วันนี้ (19 ตุลาคม) กลุ่มแรงงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชันแนลแห่งประเทศไทย นำโดย จิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพฯ ร่วมกับเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นำโดย ธนพร วิจันทร์ ประธานเครือข่ายฯ นำมวลชนแรงงานหลายร้อยคนทำกิจกรรมปราศรัยและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประชิดประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งที่ 2 ทวงถามความคืบหน้าจากทางรัฐบาล ในข้อเรียกร้องหลักว่าด้วยการนำงบกลางจำนวน 242,689,862.71 บาท มาจ่ายให้กับลูกจ้างที่ถูกลอยแพเลิกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และขอให้มีการดำเนินการติดตามนายจ้างมาแสดงความรับผิดชอบนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนรัฐบาล เพราะเป็นเงินภาษีของประชาชนทุกคน พร้อมร้องขอให้มีการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งหามาตรการการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีที่นายจ้างกระทำเช่นนี้กับลูกจ้างอีก
กลุ่มผู้ทำกิจกรรมได้เคลื่อนขบวนเดินเท้ามาจากบริเวณหน้าบ้านพิษณุโลก มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ด้านผู้ทำกิจกรรมบางส่วนมีการถือป้ายข้อความประดับด้วยชุดชั้นในสตรี ระบุถึงข้อเรียกร้องและความเดือดร้อนต่างๆ
จากนั้นเวลา 11.50 น. ตัวแทนกลุ่มผู้มาทำกิจกรรมเดินทางเข้าไปด้านในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อเจรจากับ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ราว 1 ชั่วโมง
ระหว่างการเจรจา ทางตัวแทนแรงงานขอให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือใน 3 ข้อ คือ
- ให้นำเงินจากกรมคุ้มครองสิทธิแรงงาน 21 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีหลักทรัพย์อยู่ 171 ล้านบาทนั้น มารวมกับเงินอีก 31 ล้านบาท ที่นำมาจากภาษีสรรพากรที่บริษัทจ่ายให้กับกระทรวงการคลัง รวมเป็น 52 ล้านบาท มาสำรองจ่ายเยียวยาให้กับแรงงานที่เดือดร้อนกว่า 5,000 รายอย่างถ้วนหน้า
- ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินคดีทางกฎหมาย อายัดทรัพย์บริษัทแม่ เพราะหลังจากปิดบริษัทหนีไป 8 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้มีการติดตามหรือดำเนินคดีต่อนายจ้างแต่อย่างใด
- ให้ทางกระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการ โดยเชิญตัวแทนสหภาพฯ มาร่วมหารือ เพื่อให้ได้ข้อชัดเจน
ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดที่แรงงานต้องเผชิญ หากรัฐมนตรีใช้อำนาจเข้ามาดำเนินการแก้ไขทุกอย่างก็จบ แต่ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานเพิกเฉย โดยเฉพาะการไม่เอาผิดนายจ้าง ปล่อยให้ลอยแพพนักงาน ปิดบริษัทหนีไปต่างประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีเพียงแค่กรณีเดียว หากสุชาติอ้างว่าไม่มีอำนาจ ต้องขอความเห็นชอบจากบอร์ดแรงงานเพื่อนำเงินมาจ่ายเยียวยา ก็อย่าเป็นรัฐมนตรีเลย เพราะไม่มีอำนาจอยู่ในมือ
ขณะที่สุชาติกล่าวว่า สมยศไม่เข้าใจระเบียบและกฎหมายของกระทรวงแรงงาน การจะนำเงินในกองทุนคุ้มครองแรงงานมาใช้ จะต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ถ้าพูดแบบนี้ ขอท้าให้ไปฟ้องกระทรวงแรงงาน และมาเป็นคนแก้ปัญหาเอง
ด้านตัวแทนแรงงานที่มาวันนี้ย้ำว่าไม่ต้องการจะให้เกิดความขัดแย้ง แต่มาเพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานและรัฐบาลที่จะต้องเยียวยา พร้อมตั้งคำถามว่า งบประมาณรัฐถูกอนุมัติไปซื้ออย่างอื่นได้ แต่ทำไมถึงเอามาเยียวยาแรงงานไม่ได้
จากนั้นสุชาติได้เดินทางมาพบปะแรงงานที่มาทำกิจกรรมด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ยืนยันว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี หลังสุชาติเดินทางกลับ ผู้มาทำกิจกรรมได้ตะโกนพร้อมกันว่า การทำงานของกระทรวงแรงงานยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และหากการหารือในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ยังไม่เป็นที่พอใจ แรงงานทั้งหมดจะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง