วันนี้ (5 ตุลาคม) ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อกรณีที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นถึง 7 ครั้งในรอบ 1 เดือนว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าราคาน้ำมันกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ประชาชนประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจมากที่สุดจากวิกฤติโควิด ซึ่งตนก็เคยเสนอแนะไปตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว ว่ารัฐบาลควรนำเงินจากกองทุนน้ำมันมารักษาเสถียรภาพของราคาตามวัตถุประสงค์ของการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน
จากเดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลใน กทม. และปริมณฑลขึ้นจาก 26.83 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ 31.29 บาทต่อลิตร แต่เพิ่งจะมีข่าวจากรัฐบาลว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร โดยเพียงแค่จะลดการเก็บเงินเข้ากองทุนลง 1 บาท และลดค่าการตลาดลง 40 สตางค์
จากการเดินสายรับฟังปัญหาของเกษตรกรในภาคเหนือ ศิริกัญญาสรุปได้ว่า การเพิ่งใช้เงินกองทุนน้ำมันพยุงเสถียรภาพราคาน้ำมันในเวลานี้ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ช้าเกินไปและน้อยเกินไป ในขณะที่ราคาน้ำมันโลกขึ้นสูง สถานการณ์การระบาดของโควิดในไทยยังร้ายแรง และเศรษฐกิจไทยก็เจอภาวะชะงักงัน
เกษตรกรต้องเจอกับต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อันเนื่องมาจากห่วงโซ่อุปทานในประเทศหยุดชะงักจากมาตรการล็อกดาวน์ร้านอาหารและตลาด ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกก็สะดุดลงจากต้นทุนการขนส่งที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ เพราะประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากวิกฤตโควิดตั้งแต่ปีที่แล้ว
ศิริกัญญายังกล่าวต่อไปว่า ถึงเวลาที่ควรจะมาถกเถียงกันอย่างจริงจังเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมัน และบทบาทในการใช้เงินของกองทุนน้ำมัน เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศนั้นไม่ได้ปรับขึ้นลงตามการผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกทั้งหมด มีเพียง 2 ใน 3 ของราคาเท่านั้นที่ผันผวนตามกลไกตลาดโลก ส่วนที่เหลือเป็นนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น เงินเข้ากองทุนน้ำมัน เงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และค่าการตลาด
“เวลาที่รัฐบาลเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เช่น เก็บจากดีเซลลิตรละบาท เบนซินลิตรละ 6.5 บาท เจตนารมณ์จริงๆ ของการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน คือการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงาน นั่นก็คือทำอย่างไรก็ได้ให้ราคาน้ำมันไม่ผันผวนมากไป เวลาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นเร็ว เงินจากกองทุนนี้ต้องนำมาช่วยไม่ให้ราคาเพิ่มเร็วเกินไป แต่เมื่อดูจากวิธีการใช้เงินของกองทุนน้ำมันที่ผ่านๆ มาจะเป็นการไปอุดหนุนข้ามประเภทพลังงาน และอุ้มอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพเป็นหลัก โดยจากโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จะเห็นได้ว่าใช้เงินจากกองทุนน้ำมันอุ้มราคา E20 อยู่ 2.28 บาทต่อลิตร อุ้ม E85 7.13 บาทต่อลิตร และอุ้มดีเซล B20 ทั้งสิ้น 4.16 บาทต่อลิตร
“ถ้าเราจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งตอนนี้มีเงินหลังจากหักหนี้สินเหลือสุทธิกว่า 30,000 ล้านบาท มากดราคาดีเซลลงจากที่เพิ่มขึ้น 2.50 บาทภายใน 1 เดือน ให้ค่อยๆ ทยอยขึ้นเดือนละ 0.50 บาท เพื่อช่วยค่าครองชีพให้ประชาชนได้บ้างก็น่าจะทำได้ทันที โดยใช้เงินราว 2,000 ล้านบาท” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้ายว่า ราคาอีกส่วนหนึ่งตามโครงสร้างที่สามารถปรับลดได้คือ ค่าการตลาด ซึ่งเป็นกำไรของบริษัทพลังงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะโอนอ่อนให้กับนายทุนพลังงานมากน้อยแค่ไหน การต่อรองในเรื่องนี้จะทำให้กำไรของนายทุนพลังงานลดลง หากรัฐบาลยอมศิโรราบให้กับนายทุนพลังงาน เราก็คงคาดหวังว่าราคาในส่วนนี้จะลดลงมาไม่ได้
อ้างอิง: