×

ธปท. พร้อมปรับเกณฑ์ให้สถาบันการเงินกางร่มช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น แนะธุรกิจทุกภาคส่วนปรับตัวรับ 2 กระแสใหม่โลก

27.09.2021
  • LOADING...
Bank of Thailand

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมสามัญประจำปี 2564 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หัวข้อ ‘มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด’ โดยยอมรับว่า แม้การปล่อยสินเชื่อและช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดโดยกลไกปกติของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาจะทำได้ดีระดับหนึ่ง เห็นได้จากสินเชื่อใหม่ที่ยังขยายตัวได้ 4% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด แต่หากเทียบกับปัญหาที่รุนแรงและสะสมจากวิกฤตครั้งนี้ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร โดยเฉพาะในการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs 

 

ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า ที่ผ่านมา ธปท. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ดำเนินนโยบายแบบ Countercyclical ที่ในช่วงเศรษฐกิจซบเซาต้องเป็นนโยบายที่ผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะกับบริบทที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน เพื่อลดโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะหุบร่ม รวมทั้งดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินและภาวะการเงินให้ผ่อนคลายต่อเนื่อง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ใช้มาตรการเสริมอุดบางจุดที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่ เพื่อเพิ่มความช่วยเหลือให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น 

 

  • การปรับลด FIDF Fee ให้กับสถาบันการเงินเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงนี้ไปช่วยลดภาระต่อให้ลูกหนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาด เช่น M Rate ลดลงประมาณ 0.5-0.7% เทียบกับก่อนโควิด ซึ่งช่วยลดภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชนได้ 

 

  • การช่วยเหลือ SMEs ซึ่งสำหรับสินเชื่อใหม่ ถูกเสริมด้วยการออกมาตรการเฉพาะ เช่น พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อให้ระบบธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้มากขึ้น โดยใช้การค้ำประกันผ่าน บสย. มาช่วยลดความเสี่ยงได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งแม้จะยังไม่เพียงพอ แต่อย่างน้อยเริ่มเห็นสินเชื่อ SMEs ขยายตัวกลับมาเป็นบวกได้ จากเดิมที่ติดลบมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด โดยล่าสุดในเดือนกรกฎาคม สินเชื่อ SMEs ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งหากไม่มีผลของมาตรการดังกล่าว สินเชื่อ SMEs จะยังติดลบที่ 1%

 

  • การใช้กลไก SFIs มาเสริมในการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ SMEs โดยสินเชื่อ SFIs ขยายตัวกว่า 4% ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการตามมติ ครม. รวมถึงโครงการที่ SFIs ดำเนินการเองที่ปล่อยเม็ดเงินไปแล้วอีกกว่า 3 แสนล้านบาท ตั้งแต่ช่วงเกิดสถานการณ์โควิดเป็นต้นมา

 

  • เป็นตัวกลางในการประสานความช่วยเหลือระหว่างภาคธุรกิจและธนาคารพาณิชย์ในการสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู และประสานกับ SFIs ในส่วนของสินเชื่อโครงการรัฐ เช่น LINE MAN X Wongnai กับธนาคารออมสิน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องธุรกิจร้านอาหารและกลุ่มไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบ และในระยะต่อไปจะขยายความช่วยเหลือไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในธุรกิจอื่นๆ 

 

“ที่ดำเนินการไปทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราทำพอแล้ว ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมจะออกหรือปรับมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็น ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ พ.ร.ก. Soft Loan ที่ ธปท. และภาครัฐได้เร่งออกมาเพื่อแก้ปัญหาในช่วงระบาดระลอกแรก แต่เมื่อพบข้อจำกัดจึงได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติม ซึ่งสามารถให้สภาพคล่องแก่ธุรกิจ SMEs ได้เกิน 1 แสนล้านบาทภายใน 4 เดือน เร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6 เดือน และแม้จะเป็นไปตามเป้าแล้ว ล่าสุดเรายังได้ปรับเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อสอดรับกับบริบทที่เจออยู่ เช่น ปรับรูปแบบการค้ำประกันเพื่อให้สินเชื่อไปถึงกลุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และลดโอกาสที่กลุ่มนี้จะเข้าไม่ถึงสินเชื่อ” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า นอกจากปรับเรื่องสินเชื่อใหม่ มาตรการดูแลหนี้เดิมก็มีออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันและยืดเยื้อ ทำให้มาตรการลักษณะที่เป็นการพักหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นๆ ไม่ตอบโจทย์และไม่เอื้อให้เกิดการปรับตัว ดังนั้น ธปท. จึงได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 กันยายน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้เหมาะกับปัญหา โดยให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากในช่วงนี้ และช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการขยายเวลาชำระหนี้ รวมทั้งต้องเร่งช่วยลูกหนี้ให้ได้จำนวนมากและเร็ว

 

อย่างไรก็ดี ผู้ว่า ธปท. ยอมรับว่า ด้วยวิกฤตที่หนัก กว้าง และรุนแรง ในท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือจากกลไกของระบบธนาคารพาณิชย์ กลไก SFIs และกลไกเสริมจาก ธปท. เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วก็จะยังไม่สามารถช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ทั้งหมด การช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัดไปช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่มีโอกาสที่จะพลิกฟื้นและกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

 

