ภายหลังจากรัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีน mRNA ยี่ห้อ Pfizer-BioNTech เพื่อต้านโควิดในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุตั้งแต่ 12-18 ปีอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งในเขต กทม. และ 15 จังหวัดใน 13 เขตสุขภาพ เช่น ปราจีนบุรี ขอนแก่น อำนาจเจริญ เป็นต้น โดยกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนจำนวนกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ
แต่เมื่อถึงเวลากระจายวัคซีนเพื่อฉีดให้กับนักเรียนทั่วประเทศ กลับพบกระแสต่อต้านวัคซีนไฟเซอร์ จนกลายเป็น #ไฟเซอร์นักเรียน ที่มีข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง
- กระแสที่มีนักเรียนไม่กล้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์บางส่วนมาจากการยกตัวอย่างคลิปวิดีโอทางแอปพลิเคชัน TikTok ของนักเรียนคนหนึ่งที่ระบุว่า ไม่อยากฉีดไฟเซอร์เพราะกลัวเข็ม โดยมีนักเรียนอีกหลายคนเข้ามาสนับสนุนทางแอปพลิเคชันดังกล่าวว่า เพราะกลัวจะเป็นวัคซีนปลอม รวมทั้งกลัวผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ จนในที่สุดก็กลายเป็นกระแสไม่ยอมไปฉีดไฟเซอร์ ด้วยข้ออ้างต่างๆ
- นอกจากนี้นักเรียนหลายคนยังกลัววัคซีนไฟเซอร์หรือไม่ยอมเข้ารับการฉีด อันเนื่องมาจากมีผู้ปกครองที่ต่อต้านวัคซีนชนิด mRNA จนมีนักเรียนที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง 3.6 ล้านคนจาก 5 ล้านคน โดยผู้ปกครองเหล่านี้อ้างผลวิจัยจากต่างประเทศที่พบเด็กเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังได้รับเข็มที่ 2 ทั้งนี้ผลวิจัยดังกล่าวนั้นชี้ว่า แม้จะพบเด็กที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจริง แต่ก็พบเพียง 10-30 รายจาก 1 ล้านโดส และส่วนมากเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน น.พ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เคยแถลงข่าวว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังจากการฉีดวัคซีนเกิดขึ้นน้อยมาก รักษาหายได้
- มีผู้ที่อ้างว่าเป็นบุคลากรทางการศึกษาเล่าว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่กล้าฉีดวัคซีน mRNA นั้นเป็นเพราะผู้ปกครองที่ต้านวัคซีนชนิดนี้ห้ามไม่ให้เด็กฉีด โดยตนได้ให้ข้อมูลและอ้างอิงงานวิจัยที่เชื่อถือได้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อยืนยันว่าไฟเซอร์และวัคซีนกลุ่ม mRNA เป็นวัคซีนที่ปลอดภัย ซึ่งทำให้ผู้ปกครองเข้าใจและยอมให้บุตรหลานได้เข้ารับวัคซีนในที่สุด ดังนั้นคุณครูจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครอง
- ขณะเดียวกันมีรายงานว่า การเข้ารับการวัคซีนนั้นเต็มไปด้วยเงื่อนไขมากมาย ไม่ว่าจะห้ามไม่ให้นักเรียนที่ย้อมผมเข้ารับวัคซีน หรือต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนเท่านั้นจึงจะมาฉีดได้ ตลอดจนปัญหาผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งไม่ส่งชื่อนักเรียนจนทำให้เยาวชนพลาดโอกาสการเข้ารับวัคซีนนี้หลายพันราย
- อย่างไรก็ดี กระแสต่อต้านการฉีดวัคซีนไฟเซอร์นี้ทำให้หลายคน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงานไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมามีการกดดันให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์เป็นเวลาหลายเดือน เพื่อให้มาฉีดกลุ่มนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพทั้งกายและใจ ทั้งเยาวชนเหล่านี้ยังเป็นอนาคตของประเทศ จึงเห็นตรงกันว่ารัฐบาลควรให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเยาวชนและมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ด้วย เพื่อจะได้กลับไปเรียนและได้ใช้ชีวิตตามปกติ
- ขณะที่บางโรงเรียนได้รับโดสวัคซีนไม่พอจำนวนนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน ทำให้คุณครูหลายคนจำต้องสละสิทธิ์เพื่อให้นักเรียนในชั้นได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง
- ดังนั้นเมื่อเกิดกระแสต้านวัคซีน mRNA ขึ้นมา หลายคนจึงไม่พอใจเพราะมีกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงานที่จำต้องฉีดวัคซีนที่รัฐจัดหามาให้แต่แรก และไม่มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น ซิโนแวค เป็นต้น อีกทั้งคนวัยทำงานเป็นวัยที่อยากฉีดวัคซีน mRNA เพื่อจะได้ออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ แต่กลับไม่ได้ฉีดเนื่องจากรัฐไม่ยอมนำวัคซีนชนิดนี้เข้ามา จนหลายรายต้องไปสั่งจองกับทางเอกชน ซึ่งก็ถูกเลื่อนคิวออกไปจนปัจจุบันก็ยังไม่ได้ฉีด ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจก่อตัวขึ้นมาในหมู่คนที่พลาดโอกาสต่างๆ
- หลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการไม่ประชาสัมพันธ์ระบุประสิทธิภาพ คุณสมบัติของวัคซีน mRNA อย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแชร์ข่าวปลอมซึ่งแพร่ระบาดไปเป็นวงกว้างในหมู่ผู้ปกครองมาจนถึงตัวเยาวชนเอง นอกจากนี้การที่รัฐไม่ยอมนำเข้าวัคซีน mRNA ตลอดจนวัคซีนอื่นๆ ที่มีความหลากหลายก่อนหน้านี้ ยังทำให้นักศึกษาและประชาชนหลายคนจำต้องไปฉีดวัคซีนที่รัฐจัดหามา จึงมีหลายคนที่ชี้ว่าคนที่ควรจะโกรธไม่ใช่เยาวชน แต่เป็นรัฐบาลที่ไม่ทำหน้าที่ให้ดีต่างหาก
- โดยในเวลานี้ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลและงานวิจัยที่เชื่อถือได้จากต่างประเทศ ถึงประสิทธิภาพและความเหมาะสมของวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เยาวชนต่างๆ ทั้งในแอปพลิเคชัน TikTok และในแอปพลิเคชันอื่นๆ แล้ว เพื่อหวังให้เยาวชนได้เปิดใจและเข้ารับวัคซีนเพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตและเข้ารับการศึกษาโดยไม่ต้องอยู่ในระบบออนไลน์อีกต่อไป
- ทั้งนี้วัคซีนไฟเซอร์ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้ว และหลายประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น ก็มีการอนุมัติให้ใช้ในกลุ่มเด็กแล้ว โดยคาดการณ์ว่าหากฉีดไฟเซอร์ได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็สามารถเปิดภาคเรียนได้ในปี 2564 ที่จะถึงนี้