×

ไทยพร้อมโชว์ศักยภาพประเทศสู่เวทีโลกใน ‘World Expo 2020 Dubai’ ภายใต้แนวคิด ‘Mobility for the Future’ การขับเคลื่อนสู่อนาคต [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
01.10.2021
  • LOADING...
World Expo 2020 Dubai

HIGHLIGHTS

1 min. read
  • 1 ตุลาคม 2564 งาน World Expo 2020 Dubai ที่ถูกเลื่อนจัดมา 1 ปี พร้อมแล้วให้ชาวโลกได้เห็นศักยภาพ 192 ประเทศที่เข้าร่วมงาน และจะจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • อาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ตั้งอยู่ในพื้นที่โซน Mobility บนพื้นที่ 3,606 ตารางเมตร จัดแสดงภายใต้แนวคิด ‘Mobility for the Future การขับเคลื่อนสู่อนาคต’ 

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบและเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน World Expo 2020 Dubai ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 รับมืออย่างไรหลังงานถูกเลื่อน 1 ปี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด และพร้อมแค่ไหนที่จะโชว์ศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก



THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ถึงความพร้อมของประเทศไทยในการจัดงาน รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่หลายคนอยากรู้ถึงการรับมือกับวิกฤตหรือไฮไลต์ของปีนี้ 

 

ขอเกริ่นก่อนว่างาน World Expo เป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยงานมหกรรมโลก (Bureau of International Expositions หรือ BIE) อันถือเป็นพันธกิจของประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกของการเข้าร่วมงานทุกครั้ง กำหนดการเดิมงาน World Expo 2020 Dubai ต้องถูกจัดขึ้นปี 2020 วันที่ 20 ตุลาคม 2563 – 10 เมษายน 2564 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งนับเป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลกที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ด้วยการระบาดของโควิดทำให้การจัดงานต้องถูกเลื่อนออกไป  

 

 

โดยภาพรวมของการจัดแสดงในครั้งนี้ ทุกประเทศต้องนำเสนอภายใต้แนวคิดเดียวกันคือ ‘Connecting Minds, Creating the Future’ หรือ ‘เชื่อมความคิด สร้างอนาคต’ เปรียบเสมือนสัญญาณที่จะส่งต่อให้ทุกคนร่วมใจกันพัฒนาโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างภาคองค์กรและภูมิศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนส่งเสริมการนำเสนอนวัตกรรม ซึ่งแนวคิดหลักยังถูกย่อยออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ 

1.โอกาส (Opportunity)
2. การขับเคลื่อน (Mobility)
3. ความยั่งยืน (Sustainability) 


พื้นการจัดงานทั้งหมด 4.3 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่าสนามฟุตบอล 600 สนาม โดยอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ตั้งอยู่ในพื้นที่โซน Mobility บนพื้นที่ 3,606 ตารางเมตร หรือ 2.25 ไร่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยได้รับมา 

 

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)


‘Mobility for the Future’ การขับเคลื่อนสู่อนาคต เพื่อประกาศศักยภาพประเทศไทยสู่เวทีโลก

ดร.ณัฐพล เล่าถึงการออกแบบอาคารแสดงประเทศไทยในครั้งนี้ว่ามาจากแนวคิด ‘Mobility for the Future การขับเคลื่อนสู่อนาคต’ สอดคล้องไปกับแนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น Thailand 4.0 และเป็นเวทีประกาศศักยภาพการเป็นผู้นำเทคโนโลยีดิจิทัลของไทยในเวทีระดับโลก นำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทยในมิติ Digital for Development ซึ่งสอดรับกับแนวคิดหลักของงาน ‘Connecting Minds, Creating the Future’ 

 

“ผู้เข้าชมงานจะได้เห็นพัฒนาการของประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จนพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค ซึ่งแนวคิดดังกล่าวยังต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้า ด้วยการเชื่อมโยงผู้คน องค์กร และประเทศไว้ด้วยกัน การแบ่งปันความรู้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการร่วมมือสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืน”  

