×

เศรษฐกิจจีนเสี่ยงสะดุด หลังเผชิญปัญหาขาดแคลนพลังงานซ้ำเติมปัญหาหนี้ Evergrande กระทบห่วงโซ่ผลิต หวั่นสะเทือนถึงไทย

03.10.2021
  • LOADING...
China economy

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินชั้นนำพร้อมใจกันปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้และระยะข้างหน้า หลังจีนต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์จากกรณี Evergrande
  • การขาดแคลนพลังงานทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Apple, Tesla และ Toyota
  • ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้ารวมถึงไทย โดยผลกระทบหลักจะอยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันจีนอาจส่งออกเงินเฟ้อเป็นลูกโซ่มาถึงไทย

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลกต่างพร้อมใจกันปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ลง โดย Goldman Sachs ปรับลดประมาณการ GDP จีนในปีนี้ลงจาก 8.2% เหลือ 7.8% Nomura ปรับลดจาก 8.2% เหลือ 7.7% และ Fitch ปรับลดจาก 8.4% เหลือ 8.1% ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley และ China International Capital Corporation ก็ได้ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้อาจจะเติบโตได้ต่ำกว่าตัวเลขที่เคยคาดการณ์เอาไว้

 

สาเหตุสำคัญของการปรับลดคาดการณ์ GDP ครั้งนี้เกิดจากปัญหาวิกฤตขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าครั้งใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นผลมาจากการลดกำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง หลังจากที่ราคาถ่านหินในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับที่จะทำให้โรงไฟฟ้าเหล่านี้ขาดทุนจากราคาขายไฟฟ้าที่ถูกจำกัดเพดานไว้โดยรัฐบาลจีน

 

Evergrande

 

รายงานข่าวในประเทศจีนระบุว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตขาดแคลนพลังงานในครั้งนี้อย่างต่ำ 20 มณฑล โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีขนาดทางเศรษฐกิจรวมกันสูงถึง 66% ของ GDP ประเทศ หลายมณฑลยังเป็นฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมที่สำคัญของจีน ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่า จะมีกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ได้รับผลกระทบมากถึง 44%

 

การขาดแคลนพลังงานที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑลต้องแบ่งสรรปันส่วนการใช้พลังงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน โดยโรงงานอุตสาหกรรมจะมีตารางวันและเวลาในการตัดไฟจากนิคมอุตสาหกรรม เพื่อจะได้ให้ประชาชนในเมืองได้รับพลังงานก่อนในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟสูง

 

ปัญหาที่ตามมาคือ โรงงานอุตสาหกรรมไม่สามารถเดินเครื่องการผลิตได้เต็มที่ เพื่อให้เพียงพอกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด บางโรงงานต้องสั่งหยุดการผลิตเป็นการชั่วคราว โดยโรงงานที่ได้รับผลกระทบหลายแห่งยังอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างเช่น Apple, Tesla และ Toyota

 

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ในเมื่อราคาถ่านหินจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นจนกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า ทำไมจีนไม่ผลิตและใช้ถ่านหินจากในประเทศเพิ่มขึ้น ต้องบอกว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อนมากกว่าแค่ราคาของถ่านหิน เนื่องจากมันเกี่ยวโยงกับ ‘วาระด้านสิ่งแวดล้อม’ ของจีนเองด้วย 

 

ในช่วงที่ผ่านมาจีนได้ประกาศจะเป็นประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอน และต้องการลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้าในประเทศมากถึง 61% 

 

Evergrande

 

นโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ยังทำให้การเปิดเหมืองถ่านหินใหม่ๆ ทำได้ยากขึ้น จากมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวยังกดดันให้สถาบันการเงินส่วนใหญ่เลือกที่จะปฏิเสธการให้เงินทุนแก่ธุรกิจที่สร้างมลภาวะ

 

ในอดีต จีนเคยเป็นผู้นำเข้าถ่านหินรายใหญ่จากออสเตรเลีย แต่ได้ยุติการสั่งซื้อถ่านหินจากออสเตรเลียจากปัญหาข้อพิพาททางการเมือง หลังออสเตรเลียสนับสนุนให้มีการตรวจสอบจีนว่า อาจเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ขณะที่การนำเข้าถ่านหินจากมองโกเลียในช่วงที่ผ่านมาก็มีปริมาณลดลงจากการควบคุมพรมแดนที่เข้มงวดของจีน เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด

 

เบื้องต้นทางการจีนได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการปรับขึ้นราคาขายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุนราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้น เพื่อทำให้โรงไฟฟ้ากลับมาผลิตไฟฟ้าเต็มกำลังอีกครั้ง โดยจะเริ่มขยับราคาค่าไฟในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมก่อน ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานได้ ทางการจะปรับขึ้นค่าไฟในกลุ่มครัวเรือนเป็นลำดับถัดไป

