×

ประวิตรห่วงภัยคุกคามทางไซเบอร์ทำประเทศเสียหาย เร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อรับมือ

โดย THE STANDARD TEAM
04.10.2021
  • LOADING...
ประวิตร วงษ์สุวรรณ

วันนี้ (4 ตุลาคม) พล.อ. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 2/64 ณ ห้องประชุม 301 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนความพร้อมของการบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

 

โดยที่ประชุมรับทราบการปฏิบัติภารกิจป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยง จากภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ปฏิบัติการตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคาม, ปฏิบัติการตรวจสอบและให้คำแนะนำเพื่อแก้ปัญหา, ปฏิบัติการตรวจสอบช่องโหว่ และการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์  

 

นอกจากนี้ยังได้ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งรองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการรวม 3 ตำแหน่ง และได้ร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กมช. เรื่อง ลักษณะภัยคุกคาม มาตรการป้องกัน รับมือ ประเมิน ปราบปราม และระงับภัยคุกคามทางไซเบอร์แต่ละระดับ พ.ศ. … และ (ร่าง) ระเบียบต่างๆ ประกอบ พ.ร.บ. เพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามกฎหมาย

 

“พล.อ. ประวิตร ได้กล่าวย้ำว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความสำคัญยิ่งที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ ตื่นตัว และสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันเป็นพิเศษ ทั่วโลกมีการโจมตีทางไซเบอร์กันอย่างต่อเนื่องทุกวัน สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะประเทศไทยได้ปรากฏการโจมตีขึ้นแล้วทั้งภาครัฐและเอกชน จึงไม่สามารถรอช้าได้ ต้องเตรียมพร้อม ประเมินความเสี่ยง และนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นระบบให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่” พล.อ. คงชีพ กล่าว  

 

จึงขอให้คณะกรรมการต่างๆ ในทุกระดับ ต้องเร่งเตรียมความพร้อมทั้งการเฝ้าระวังแจ้งเตือนและปฏิบัติการป้องกัน รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อรับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ไม่ให้ลุกลามบานปลาย โดยให้ปฏิบัติการในแต่ละระดับทันที หากมีเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ที่ร้ายแรงหรือวิกฤต พร้อมกันนี้ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ความตระหนักรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ และประชาชนทั่วไป อย่างเป็นระบบควบคู่ไปพร้อมๆ กัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X