 

นิทรรศการห้องที่ 1


ไฮไลท์ที่คนไทยต้องภาคภูมิใจ ‘4 ห้องนิทรรศการหลัก’ สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในมิติต่างๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

อาคารแสดงประเทศไทย ถูกแบ่งเป็น 4 ห้องนิทรรศการหลัก ดร.ณัฐพล บอกว่า นี่คือไฮไลท์ที่คนไทยต้องภาคภูมิใจ 


ห้องนิทรรศการที่ 1: Thai Mobility นำเสนอเรื่อง Mobility ผ่านการจัดแสดงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลองและราชรถจำลอง ในรูปแบบ Walkthrough Exhibition จำลองให้ความรู้เกี่ยวกับการเดินทางของคนไทยในอดีต 


ห้องนิทรรศการที่ 2: Mobility of Life น้ำขับเคลื่อนชีวิต แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองจากอดีตสู่ปัจจุบันของไทย นำเสอผ่านภาพยนตร์แอนิเมชันในรูปแบบ Aquatic Performance 


ห้องนิทรรศการที่ 3: Mobility of the Future การขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต ที่จะพาผู้ชมขึ้นโดรน พาหนะแห่งอนาคต เดินทางสู่อนาคตของเมืองไทย ในรูปแบบภาพยนตร์แอนิเมชัน 360 Adventure สำรวจความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั้ง 7 มิติ สู่อนาคตศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาค 


ห้องนิทรรศการที่ 4: Heart of Mobility เสน่ห์เมืองไทยที่ต่างชาติหลงใหล นำเสนอในรูปแบบ ‘หนังสั้นจากเรื่องจริง’ โดยใช้เทคนิคคือ Pyramid Motion Picture เล่าผ่านคำบอกเล่าของชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ กับเสน่ห์แบบไทยที่สร้างความประทับใจให้ทั่วโลก คือหัวใจของการขับเคลื่อนประเทศ  

 

 

“นอกจากโครงสร้างหลักๆ ภายในอาคารแสดงประเทศไทย ก็ได้นำเอาเสน่ห์ของคนไทยมาร้อยเรียงในทุกองค์ประกอบ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมตั้งแต่แรกเห็นผ่านดอกไม้ไทยคือ ดอกรัก เปรียบเสมือนการต้อนรับอันอบอุ่นจากคนไทย โดยดอกไม้ยังเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการพัฒนาที่แผ่ขยายในวงกว้าง เปรียบเสมือนเกสรดอกไม้ที่แผ่กระจายและส่งต่อการเจริญเติบโตต่อไป” 

“เรามีมาสคอต ‘รัก’ (RAK) และ ‘มะลิ’ (MALI) สองพี่น้องตัวแทนประเทศไทย ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกรักและดอกมะลิ ซึ่งเป็นดอกไม้สำคัญที่ใช้ร้อยพวงมาลัยเพื่อมอบให้ผู้มาเยือน แสดงถึงมิตรไมตรีและการต้อนรับอย่างอบอุ่น สอดคล้องไปกับการออกแบบสัญลักษณ์ประจำอาคารแสดงประเทศไทย เราก็เลือกใช้ ‘พวงมาลัย’ โดยพวงมาลัยนั้นได้ถูกดัดแปลงให้เข้ากับยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ด้วยลายเส้นที่เชื่อมโยงกันแสดงถึงการเชื่อมต่อของเทคโนโลยีดิจิทัลแบบไร้ขีดจำกัด และถ้าสังเกตจะเห็นว่าเราเชื่อมโยงพวงมาลัยเข้ากับการออกแบบตัวอาคารด้วย โดยถักทอคล้ายกับม่านดอกไม้ และดึงเอาเอกลักษณ์อย่างศาลาหน้าจั่วที่แสดงถึงความอ่อนช้อยและความเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยลักษณะคล้ายการไหว้ สร้างจุดเด่นและเอกลักษณ์ของอาคาร นอกจากนี้รูปแบบซุ้มโค้งดังกล่าวยังสื่อความหมายถึงเอกลักษณ์งานสถาปัตยกรรมไทย อันได้แก่ ทรงจอมแห ลักษณะของพระปรางค์วัดอรุณฯ หรือจั่วของบ้านเรือนไทย และสุดท้ายเราเลือกใช้ ‘สีทอง’ เป็นสีหลัก เพราะเป็นสีที่สื่อถึงแผ่นดินสุวรรณภูมิ และเป็นสีเอกลักษณ์แห่งคุณค่างานสถาปัตยกรรมไทย” ดร.ณัฐพล กล่าว  

 

มาสคอต ‘รัก’ (RAK) และ ‘มะลิ’ (MALI) สองพี่น้องตัวแทนประเทศไทย

 

การออกแบบอาคารแสดงประเทศไทยในทุกขั้นตอนยังมุ่งเน้นการก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน มีการนำเทคโนโลยีออกแบบมาปรับใช้ในอาคารให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของธรรมชาติเป็นหลัก เช่น การจัดวางพื้นที่ในส่วนต่างๆ ของอาคารแสดงประเทศไทย ยึดหลักการออกแบบตามทิศทางแสงจากร่มเงาของธรรมชาติ เพื่อช่วยลดทอนความร้อนจากภายนอกที่จะผ่านเข้ามาในตัวอาคารแสดงประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาการจัดงาน


ผนึกกำลังพันธมิตรจากทั่วประเทศ พร้อมใจแสดงศักยภาพสู่สายตาชาวโลก

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า “กลุ่มสปอนเซอร์หรือพาร์ตเนอร์ที่มาร่วมงานที่น่าสนใจก็เป็นกลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เช่น นวัตกรรมทางด้านพลังงาน ดิจิทัล การคมนาคมขนส่ง ติดต่อสื่อสาร และการให้บริการ ในขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลก็ถือเป็นพาร์ตเนอร์น่าจะได้รับความสนใจไม่น้อย ในภาพรวมถือว่าเราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนที่หมุนเวียนมาร่วมจัดกิจกรรมวันพิเศษ ภายใต้แนวคิด The Best of Thailand นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์และศักยภาพด้านต่างๆ ของประเทศบนเวทีโลก รวมทั้งช่วยสานสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก”

กิจกรรมไฮไลต์ในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ที่จะได้เห็น ได้แก่ เทศกาลอาหารไทยและสัปดาห์สุขภาพ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, เทศกาลลอยกระทงและสายน้ำ นิทรรศการฉลองครบรอบ 45 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยกระทรวงการต่างประเทศ, เทศกาลดิจิทัลและนวัตกรรม จัดแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมจากการคิดค้นของคนไทย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น  

 

นิทรรศการห้องที่ 3

 

ตั้งเป้า ต่อยอดสู่การลงทุน สร้างมุมมองใหม่ให้แก่นักลงทุนต่างชาติ

“วัตถุประสงค์ของการจัดงานถูกเปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนจนถึงปัจจุบันจะเน้นเรื่องของการนำเสนอด้านวัฒนธรรม อย่างครั้งนี้ก็จะมีกลิ่นอายเกี่ยวกับการสร้างการรับรู้ถึงแรงกระตุ้นในโอกาสใหม่ๆ ซึ่งประเทศไทยกำลังความสามารถด้านการขนส่งเรามี เพราะเชิงกายภาพเราพร้อม เรามีท่าเรือน้ำลึก สนามบิน และเราก็มีระบบสาธารณสุขที่พร้อมดูแล สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้ต่างชาติเห็นในมิติใหม่ นักธุรกิจอาจจะมองประเทศไทยเป็นสวรรค์ของการลงทุน

 

