หากกล่าวถึงอุตสาหกรรมอาหารของไทยหรือครัวไทย แน่นอนว่าเป็นที่รู้จักดีอย่างแพร่หลายและเป็นอาหารยอดนิยมในหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในเมนูยอดนิยมก็ไม่พ้นอาหารทะเล ซึ่งอุตสาหกรรมประมงของไทยก็มีชื่อเสียงระดับโลกเช่นกัน และ TFM มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Supply Chain ที่มูลค่ามหาศาลนี้อย่างไรบ้าง THE STANDARD WEALTH ชวนมาทำความรู้จักกัน
ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน กลุ่ม TU ยักษ์ใหญ่ประมงไทย มองเห็นถึงโอกาสในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสัตว์น้ำอันเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยอย่างมาก จึงได้ร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัท บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ หรือ TFM ขึ้น เพื่อเป็นบริษัทเรือธง (Flagship) ของกลุ่ม TU ในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ และเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา TFM ได้ขยายไปยังธุรกิจอาหารสัตว์บกเพิ่มด้วย
TFM ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าที่หลากหลาย
แตกไลน์ผลิตภัณฑ์หลากหลาย เพื่อเติมเต็มความต้องการ
ปัจจุบัน TFM มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าหลัก ได้แก่ โปรฟีด (PROFEED), นานามิ (NANAMI), อีโก้ฟีด (EGOFEED), แอคควาฟีด (AQUAFEED) และดี-โกรว์ (D-GROW) เป็นต้น
โดยผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารกุ้ง โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มตลาดอาหารกุ้ง มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 17% ของปริมาณอาหารกุ้งในไทย (ณ สิ้นปี 2563)
2. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่
-
- อาหารปลาทะเล เช่น อาหารปลากะพงและปลาเก๋า
- อาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิลและปลาดุก
- อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน สำหรับการอนุบาลลูกปลา
- อาหารกบ
โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำกลุ่มตลาดอาหารปลากะพง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลาที่มีราคาจำหน่ายและอัตรากำไรค่อนข้างสูงกว่าอาหารปลาประเภทอื่นๆ โดยบริษัทฯ มีส่วนแบ่งตลาดอาหารปลากะพงประมาณ 24% ของปริมาณอาหารปลากะพงไทย (ปี 2563)
3. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสัตว์บก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
-
- อาหารสุกร
- อาหารสัตว์ปีก
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 TFM มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์รวมเท่ากับ 273,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นกำลังการผลิตอาหารกุ้ง 153,000 ตันต่อปี กำลังการผลิตอาหารปลา 90,000 ตันต่อปี และกำลังการผลิตอาหารสัตว์บก 30,000 ตันต่อปี และคิดเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิต หรือ Utilization Rate ประมาณ 58-80% โดย TFM มีโรงงานในประเทศไทย 2 แห่ง คือ
- โรงงานมหาชัยที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
- โรงงานระโนดที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศไทย
จับมือพันธมิตร เพื่อขยายตลาดและบริหารต้นทุน
เนื่องจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์โดยหลักเป็นการแข่งขันภายในประเทศ เพื่อเปิดโอกาสในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ TFM ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศ 3 กลุ่ม ดังนี้
1. เซ็นสัญญาความร่วมมือทางเทคนิคและการอนุญาตให้ AVANTI Feeds Limited (AVANTI) ผู้ผลิตอาหารกุ้งรายใหญ่ของประเทศอินเดีย และเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 500 อันดับแรกของประเทศอินเดีย (จัดอันดับโดย Fortune Magazine) ใช้ชื่อทางการค้า (Trade Name) และสูตรการผลิตสินค้าของ TFM สำหรับการจำหน่ายอาหารกุ้งในประเทศอินเดีย ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่ TFM ได้รับจากสัญญาความร่วมมือดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตตามปริมาณการขายสินค้าภายใต้ชื่อทางการค้าของ TFM
2. ร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ในการจัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซีย ชื่อว่า บริษัท พีที ไทยยูเนี่ยน คาริสม่า เลสทารี จำกัด (TUKL) โดยมีพันธมิตรทางธุรกิจ 2 กลุ่ม คือ
-
- พันธมิตรท้องถิ่นชื่อว่า PT Maxmar Summa Kharisma (PT MSK) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารแช่แข็งรายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงมีการดำเนินธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง
- กลุ่ม AVANTI
โดย TFM, PT MSK และกลุ่ม AVANTI มีสัดส่วนการถือหุ้นใน TUKL เท่ากับ 65%, 25% และ 10% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ TUKL ตามลำดับ
ปัจจุบัน TUKL ได้มีการจัดซื้อที่ดินซึ่งจะใช้เป็นที่ตั้งของโรงงานเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักร มีกำลังการผลิตอาหารกุ้ง 36,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการทดสอบระบบ (Test Run) ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และสามารถเริ่มการผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งได้ภายในสิ้นปี 2564 นอกจากนี้ TUKL ยังมีแผนที่จะลงทุนในสายการผลิตอาหารสัตว์น้ำเพิ่มเติมอีก 2 สายการผลิต ซึ่งจะเป็นผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 36,000 ตันต่อปี โดยจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณไม่เกิน 250 ล้านบาท ภายในปี 2566
3. ร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศปากีสถาน คือ AMG-Thai Union Feedmill (Private) Limited (AMG-TFM) เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศปากีสถาน โดยร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) คือ กลุ่ม AMG ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจอาหารสัตว์น้ำรายสำคัญในประเทศปากีสถาน ซึ่ง TFM และกลุ่ม AMG ถือหุ้น 51% และ 49% ตามลำดับ
โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 AMG-TFM มีกำลังการผลิตอาหารปลาเท่ากับ 7,000 ตันต่อปี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ รับรู้รายได้ และมีกำไรสุทธิแล้ว ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 และมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 15,000 ตันต่อปี ภายในปี 2564
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 TFM มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์รวมเท่ากับ 273,000 ตัน จากสองโรงงานในประเทศไทยและกำลังการผลิตจากบริษัทย่อยในต่างประเทศ
ปริมาณการขายและรายได้เติบโตต่อเนื่อง
TFM มีปริมาณการขายที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 143,345 ตัน ในปี 2560 เป็น 145,884 ตัน และ 167,446 ตัน ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโต 1.8% และ 14.8% สอดคล้องกับการเติบโตของรายได้รวม ซึ่งเติบโตขึ้นจาก 4,341.7 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 4,492.7 ล้านบาท และ 4,906.8 ล้านบาท ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโต 3.5% และ 9.2% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในปี 2563 ซึ่งมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสัตว์น้ำโดยรวม ส่งผลให้ TFM มีปริมาณการขายเท่ากับ 163,355 ตัน ในปี 2563 หรือลดลง 2.4% จากปีก่อนหน้า และในปี 2563 TFM มีรายได้รวม เท่ากับ 4,244.5 ล้านบาท ลดลง 13.5% จากปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม TFM ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดอาหารปลากะพง อาหารกุ้ง และอาหารปลา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24%, 17% และ 12% ของปริมาณการขายอาหารปลากะพง อาหารกุ้ง และอาหารปลา ในประเทศไทยในปี 2563 ตามลำดับ
ผลประกอบการครึ่งแรกปี 2564 เริ่มฟื้น
สำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 TFM มีปริมาณการขายเติบโตขึ้นเป็น 90,770 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 76,089 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นอัตราการเติบโต 19.3% โดยหลักมาจากปริมาณการขายอาหารกุ้งในประเทศและต่างประเทศ อาหารปลา และอาหารสัตว์บกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้รวมงวด 6 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 2,370.2 ล้านบาท จาก 1,964.6 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นอัตราการเติบโต 20.6%
บรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM
ผู้นำเรือธงด้านธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจของกลุ่ม TU
ระดมทุนครั้งใหญ่ เพื่อสยายปีกสู่ต่างประเทศ
ข้อมูลจากไฟลิ่งระบุวัตถุประสงค์ของการระดมทุนครั้งนี้ว่า เพื่อการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ทั้งนี้ ที่น่าสนใจคือ จาก 3 ประเทศที่ TFM เข้าร่วมลงทุนและเข้าทำธุรกิจมาแล้วก่อนหน้านี้ มีจุดร่วมหนึ่งที่เหมือนกันคือ มีจำนวนประชากรค่อนข้างมาก โดยอินเดียมีประชากรราว 1.38 พันล้านคน อินโดนีเซีย 273.5 ล้านคน และปากีสถาน 220.9 ล้านคน ซึ่งจำนวนประชากรของแต่ละประเทศล้วนสะท้อนถึงความต้องการด้านการบริโภคได้ชัดเจน
ผู้ถือหุ้นใหญ่แข็งแกร่ง
TFM มีทุนจดทะเบียนจำนวน 1 พันล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 2 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้วทั้งสิ้นจำนวน 820 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 410 ล้านหุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 109.30 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จำนวน 19.3 ล้านหุ้น รวมทั้งหมดไม่เกิน 21.9% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ โดยในการเสนอขายหุ้น IPO นั้นมีส่วนหนึ่งจะเสนอขายให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของ TU จำนวน 2.5 ล้านหุ้นด้วย
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ภายหลังการเสนอขาย IPO ประกอบด้วย
- บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ถือหุ้น 51%
- กลุ่มฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ถือหุ้น 12.7%
ทั้งนี้ กลุ่ม TU ได้ Spin-Off บริษัทในเครือ เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นครั้งแรกกับ TFM จึงเป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งเมื่อ TFM ต้องบินเดี่ยว จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้มากแค่ไหน และจะเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่ม TU ได้อย่างไรบ้างนอกเหนือจากการจ่ายเงินปันผล
โดย TFM มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอัตรา 50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม