×

สรุปประเด็นจัดงานรำลึกเหตุการณ์ ‘6 ตุลา 2519’ ที่ธรรมศาสตร์ หลังเกิดข้อถกเถียง จัดออนไลน์ vs. ออนไซต์

01.10.2021
  • LOADING...
สรุปประเด็นจัดงานรำลึกเหตุการณ์ ‘6 ตุลา 2519’

1. งานรำลึก 45 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งจัดพิธีรำลึกทุกปีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์จริงเมื่อปี 2519

 

2. ในปีนี้ (2564) เป็นปีแรกที่มีประเด็นว่าจะสามารถจัดพิธีรำลึกภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ทางฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีความเห็นให้จัดทางออนไลน์โดยวิธีการบันทึกเทปล่วงหน้าเพื่อเผยแพร่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เพราะมีความกังวลเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 

 

3. ขณะที่ทางคณะกรรมการจัดงาน ‘ครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา 2519’ ประจำปี 2564 ในฝ่ายศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มีความเห็นว่า มีความจำเป็นต้องจัดงานรำลึกภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถานที่ซึ่งเกิดเหตุการณ์จริง 

 

4. โดยสถานะของ ‘คณะกรรมการจัดงาน’ เป็นคณะกรรมการที่มีคำสั่งแต่งตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดงานรำลึก 6 ตุลา ต่อเนื่องทุกปี 

 

5. ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนายกสโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์ปี 2521 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดงาน ยืนยันว่าจะจัดงานรำลึกที่ลานประติมากรรม หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์แล้ว ทางรองอธิการบดีเกรงว่าจะผิดคำสั่ง ศบค. แต่ส่วนตัวในฐานะคณะกรรมการจัดงาน เห็นว่าขณะนี้มีการคลายล็อกแล้ว ศบค. ให้เปิดโรงหนัง เข้าฟิตเนส และชมดนตรีสดได้แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องจัดงานรำลึกทางออนไลน์ทั้งหมด และหากจะมีการจัดออนไลน์บางส่วนก็ไม่ได้คัดค้าน   

 

6. สำหรับข้อสังเกตว่ามี ‘ใบสั่ง’ ให้ทางมหาวิทยาลัยงดจัดกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ ทนายกฤษฎางค์กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับทางมหาวิทยาลัย เพราะยังไม่มีพยานหลักฐานว่าได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจห้ามจัด   

 

7. ทนายกฤษฎางค์บอกด้วยว่า ในงานรำลึก 6 ตุลา 2519 ปีนี้ จะเป็นปีที่ 3 ที่มีการมอบรางวัล ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย’ ผู้ได้รับรางวัลเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกโดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะองค์กรหนึ่งในคณะกรรมการจัดงานรำลึก

 

8. สำหรับ 2 ปีที่ผ่านมา ในปีแรก (2562) มอบให้ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักเคลื่อนไหว ปีที่สอง (2563) มอบให้กับ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ นักเคลื่อนไหว

 

9. ส่วนปีนี้ (2564) มอบให้พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเคลื่อนไหวซึ่งอยู่ระหว่างถูกคุมขัง โดย สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวินเป็นผู้รับรางวัลแทน 

 

10. รางวัล ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย’ เป็นรางวัลที่มอบให้กับเยาวชนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นเดียวกับจารุพงษ์ 

 

11. ทนายกฤษฎางค์ ในฐานะนักศึกษายุค 6 ตุลา 2519 และเป็นเพื่อนกับจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เล่าว่า “รู้จักจารุพงษ์ตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 1 เมื่อปี 2518 ทำกิจกรรมด้วยกัน ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาครั้งแรกสอบตกทั้งคู่ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้รับเลือกตั้งทั้งคู่ เช้าวันที่ 6 ตุลา 2519 ขณะมีการล้อมปราบ เห็นจารุพงษ์ครั้งสุดท้ายที่ ‘ตึก อมธ.’ เป็นตึก 2 ชั้น อมธ. อยู่ชั้นบน สภานักศึกษาอยู่ชั้นล่าง จารุพงษ์วิ่งขึ้นมาบนตึก เขาบอกผมและทุกคนให้ออกไปจากตึก อมธ. เพราะมีการบุกเข้ามาใช้ความรุนแรง จากนั้นไม่เจอจารุพงษ์อีกเลย จนกระทั่งมาเจอภาพลงหนังสือพิมพ์ เป็นภาพจารุพงษ์ถูกลากคอบนสนามฟุตบอล”

 

12. ความสำคัญของชื่อรางวัล ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์’ จารุพงษ์เป็น 1 ในผู้เสียสละชีวิตใน 6 ตุลา 2519 โดยพยายามบอกให้ผู้คนที่อยู่ในสนามฟุตบอลและตึกต่างๆ ให้ออกไปหาที่ปลอดภัย ต่อมาตัวเขาถูกยิงริมสนามบอลด้านหน้าตึก อมธ. และถูกลากบนสนามฟุตบอล ขณะลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ตำรวจพลร่มหัวหิน ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจกองปราบ เข้ามาล้อมปราบด้วยความรุนแรง

 

13. หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ผ่านไปหลายปี เพื่อนๆ ของจารุงพงษ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสมัยที่ อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นอธิการบดี ได้ปรับปรุงห้องประชุมสภานักศึกษา และใช้ชื่อห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เราอธิบายว่าชื่อนี้คือสัญลักษณ์ คือตัวแทนนักศึกษาและประชาชนผู้เสียสละ เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงการจากไปในเหตุการณ์สังหารโหด ขณะที่ที่จุฬาฯ ก็มีการระลึกถึง วิชิตชัย อมรกุล นิสิตผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เช่นกัน

 

14. หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในช่วงแรก นักกิจกรรมหลายคนถ้าไม่ตายก็หลบเข้าป่า ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล เป็นยุคที่ปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นเลขาธิการ รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมเด็ดขาด แม้แต่กิจกรรมกีฬา เพราะเขาไม่ต้องการให้รวมกลุ่มกัน แต่พิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ยังสามารถจัดภายในมหาวิทยาลัยได้ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลและรำลึกถึงวีรชนที่เสียสละชีวิต แม้แต่ในยุคนั้นเองก็ไม่ได้ถูกห้ามไม่ให้จัดงานภายในมหาวิทยาลัย  

 

15. การจัดงานรำลึกแต่ละปี ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิดก็จัดงานปีละ 3-7 วัน แต่ปีนี้จัดเพียงวันเดียว โดยตั้งแต่เช้าจนจบงานจะดำเนินการภายใต้มาตรการระมัดระวังการแพร่กระจายของโควิด มีการจำกัดคนแต่ละจุดไม่ให้หนาแน่นเกินไป และเชื่อว่าการเข้าร่วมงานของนักศึกษาและประชาชนจะไม่แออัดอย่างบรรยากาศที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปลงพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดต่างๆ อย่างแน่นอน   

 

16. เหตุผลที่ต้องยืนยันจัดงานรำลึกภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะต้องการให้เกียรติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา และเห็นว่าสถานการณ์ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้เปลี่ยนไปแล้ว มีการคลายล็อกแล้ว จึงได้ขอให้มีมติจัดในสถานที่จริง 

 

17. “ส่วนตัวปฏิเสธที่จะบันทึกเทปล่วงหน้าเพื่อไปเผยแพร่ทางออนไลน์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เพราะต้องการจะพูดรำลึกถึงวีรชนในวันที่ตรงกับวันครบรอบ ณ สถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์จริง และมองว่าไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่ก็ตาม เผด็จการยังอยู่ เจตนารมณ์วีรชนยังไม่สำเร็จ คนผิดยังไม่ได้รับการลงโทษ เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเรียนรู้จาก 6 ตุลา 19 เราจึงยังต้องจัดงานรำลึกต่อไป” ทนายกฤษฎางค์กล่าว

 

18. ขณะที่ศิษย์ปัจจุบันของธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะแสดงความเห็นไปในทางเดียวกันให้จัดงานรำลึกภายในมหาวิทยาลัย ก็เคยมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)

 

19. อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 อมธ. ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษและแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับคณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 27 คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน/หลักสูตร มีมติไม่เข้าร่วมแถลงการณ์ของสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กดดันให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอนุมัติการจัดงานรำลึก 6 ตุลา 2519 ภายในมหาวิทยาลัย 

 

20. ในแถลงการณ์ฉบับวันที่ 28 กันยายน 2564 ทาง อมธ. ประกาศจุดยืนว่า จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องและกดดันมหาวิทยาลัยให้เปิดพื้นที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์และลานประติมากรรมวีรชน 6 ตุลา ให้สามารถจัดงานรำลึกและสดุดีเหล่าวีรชน โดย อมธ. จะช่วยอำนวยความสะดวกในวันเตรียมงานและวันจัดงานอย่างสุดความสามารถ เพื่อสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของ อมธ.

 

21. อมธ. ระบุด้วยว่า เห็นความสำคัญของเหตุการณ์ของ 6 ตุลา 2519 ชีวิต เลือดเนื้อ และการรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ความเป็นประชาธิปไตย อมธ. ต้องขอโทษอย่างถึงที่สุด และขอน้อมรับผิดในการสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาคมธรรมศาสตร์ และต้องกราบขอโทษต่อวีรชนและญาติเหล่าวีรชน 6 ตุลา 2519 รวมไปถึงอุดมการณ์ 6 ตุลา 2519 ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา ณ ที่นี้ด้วย “ขอรำลึกถึงของความกล้าหาญของวีรชน 6 ตุลา 2519 ทุกท่าน ในการต่อสู้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตย” 

 

22. ล่าสุดภายหลังจากศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน เรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทบทวนความเห็นที่จะให้จัดงานรำลึกทางออนไลน์ 

 

23. ทนายกฤษฎางค์เปิดเผยว่า ในวันนี้ (1 ตุลาคม) คณะกรรมการจัดงาน ‘ครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา 2519’ ประจำปี 2564 ซึ่งประกอบด้วยศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้ประชุมกันแล้ว มีความเห็นพ้องร่วมกันให้จัดงานรำลึกภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์จริง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีความเข้มงวดในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด เช่น การคัดกรองและการรักษาระยะห่าง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X