“อาคารแสดงประเทศไทยจะมีกลิ่นอายการท่องเที่ยว โอกาสที่เห็นก็คือการท่องเที่ยวในวิถีใหม่ การค้าและการบริการเราใส่เข้าไปทั้งเทคโนโลยี 5G และ Health Service ซึ่งต่างชาติก็สนใจ รวมถึงเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมดิจิทัล สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นที่ประเทศไทยไม่ค่อยนำเสนอให้ชาวต่างชาติได้เห็น ปกติจะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอาหาร พลังงาน วัฒนธรรม แต่ครั้งนี้เรามีกลิ่นอายของสิ่งเหล่านี้แอบแฝงอยู่ เชื่อว่าจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับเมืองไทยได้อย่างแน่นอน

 

“การจัดงานในครั้งนี้ทางผู้จัดงานตั้งเป้าว่าจะมีคนมาเยี่ยมชมงานประมาณ 25 ล้านคน แต่ด้วยสถานการณ์โควิดอาจไม่ถึงเป้านั้น เราเลยมองไว้ประมาณ 12 ล้านคน ถ้าสมมุติว่า 10% หรือ 1 ล้านคนของคนกลุ่มนี้ไปเยี่ยมชมอาคารแสดงประเทศไทย และแค่ 25% ของ 1 ล้านคน ไปแล้วจดจำประเทศไทยได้ และถ้าคนกลุ่มนี้มาเมืองไทย คิดเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 3,000 บาทต่อวัน และถ้าเขามาเที่ยวประมาณ 7 วัน เงินที่นำเข้ามาในประเทศไทยโดยประมาณ 6,500 ล้านบาท หรือต่อให้มีคนเข้าชมงานแค่ 5% ของ 12 ล้าน และคนกลุ่มนี้มาเที่ยวเมืองไทย ก็สร้างเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท เงินลงทุนในการจัดงานประมาณ 800 ล้านบาท แต่สร้างเม็ดเงินกลับสู่ประเทศในอนาคต ทั้งจากการท่องเที่ยว หรืออาจจะต่อยอดด้านธุรกิจในอนาคต อย่างไรก็คุ้มค่า” 

 

นิทรรศการห้องที่ 3

 

ผลกระทบจากโควิดกับการรับมือสุดท้าทายของทุกประเทศ

อาจเรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของทุกประเทศเลยก็ว่าได้ เมื่อโควิดทำให้คนทั่วโลกไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ และสถานการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นในขณะที่การก่อสร้างดำเนินการไปแล้วกว่า 50%

“เรามีการประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา พิจารณาและปรับแผนการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การดำเนินงานด้านโครงสร้างที่ทำเสร็จไปแล้วประมาณ 50% ถ้าจะเราเดินหน้าต่อสร้างเสร็จตามแผนกำหนดการเดิมก็เกรงว่าพอถึงวันเปิดงานอาคารจะเก่า เลยปรับแผนก่อสร้างให้เสร็จเฉพาะด้านนอก พอใกล้ระยะเวลางานค่อยเก็บงาน นี่คือสิ่งแรกที่เราปรับเปลี่ยน
 

“สิ่งต่อมาคือ ค่าใช้จ่าย กฎหมายของทางดูไบ พอมีการขยายการก่อสร้าง ก็จะมีค่าประกันภัย หรือของที่ยังไม่ได้นำไปตกแต่งก็ต้องเช่าโกดังจัดเก็บ ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 12.4 ล้านบาท จากงบประมาณเดิมที่รัฐบาลให้ไว้ เราไม่ได้งบประมาณเพิ่ม จึงต้องกระจายข่าวเพื่อขอความร่วมมือจากภาคเอกชนผ่านทางโซเชียลมีเดีย และก็ได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนและประชาชน ทำให้เราได้งบเต็มจำนวน 12.4 ล้านบาท

 