 

แม้ว่าการขยับค่าไฟฟ้าจะสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ แต่บรรดานักวิเคราะห์ก็ยังกังวลว่า ปัญหาการขาดแคลนพลังงานยังพร้อมจะผุดกลับขึ้นมาใหม่ได้อีก โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวของจีน ซึ่งความต้องการพลังงานจะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนของจีนยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

 

ขณะเดียวกันค่าไฟที่แพงขึ้นยังอาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของจีน ซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนที่บอบช้ำมาก่อนหน้าแล้ว จากการที่รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยี รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของ China Evergrande ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน

 

Evergrande

 

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเชิงลบต่างๆ แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดานักวิเคราะห์จะเริ่มมองว่า เศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง โดยล่าสุด Citi ได้ปรับลดประมาณการ GDP จีนในปีหน้าลงจาก 5.5% มาอยู่ที่ 4.9% 

 

เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้จีนมีโจทย์ทางเศรษฐกิจที่ต้องดูแลหลายด้านพร้อมๆ กัน เช่น กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับ China Evergrande การขาดแคลนพลังงานและนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้สำนักวิจัยหลายแห่งในโลกเริ่มมีมุมมองว่า เศรษฐกิจจีนจะโตได้ช้าลงในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ 

 

“ปัจจัยหลักคงเป็นผลมาจากกรณี China Evergrande ส่วนปัญหาพลังงานน่าจะคลี่คลายได้ในเวลาไม่นาน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดจาก Supply ในระยะสั้นจีนคงต้องเพิ่มราคาพลังงานในประเทศเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งอาจส่งผลให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น เช่นเดียวกับต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม แต่ก็ต้องจับตาดูว่าการขาดแคลนจะลากยาวไปถึงปลายปีหรือไม่ หากปัญหายังยืดเยื้อ โรงงานต้องปิดๆ เปิดๆ ก็จะส่งผลต่อการผลิตในห่วงโซ่ต่างๆ เป็นลูกโซ่ได้” เชาว์ระบุ

 

Evergrande

 

เชาว์กล่าวว่า การที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้า รวมถึงไทยที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 โดยคาดว่าสินค้าที่น่าจะได้รับผลกระทบมากคือ กลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่สินค้ากลุ่มเกษตรอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก

 

“ผลกระทบอาจจะต้องไล่ดูเป็นรายสินค้า แต่กลุ่มเกษตรคงกระทบไม่มาก เพราะเราไม่มีคู่แข่ง เช่น ทุเรียน เรายังนำโด่งทิ้งห่างคู่แข่ง ส่วนกลุ่มที่กระทบ ทางออกของปัญหาก็คือ ต้องรีบหาตลาดทดแทน สำหรับผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น นักท่องเที่ยวจีน ช่วงนี้อาจจะยังไม่เห็น เพราะโควิดทำให้เขาไม่เดินทางมาอยู่แล้ว แต่ในระยะกลางอาจจะได้รับผลกระทบเช่นกันจากกำลังซื้อของจีนที่ลดลง” เชาว์กล่าว

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของจีนอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น อย่างไรก็ดียังเชื่อว่า ภาครัฐจะเข้ามาอุดหนุนชดเชย ทำให้ประเด็นเงินเฟ้อไม่น่าจะรุนแรง

 

“เงินเฟ้อของจีนจะไม่รุนแรงถึงขั้นเป็น Stagfation จะเป็นเพียงแค่ High Inflation รูปแบบหนึ่งเท่านั้น ถ้าเทียบปัญหาเรื่องพลังงานกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์ต้องบอกว่า Evergrande ยังน่ากังวลกว่า เพราะอาจลุกลามไปถึงภาคสถาบันการเงินด้วย” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพกล่าวต่อว่า ประเด็นที่อาจต้องจับตาดูสำหรับประเทศไทยคือ การส่งออกเงินเฟ้อของจีนมายังบ้านเรา เนื่องจากไทยมีการนำเข้าสุทธิจากจีนค่อนข้างสูง ถ้าต้นทุนการผลิตในจีนเพิ่ม ราคาสินค้าวัตถุดิบต่างๆ ที่เรานำเข้าจะแพงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 

 

“ไทยอาจจะต้องเริ่มคิดว่าจะรับมือกับเงินเฟ้อในอนาคตอย่างไร ในภาวะที่เศรษฐกิจเรากำลังฟื้นตัวจากโควิด นโยบายดอกเบี้ยยังปรับขึ้นไม่ได้ นโยบายการคลังอาจจะต้องเข้ามามีบทบาทในการลดค่าครองชีพแทน” อมรเทพกล่าว 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X