาร์ไม่สามารถคิดระบบ วิธีการเล่น หรือโครงสร้างที่จะรองรับกับเหล่านักเตะชั้นยอดที่มีในเวลานี้ได้ ไม่รู้ว่าจะจัดทีมอย่างไรให้เล่นได้ดีและลงตัวที่สุด

 

ภาพสะท้อนที่ตรงข้ามและชัดเจนคือเลสเตอร์ของ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ซึ่งความจริงในฤดูกาลนี้เริ่มต้นได้ไม่ดีนัก แต่ในเกมที่คิง เพาเวอร์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาพวกเขาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีแผนในใจว่าจะเล่นกันแบบไหน เล่นอย่างไร จะป้องกันจุดไหน จู่โจมอย่างไร

 

ร็อดเจอร์สเริ่มตั้งแต่การปรับมาใช้ระบบกองหลัง 3 คน ใช้วิงแบ็กสองข้างเล่นงาน ให้ ยูริ ตีเลอมองส์ และเจมส์ แมดดิสัน สร้างสรรค์เกมโดยมีความเร็วของ เจมี วาร์ดี และเคเลชี อิเฮียนาโช (แพตสัน ดากา ในช่วงท้าย) คอยปั่นป่วนแนวรับ

 

ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด เหมือนแค่ส่งนักเตะชั้นยอดอย่างโรนัลโด, บรูโน, เมสัน กรีนวูด และจาดอน ซานโช ลงไปกองรวมกันเฉยๆ ในเกม และหวังว่าจะมีใครสักคนสร้างอภินิหารออกมา ซึ่งความจริงก็เกิดขึ้นแล้วจากลูกยิงไกลสุดเหลือเชื่อของกรีนวูดที่เป็นประตูขึ้นนำ และประตูตีเสมอของ มาร์คัส แรชฟอร์ด เพียงแต่ยูไนเต็ดอ่อนแอเกินกว่าจะสู้กับความดุดันของฝูงจิ้งจอกไหว

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกอย่างคือ จาดอน ซานโช ที่ดูเล่นผิดที่ผิดทางไม่เป็นตัวของตัวเอง แตกต่างจากในวันที่อยู่กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ หรือแม้แต่กับทีมชาติอังกฤษในระยะหลัง เพียงแต่กับแมนฯ ยูไนเต็ด สตาร์จอมเทคนิคไม่มีใครที่จะสนับสนุน ไม่มีคนวิ่งทำทางให้ กลายเป็นเล่นเหมือนไม่ได้ซ้อมมากับเพื่อน

 

เรื่องนี้คือปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับแมนฯ ยูไนเต็ดของโซลชาร์ในเวลานี้ เพราะถ้าเขาไม่มีคำตอบในเรื่องนี้จริงๆ สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายขึ้น

 

  1. โรนัลโด ความหวังหรือปัญหา?

 

อีกหนึ่งเรื่องที่มีการพูดถึงกันตั้งแต่วันที่โรนัลโดกลับมาโอลด์ แทรฟฟอร์ดอีกครั้งแล้ว คือผลกระทบของซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุเกสที่จะมีต่อแมนฯ ยูไนเต็ด

 

ก่อนหน้าที่ CR7 จะกลับบ้านนั้น ทีมของโซลชาร์ไม่ถึงกับเป็นทีมที่เล่นโดยไร้แบบแผน ถึงจะไม่ดุดันจัดแต่ก็พอจะมองเห็นการสอดประสานในเกมรุกบ้าง โดยเฉพาะหากมีกองหน้าที่ขยันอย่าง เอดินสัน คาวานี ลงสนามด้วย

 

คาวานีแม้จะอายุ 34 ปี แต่ยังคงฟิตและความเก๋าเกมของเขาสามารถสร้างช่อง เปิดโอกาสให้ตัวเองหรือเพื่อนร่วมทีมได้ตลอดเวลา ทำให้ในช่วงปลายฤดูกาลที่แล้วแมนฯ ยูไนเต็ด กลายเป็นทีมที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

 

แต่ในฤดูกาลนี้เมื่อโรนัลโดมายึดตำแหน่งศูนย์หน้าไป แม้ส่วนตัวดาวยิงวัย 36 ปีจะยังรักษามาตรฐานการผลิตสกอร์ได้ดี และเป็นฮีโร่ของทีมได้ในบางนัด แต่ผลกระทบที่ตามมาคือการเพรสซิ่งของทีมที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากตัวของโรนัลโดแทบจะไม่เพรสซิ่งอยู่แล้ว (เป็นสไตล์ของเขาเอง) โดยค่าเฉลี่ยในการเล่น 90 นาทีจะเพรสที่ 2.65 ครั้ง (ปีกลายกับยูเวนตุสอยู่ที่ 6.75 ครั้ง) ซึ่งเทียบไม่ได้กับคาวานีที่จะเพรสซิ่ง 8.18 ครั้งในฤดูกาลนี้ และหากเป็นฤดูกาลที่แล้วจะสูงถึง 13.7 ครั้ง

 

ในภาพรวมทีมเองการเพรสซิ่งก็ลดลงด้วย โดยฤดูกาลที่แล้วมีการเพรสซิ่ง 132.7 ครั้งต่อ 90 นาที (อ้างอิงจาก FBRef.com) แต่ในฤดูกาลนี้ตัวเลขลดลงเหลือแค่ 117.3 ครั้งเท่านั้น

 

มันชวนให้คิดย้อนกลับไปถึงในช่วงตลาดการซื้อขายรอบที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่ได้ตัวซานโช, ราฟาเอล วาราน มาแล้ว พื้นที่สำคัญที่โซลชาต้องการนักเตะเข้ามาเสริมคือแดนกลาง (ซึ่งมีข่าวกับนักเตะอย่าง ดีแคลน ไรซ์ จากเวสต์แฮม) แต่เขากลับได้โรนัลโดมาอย่างไม่คาดฝันแทน

 

หากเปลี่ยนจากโรนัลโดเป็นกองกลางอย่างไรซ์ หรือใครอื่นจะดีกว่านี้ไหม? เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ได้

 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถบอกได้ว่านี่เป็นความผิดของโรนัลโดที่ทำให้แมนฯ ยูไนเต็ดเป็นแบบนี้?

 

มันคือคำถามสำหรับโซลชาว่าเขาจะหาวิธีการแก้ไขปัญหาการเพรสซิ่งของทีมที่ลดลงอย่างไร รวมถึงเขาได้ใช้ประโยชน์จากสุดยอดศูนย์หน้าในกรอบเขตโทษที่ดีที่สุดในโลกเวลานี้ได้เต็มที่หรือยัง

 

ดูจากในเกมกับเลสเตอร์ที่โรนัลโดแทบไม่ได้เข้าในกรอบเขตโทษ และต้องถ่างออกมาเล่นริมเส้นหรือลงต่ำมาขอบอลเล่น ดูเหมือนว่าโซลชาร์จะยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้

 

  1. คลื่นใต้น้ำที่น่ากังวล

 

แต่ปัญหาใหม่ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อโซลชามากไม่แพ้เรื่องอื่นคือบรรยากาศภายในทีม

 

ในช่วงที่ผ่านมาที่ผลงานเริ่มไม่ดีนั้นมีสัญญาณบางอย่างที่น่าสนใจ และชวนให้รู้สึกว่าบางทีบรรยากาศภายในทีมแมนฯ ยูไนเต็ดอาจจะไม่ดีเหมือนช่วงที่ผ่านมาที่ทีมเต็มไปด้วยความมั่นใจและสปิริต

 

หนึ่งในนั้นคือการออกมาโวยของ พอล ป็อกบา ที่บอกว่าทีมจำเป็นที่จะต้อง “เปลี่ยนอะไรบางอย่าง” หลังจากที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีกจนส่งผลเสียต่อทีม ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่โซลชาร์พูดเหมือนกันว่า ดูเหมือนจะมีอะไรบางอย่างที่ทีมต้องปรับ

 

แต่มันคืออะไรเล่า?

 

มากกว่าการหาคำตอบคือการที่นักเตะระดับซีเนียร์ที่มีอิทธิพลต่อทีมออกมาพูดแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีความไม่ลงรอยกันภายในทีมอยู่ และมันกำลังเริ่มทำหน้าที่ในการกัดกินทีมสปิริตอย่างรวดเร็ว

 

ที่น่ากลัวกว่ารายของป็อกบาคือ มาร์คัส แรชฟอร์ด ซึ่งเป็น Local Hero ของชาวเมืองแมนเชสเตอร์ และชาวอังกฤษจากความพยายามในการอุทิศตนเพื่อสังคม แต่ดูเหมือนว่าโซลชาร์จะเริ่มไม่ปลื้มกับการที่ดาวยิงทีมชาติอังกฤษสนใจเรื่องนอกสนามมากจนเกินไป

 

“เขาควรจะกลับมาสนใจการทำหน้าที่ในสนาม” คำจากปากของโซลชาร์ที่พูดเบาๆ ก็เจ็บ และมีรายงานว่าฝ่ายของแรชฟอร์ดไม่พอใจอย่างมาก

 

เพราะถึงฟอร์มการเล่นในช่วงก่อนหน้านี้จะตกลง แต่ก็มีสาเหตุจากอาการบาดเจ็บที่ไหล่ที่ลากยาวจนจบฟุตบอลยูโรถึงเพิ่งจะเข้ารับการผ่าตัด และสามารถเรียกความฟิตกลับมาได้พร้อมกับทำประตูได้ทันทีด้วยในฐานะซูเปอร์ซับ

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดของโซลชาร์คือความสามารถในการบริหารคน การซื้อใจผู้เล่น ซึ่งหากเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาที่เขาทำท่าว่าอาจจะเอาไม่อยู่ขึ้นมา

 

บางทีมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบสำหรับเขาก็เป็นไปได้

           

  1. การหนุนหลังจากบอร์ดบริหาร

 

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในตัวของผู้จัดการทีมชาวนอร์เวย์วัย 48 ปีมากมาย ฝ่ายเดียวที่ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดก็ยังจะสนับสนุนโซลชาร์ให้ทำหน้าที่ต่อไปคือบอร์ดบริหารของสโมสร

 

โดยคนสำคัญที่มีส่วนผลักดันอดีตเพชฌฆาตหน้าเด็กคือ เอ็ด วูดเวิร์ด ที่ยังหนุนหลังอย่างเต็มที่ และล่าสุดมีรายงานว่าได้มีการหารือระหว่างกันแล้วโดยที่บอร์ดยังหนักแน่นที่จะสนับสนุนโซลชาร์ให้ทำหน้าที่ต่อไปเหมือนเดิม ต่อให้วูดเวิร์ดจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นสุดปี 2021 ก็ตาม

 

ตามรายงานจาก The Independent ระบุว่า วูดเวิร์ดประทับใจในวันที่เดินผ่านห้องทำงานของโซลชาร์ และพบว่ากำลังวางแผนให้ทีมสำหรับอนาคตข้างหน้า และเชื่อว่าเขาคือคนที่เหมาะสมที่สุดแล้วที่จะพาทีมกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

 

ช่วงเวลากดดันไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับโซลชาร์ เขาเผชิญมาแล้วในช่วงหลังจากที่ได้รับตำแหน่งถาวร และในช่วงก่อนที่ทีมจะได้ บรูโน แฟร์นันด์ส มาจากสปอร์ติง ลิสบอน เมื่อต้นปีที่แล้ว และทั้งสองครั้งเขาก็เอาตัวรอดมาได้อย่างสวยงาม

 

และบอร์ดเองก็เพิ่งจะจับเขาต่อสัญญาฉบับใหม่ไปเมื่อช่วงสิ้นสุดฤดูกาลที่ผ่านมาอีก 3 ปี (ซึ่งการปลดเขาอาจหมายถึงต้องจ่ายเงินก้อนโตด้วย เป็นหนึ่งในเหตุผล) และพร้อมต่อสัญญา ไมค์ ฟีแลน ผู้ช่วยอาวุโสอีกคน

 

เพียงแต่อย่าลืมว่าต่อให้บอร์ดจะให้การสนับสนุนมากแค่ไหน ท่าทีนั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามสถานการณ์ โดยเฉพาะจากผลการแข่งขันและกระแสของแฟนฟุตบอล ซึ่งสองอย่างนี้ไม่ค่อยเป็นใจในระยะหลัง

 

ช่วงต่อจากนี้โซลชาร์จะต้องนำทีมเจอโจทย์ยากทั้งอตาลันตาในแชมเปียนส์ลีก และในพรีเมียร์ลีกที่จะต้องเปิดศึกกับลิเวอร์พูล, แมนฯ ซิตี้, เชลซี และท็อตแนม ฮอตสเปอร์

 

เกิดหากแพ้ติดๆ กันขึ้นมา ต่อให้บอร์ดจะหนักแน่นแค่ไหนในช่วงนี้ ก็รับประกันได้ว่าต้องมีหวั่นไหวอย่างแน่นอน

 

  1. ทางออกจากวิกฤตของโซลและยูไนเต็ด

 

เกมกับอตาลันตาในคืนนี้อาจจะเป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับโซลชาร์ ว่าเขาจะหาทางพาทีมกลับมาได้หรือไม่ในสถานการณ์วิกฤตศรัทธาเช่นนี้

 

มีการคาดกันว่าแมนฯ​ ยูไนเต็ดอาจจะมีการปรับระบบการเล่นใหม่ เพราะดูเหมือนระบบ 4-2-3-1 ที่ใช้มาพักใหญ่จะไม่สอดคล้องกับนักเตะที่มีอยู่ โดยเฉพาะในแดนกลางที่คู่มิดฟิลด์ตัวรับเป็นปัญหาตลอดไม่ว่าจะใช้เฟร็ด, สกอตต์ แมคโทมิเนย์, เนมันยา มาติช หรือป็อกบาลงเล่น

 

เราอาจจะได้เห็นนักเตะระดับสตาร์สักคนที่จะถูกดรอปจากทีม ซึ่งอาจจะเป็นป็อกบา, บรูโน หรือแม้แต่โรนัลโดที่ผลงานในหลายเกมหลังก็ไม่ได้ดีนัก (แต่จะกล้าหรือ?) และอาจรวมถึง แฮร์รี แม็กไกวร์ หนึ่งในการตัดสินใจที่ผิดพลาดของโซลชาร์ในเกมกับเลสเตอร์ที่ส่งลงสนามทั้งที่ยังไม่ฟิตดีพอ

 

ทั้งนี้ หากเขาสามารถเก็บชัยชนะในเกมกับอตาลันตา และยัดเยียดความปราชัยให้ลิเวอร์พูล ซึ่งผลงานในฤดูกาลนี้ยอดเยี่ยมอย่างมากได้ กระแสมีโอกาสที่จะเปลี่ยนทันที จากคลื่นลบสามารถเป็นคลื่นบวกได้ไม่ยาก เหมือนในฤดูกาลที่แล้วที่พวกเขาทำผลงานยอดเยี่ยมจนขึ้นไปลุ้นจ่าฝูงอยู่พักใหญ่

 

แต่หากทีมยังไม่สามารถหาหนทางกลับมาได้ เราอาจได้เห็นการชุมนุมใหญ่อีกครั้งก่อนเกมแดงเดือดในวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคมนี้

 

คราวนี้คนที่ถูกไล่อาจจะไม่ใช่ตระกูลเกลเซอร์เจ้าของสโมสรจอมละโมบอีกต่อไป แต่คือผู้จัดการชาวนอร์เวย์ที่เจอช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X