วันนี้ (2 ตุลาคม) เวลา 09.40 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุ ‘เตี้ยนหมู่’ ในช่วงวันที่ 23 กันยายน – 1 ตุลาคม 2564 เกิดอุทกภัยใน 31 จังหวัด รวม 195 อำเภอ 1,001 ตำบล 6,909 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 264,210 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 8 ราย (ลพบุรี 6 ราย, เพชรบูรณ์ 1 ราย และชัยนาท 1 ราย) สูญหาย 1 ราย (เพชรบูรณ์ 1 ราย)
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด (เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, ตาก, บุรีรัมย์, นครปฐม, ยโสธร, สุรินทร์, เลย, ศรีสะเกษ, สระแก้ว, จันทบุรี, ปราจีนบุรี และกำแพงเพชร) ยังคงมีสถานการณ์ 17 จังหวัด ดังนี้
- สุโขทัย ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย, ศรีสำโรง และคีรีมาศ ระดับน้ำลดลง
- พิษณุโลก น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทอง, พรหมพิราม และบางระกำ ระดับน้ำลดลง
- เพชรบูรณ์ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
- พิจิตร น้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบึงนาราง, โพธิ์ประทับช้าง, โพทะเล และสามง่าม ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ระดับน้ำทรงตัว
- ขอนแก่น น้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูผาม่าน, ชุมแพ, หนองเรือ, แวงน้อย, แวงใหญ่, โคกโพธิ์ไชย, ชนบท, มัญจาคีรี และโนนศิลา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- ชัยภูมิ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยภูมิ, ภูเขียว, บ้านเขว้า, จัตุรัส และคอนสวรรค์ ระดับน้ำลดลง
- นครราชสีมา ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา, ด่านขุนทด, สูงเนิน, โนนสูง, พิมาย, ปักธงชัย, โนนโทย, คง, พระทองคำ, จักราช, สีดา, ขามสะแกแสง และบ้านเหลื่อม ระดับน้ำเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ จังหวัดได้จัดตั้งจุดอพยพ 4 จุด ในอำเภอโนนสูง, โนนไทย, แก้งสนามนาง และอำเภอเมืองนครราชสีมา ผู้อพยพ 544 คน
- อุบลราชธานี น้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น จัดตั้งจุดอพยพในอำเภอเมืองอุบลราชธานี ผู้อพยพ 467 คน
- นครสวรรค์ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลาดยาวและท่าตะโก ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำลดลง
- อุทัยธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุทัยธานี, ทัพทัน และสว่างอารมณ์ ระดับน้ำลดลง
- ชัยนาท น้ำท่วมขังในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมโนรมย์, วัดสิงห์, เนินขาม, หันคา, สรรคบุรี, สรรพยา, อำเภอเมืองชัยนาท และหนองมะโมง ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- ลพบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี, ชัยบาดาล และบ้านหมี่ ระดับน้ำลดลง
- สระบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังม่วง, แก่งคอย, เสาไห้, บ้านหมอ, หนองโดน, วิหารแดง, พระพุทธบาท, อำเภอเมืองสระบุรี, มวกเหล็ก, เฉลิมพระเกียรติ และดอนพุด ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- สุพรรณบุรี ยังคงน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางปลาม้าและสองพี่น้อง ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- สิงห์บุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอค่ายบางระจัน, อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- อ่างทอง น้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอ่างทอง, วิเศษชัยชาญ, ไชโย และป่าโมก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- พระนครศรีอยุธยา น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่, เสนา, บางบาล, อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา และบางไทร ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผง ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำแล้ว
ปัจจุบันบางพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ขณะที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว
ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง สำหรับประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ ‘ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784’ โดยแอด LINE ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง