วันนี้ (28 กันยายน) เวลา 11.30 น. ที่ห้องประชุมสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สุเทพ สุริยะมงคล ประธานคณะกรรมการจัดการงาน 45 ปี 6 ตุลา 2519 พร้อมด้วย กฤษฎางค์ นุตจรัส, พลากร จิรโสภณ, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และตัวแทนสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แถลงข่าวยืนยันจะจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สุเทพกล่าวว่า ตามที่มีคำสั่งจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการมีหน้าที่ คือ
- ดำเนินการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 6 ตุลา 2519 ประจำปี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- เพื่อเยียวยาความรู้สึกผู้สูญเสียและผู้จากไปในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รณรงค์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม เพื่อฟื้นฟูจิตสำนึกสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยแก่เยาวชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง
- หน้าที่อื่นๆ ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยมีวาระดำเนินการ 2 ปี
“ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยให้ความร่วมมืออย่างดี มาถึงปีนี้สถานการณ์โควิดมาขัดขวางการจัดงาน และได้คุยกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งได้แนะนำว่าให้จัดออนไลน์ แต่ตอนนี้สถานการณ์โควิดได้คลี่คลายลงไปเยอะ อย่างเช่นการผ่อนปรนตามมาตรการ ศบค. เช่น การเล่นดนตรีตามร้านอาหาร หรือการเปิดโรงภาพยนตร์ สำหรับการรำลึก 6 ตุลา ใช้สถานที่แบบโล่งแจ้ง จึงไม่มีเหตุผลว่าจะไม่ให้ใช้สถานที่ ซึ่งทางคณะกรรมการยืนยันที่จะจัดงานในสถานที่จริงตามมาตรการควบคุมโรค และขอให้มีการรำลึก ทำพิธีกรรม ปาฐกถา และวางพวงหรีดมาลา” สุเทพกล่าว
ด้านกฤษฎางค์ หรือทนายด่าง คณะกรรมการการจัดงานฯ กล่าวว่า เราตกลงใจร่วมกันว่ายืนยันจะจัดงานครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา ที่ลานประติมากรรม หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งตนได้ยืนยันกับทางมหาวิทยาลัยว่าไม่มีข้อกฎหมายใดที่ห้าม เราจะไม่นำเรื่องโควิดมาเป็นข้ออ้างในการไม่จัดงานรำลึก 6 ตุลา เหตุการณ์นี้มีประชาชน นิสิต นักศึกษา เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ต่อสู้ แลกสิทธิเสรีภาพเพื่อประชาธิปไตย และสืบสานอุดมการณ์ 14 ตุลา ซึ่งอุดมการณ์เหล่านี้ยังไม่สำเร็จ และคนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้ตายผ่านออนไลน์ แต่ตายจากสถานที่จริง ซึ่งการจัดกิจกรรมนี้จะมีมาตรการป้องกันโรค เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นสถานที่ของใคร เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์ทางการเมือง ด้วยเหตุผลว่า ศบค. ได้ผ่อนปรนการทำกิจกรรมของประชาชนแล้ว และสภานักศึกษาได้มีกำหนดการรำลึกเหตุการณ์ เพื่อกู้ศักดิ์ศรีของผู้เสียชีวิตหรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย ตนยืนยันว่าไม่ได้ขัดแย้งกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย และขอเชิญชวนประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว
กฤษฎางค์กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 07.30-12.00 น. ในส่วนของคณะกรรมการ มีการทำบุญตักบาตรตามความเชื่อทางศาสนา การวางพวงหรีด การกล่าวปาฐกถา และมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ให้กับพริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยกิจกรรมในวันดังกล่าวเพื่อมุ่งหมายให้ฟื้นฟูเกียรติภูมิวีรชน 6 ตุลา สานปณิธานวีรชน 6 ตุลา ให้สังคมไทยเดินหน้าเป็นสังคมประชาธิปไตยตามที่วีรชนต้องการ รวมทั้งป้องกันปราบปรามนักศึกษา ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างที่ผ่านมา รวมทั้งการนำคนผิดมาลงโทษ และในช่วงบ่ายจะเป็นการจัดกิจกรรมของทางสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้านจุฑาทิพย์กล่าวว่า งานรำลึก 6 ตุลา ยืนยันจะจัดในสถานที่จริง แม้ทางมหาวิทยาลัยจะยังไม่อนุมัติการใช้สถานที่ ซึ่งได้ขีดเส้นตายให้มีคำสั่งภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 การจัดงานนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การรำลึกอย่างเดียว แต่เป็นการต่อสู้ที่ยังไม่จบ และยังประกาศว่าเรายังสู้ต่อไป ทั้งนี้ คนที่ตายยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และคนผิดยังไม่ได้รับโทษ ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้คืนความยุติธรรมให้กับวีรชน