ในทางกลับกัน เศรษฐพุฒิกล่าวว่า หากจัดสรรทรัพยากรไปใช้อย่างไม่ถูกจุด ผู้เดือดร้อนหนักอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือเพียงพอ และอาจส่งผลให้กลไกของระบบธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ทำให้ธนาคารหุบร่มแทนที่จะเห็นการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม อาจเกิดการเรียกหนี้คืนจากธนาคารพาณิชย์ หรือการขายลูกหนี้หรือทรัพย์ออกไปนอกธนาคารพาณิชย์ในราคา Force Sale ดังเช่นที่เกิดขึ้นในวิกฤตปี 2540 ซึ่งจะทำให้ผลกระทบยิ่งขยายเป็นวงกว้าง ดังนั้นการดูแลช่วยเหลือลูกหนี้จึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการบรรเทาผลกระทบต่อลูกหนี้ กับการดูแลเสถียรภาพและการทำงานของระบบการเงินให้ดำเนินต่อไปได้ มิเช่นนั้นผลกระทบจะกว้าง ยาว และหนักกว่าที่เราประสบในปัจจุบัน

 

“แม้การดูแลช่วยเหลือลูกหนี้จะไม่ได้ทำให้ลูกหนี้รอดทุกคน แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือการทำให้ลูกหนี้รอดมากที่สุด ดังนั้นบทบาทสำคัญของ ธปท. จึงเป็นการออกแบบมาตรการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อหรือสนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถจัดสรรทรัพยากรไปช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น และยังมีฐานะแข็งแกร่ง” เศรษฐพุฒิ กล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. ยังได้พูดถึงกระแสใหม่ในโลกสองประเด็นที่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยจะต้องเรียนรู้และปรับตัว ประเด็นแรก คือกระแสเรื่องดิจิทัล ที่เริ่มเห็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น การใช้ Digital Footprint ในการทำธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องของดิจิทัลมากขึ้น 

 

ประเด็นต่อมา คือเรื่อง ESG โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเร็วและแรงกว่าที่คาด ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม แต่จะรวมถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการออกนโยบายต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือกรณีที่สหภาพยุโรปได้ออก European Green Deal ซึ่งจะมีการบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ซึ่งจะคล้ายกับภาษีที่จัดเก็บตาม Carbon Footprint ของสินค้าต่างๆ 

 

“สองกระแสนี้จึงเป็นตัวอย่างของสิ่งที่จะมากระทบกับทุกภาคส่วน ซึ่งทุกฝ่ายต้องปรับตัว ปรับรูปแบบและกระบวนการทำงาน เพื่อให้สามารถรองรับกระแสดังกล่าว ซึ่งนับวันจะยิ่งมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ที่สำคัญเราจะต้องออกจากวิกฤตนี้ด้วยแผลเป็นที่น้อยที่สุด เพื่อให้มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการปรับตัวรองรับกระแสโลกใหม่ได้ดีขึ้น” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

สำหรับภาคธุรกิจ ภายใต้บริบทที่ปัจจัยภายนอกมีความไม่แน่นอนสูง การวางแผนทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง การดำเนินกิจการ หรือการลงทุนใหม่ จะต้องให้น้ำหนักมากขึ้นกับกระแสโลกใหม่ ทั้งการให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และกระแสเรื่องดิจิทัลที่จะทำให้ธุรกิจต้องแข่งขันกันมากขึ้น 

 

ในส่วนของประชาชน ต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เร่งวางแผนทางการเงิน จัดเตรียมเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องเพิ่มความสำคัญกับการเท่าทันกระแสดิจิทัล เพราะนอกจากจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับงานในโลกใหม่แล้ว ยังช่วยป้องกันการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ที่อาจมีเพิ่มขึ้นได้

 

สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ นอกจากจะมีหน้าที่ดูแลให้ลูกหนี้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้แล้ว สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือการปรับตัวเพื่อรองรับบริบทใหม่ๆ และต้องจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปในรูปแบบที่สอดคล้องกับกระแสของอนาคตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Green และ ESG มากขึ้น เช่น การผนวกเรื่อง ESG เข้าไปตลอดกระบวนการให้สินเชื่อ การเปิดเผยข้อมูลเรื่องการดำเนินการด้านความยั่งยืน รวมถึงการมีนโยบายขององค์กรที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน 

 

ธปท. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลระบบธนาคารพาณิชย์และทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศก็ต้องปรับตัวอย่างน้อย 3 ด้าน คือ



1. การดูแลให้บรรยากาศในภาคการเงินเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน
2. ต้องเพิ่มสมดุลระหว่างการเอื้อให้มีนวัตกรรมใหม่หรือมีผู้เล่นรายใหม่ กับการดูแลให้ระบบการเงินยังสามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และมีเสถียรภาพ
3. ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและ SMEs ที่ยังเป็น Pain Point สำคัญของระบบการเงินไทย 

 

ภาครัฐเองต้องปรับตัวไปสู่การเป็น Facilitator โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนมากขึ้น และในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิดนี้ ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายแบบ Countercyclical เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณภาครัฐที่ล่าสุดได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดูแลสถานการณ์ให้ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใส่ใจกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตอย่างเต็มศักยภาพได้ยั่งยืน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X