“เรื่องที่สามคือการเตรียมคนไปทำงาน มีทั้งสตาฟฟ์ที่ต้องอยู่ตลอดการจัดงาน 6 เดือน และเยาวชนที่เราเปิดรับสมัครให้เป็นตัวแทนประเทศไทย รวมถึงกลุ่มนักแสดง ปัญหาคือเรื่องวัคซีนที่ต้องฉีดให้ครบก่อนไป แต่สุดท้ายก็ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข”  

 

นิทรรศการห้องที่ 4

 

บทเรียนที่ยิ่งใหญ่และความท้าทายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ที่ได้จากการจัดงาน World Expo

ท้ายที่สุดแล้ว การจัดงานระดับโลกที่ต้องแสดงศักยภาพของประเทศไทยออกมาสู่สายตาคนต่างชาติก็ดี หรือการแสดงศักยภาพของประเทศไทยที่ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการระดับโลกอย่าง World Expo คือความท้าทายที่ ดร.ณัฐพล กล่าวอย่างหนักแน่นว่า พร้อมตั้งรับและพร้อมพุ่งชน 

 

“ย้อนกลับไปถึงการจัดงาน World Expo เมื่อ 4 ปีก่อน ถือเป็นความท้าทายสำหรับ depa อย่างมาก เพราะสำนักงานเพิ่งเริ่มตั้ง ไม่มีแม้กระทั่งพนักงาน ไม่มีระบบ แต่ได้รับผิดชอบงานใหญ่ระดับโลก และแน่นอนว่าหลายคนก็มองว่าไม่น่าจะสำเร็จ มันคือความท้าทายที่ depa ต้องผจญภัยไปกับสิ่งที่เราไม่มีความรู้เลย ณ ตอนนั้น มันคือการเริ่มต้นใหม่ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคกับสิ่งที่เราไม่รู้ ขณะเดียวกันก็ฝึกให้ทีมงานของเราได้รู้จักกระบวนการทางการทูต อย่างประเทศอื่นๆ เขาจะมีหน่วยงานที่ดูแลงาน World Expo โดยเฉพาะ ในขณะที่ประเทศไทยจะเป็นการเวียนหน่วยงานที่ได้รับผิดชอบไปตามความเหมาะสมของธีมการจัดงาน World Expo ในแต่ละครั้ง นี่แหละคือโอกาสที่เราจะได้ใช้ประโยชน์จากมันสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับ depa ทั้งการดำเนินการด้านงบประมาณ ด้านนโยบาย แม้กระทั่งกรอบ TOR นี่คือสิ่งที่หน่วยงานเราได้เรียนรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับทีมงานของ depa เป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้การเรียนรู้อย่างก้าวกระโดด

 

“อีกหนึ่งบทเรียนที่ depa ได้คือ การจะทำงานใหญ่ๆ ระดับโลกเราต้องคิดใหญ่ ให้คนมองเข้ามาแล้วเห็นโอกาสต่างๆ ไม่ใช่เห็นสิ่งเดิมๆ เราก็นำบทเรียนนี้มาใช้ในการทำงานอื่นๆ ในการขับเคลื่อนโปรเจกต์ใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลเอง จะไปคิดแบบ Local ไม่ได้ ต้องคิดให้โตต่อไประดับโลก

 

“การจัดงาน World Expo เป็นเหมือนงานประจำปีที่ประเทศไทยพิจารณาแล้วว่าควรเข้าร่วม เพราะการนำเสนอความเป็นไทยให้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกในเวทีนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงออกถึงศักยภาพและความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยต่อประเทศทั่วโลก และจะสร้างโอกาสย้อนกลับมาในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนในอนาคต อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย และการสร้างความสัมพันธ์กับหลากหลายประเทศที่เข้าร่วมงานโดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” 

 

สามารถติดตามข่าวสารของอาคารแสดงประเทศไทยได้ที่

โซเชียลมีเดีย: https://www.facebook.com/Expo2020DubaiThailand/

เว็บไซต์: https://www.expo2020dubaithailand.com/

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X