ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงเทศกาลกินเจปี 2564 คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลคิดเป็นมูลค่า 3,600 ล้านบาท หดตัว 8.2% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านและสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเพียงใด
ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า คนกรุงเทพฯ 55% ยังคงสนใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจ แต่มีการปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่สะดวกในการบริโภค เนื่องจากเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปสู่การ Work from Home และลดการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเข้าถึงแหล่งจับจ่ายที่คุ้นเคยในปีก่อนๆ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารข้างทางบริเวณสถานที่ทำงานทั้งแบบตักขายและนั่งรับประทานในร้าน อาจได้รับผลกระทบจากความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องของความปลอดภัยและไม่สะดวกในการออกไปจับจ่าย
ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรีหรือออนไลน์ คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะการสั่งซื้อจากกลุ่มร้านอาหารฟู้ดเชนที่หันมาเพิ่มเมนูอาหารเจ/วีแกนมากขึ้น เพื่อรุกตลาดผู้บริโภคที่รักสุขภาพ รวมถึงร้านค้าปลีกสะดวกซื้อที่มีการวางจำหน่ายอาหารเจ/วีแกนที่หลากหลายขึ้นและมีการจัดส่งเดลิเวอรี ทั้งแบบดั้งเดิม (เช่น อาหารเจสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน/แช่เย็น นมถั่วเหลือง น้ำผัก-ผลไม้) และรูปแบบใหม่ๆ อย่างผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากกลุ่มโปรตีนทางเลือก สะท้อนได้จากคนกรุงเทพฯ กว่า 81% ที่คาดว่าจะกินเจในปีนี้ สนใจจะเลือกรับประทานเมนูอาหารที่เป็นกลุ่มโปรตีนทางเลือก เพราะอยากลองรับประทาน มีเมนูที่หลากหลายและหาซื้อได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปีนี้คนกรุงเทพฯ จะสนใจอยากลองรับประทานอาหารเจกลุ่มโปรตีนทางเลือกมากขึ้น แต่ก็ยังคงกังวลในเรื่องของปัจจัยทางด้านราคา รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการ (ปริมาณสารอาหารและแคลอรี) ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมารับประทาน โดยเฉพาะในภาวะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบาง และด้วยราคาของโปรตีนทางเลือกที่ค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเทียบกับอาหารเจมื้อปกติ จึงมีผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ดังนั้นหากผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และทำกลยุทธ์การตลาดให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในจุดนี้ได้ ก็น่าจะช่วยหนุนให้ตลาดอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะการทำโปรโมชันด้านราคา ซึ่งนอกจากจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าแล้ว ยังอาศัยช่วงเทศกาลกินเจทำการตลาดให้สินค้าเป็นที่รู้จักและหันมาทดลองรับประทานมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากหมดเทศกาลก็ยังสามารถหารับประทานได้ง่าย เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอื่นๆ อาจต้องวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดให้เหมาะสมกับสภาพตลาด เพื่อให้ธุรกิจยังคงมียอดขายอาหารเจเข้ามาบ้างในช่วงเทศกาล เช่น เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา ชูจุดขายเมนูสุขภาพ หรือเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคทั้งในเรื่องของการสร้างสรรค์เมนู การเลือกวัตถุดิบ ช่องทางการสั่งซื้อ ตลอดจนบริการส่งสินค้าตามวันเวลาที่ลูกค้าสะดวก เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อมองไปข้างหน้า ด้วยพฤติกรรมของคนไทยในภาพรวมที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น จึงมีกลุ่มผู้บริโภคที่เริ่มหันมาบริโภคอาหารวีแกน และไม่ได้จำกัดเฉพาะเทศกาลกินเจเท่านั้น ทำให้คาดว่าโอกาสของตลาดอาหารวีแกนในไทยจะยังสามารถขยายตัวได้อีกในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้บริโภควีแกนไทย (รวมถึงมังสวิรัติและเจ) ราว 9 ล้านคน และน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเทรนด์บริโภคอาหารวีแกนโลก สะท้อนได้จากแนวโน้มสัดส่วนของประชากรไทยที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์น่าจะขยับขึ้นจาก 12.0% ในปี 2560 เป็น 15% ได้ภายในปี 2564
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP