นอกจากแถลงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แล้ว เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ยังใช้โอกาสนี้แสดงจุดยืนของธนาคารกลางต่อสกุลเงินดิจิทัลกลาง หรือ CBDC โดยพาวเวลล์กล่าวชัดเจนว่า Fed ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับสกุลเงิน CBDC กระนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะได้มีการผลักดันให้มีการศึกษาเกี่ยวกับการนำมาประยุกต์ใช้ในระบบการเงินของสหรัฐฯ แล้ว คาดว่าน่าจะมีการเปิดเผยผลการศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวในไม่ช้านี้
พาวเวลล์กล่าวว่า Fed ไม่รู้สึกกดดันหรือเร่งรัดตนเองให้ต้องออก CBDC เพื่อแข่งขันกับชาติอื่นๆ ที่กำลังเดินหน้าศึกษา ทดสอบ หรือผลักดันการใช้ CBDC ของสกุลเงินของตนเองแต่อย่างใด เนื่องจากสิ่งที่สำคัญกว่าคือการดำเนินการให้มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่พร้อมต่อการตัดสินใจดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ดังนั้น จึงไม่คิดว่าสหรัฐฯ ล้าหลังชาติอื่นๆ ในเรื่อง CBDC และย้ำชัดว่า การทำได้ดีย่อมดีกว่าทำได้เร็ว ซึ่ง Fed กำลังประเมินความเป็นไปได้ที่จะออกสกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัล และรูปแบบของสกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัล
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องสกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัลมีการพูดคุยหารือกันมานานหลายปีแล้ว ก่อนที่ Fed จะประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่าได้เริ่มเดินหน้าศึกษาอย่างจริงจัง และเตรียมเผยแพร่รายงานผลการศึกษาภายในปีสิ้นปีนี้ โดย Fed ได้ดำเนินการศึกษาเรื่อง CBDC ร่วมกับมหาวิทยาลัย MIT
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า แกรี เกนสเลอร์ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) แสดงความเห็นระหว่างเข้าร่วมงานอีเวนต์ออนไลน์ที่จัดโดย The Washington Post ระบุ มองไม่เห็นความเป็นไปได้ในการมีอยู่ของคริปโตเคอร์เรนซีในระยะยาว พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซีและ Stablecoin ต่างๆ เพื่อปกป้องนักลงทุนในตลาด
ทั้งนี้ เกนสเลอร์ได้เปรียบเทียบคริปโตเคอร์เรนซีนับพันสกุลที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นสถานการณ์ที่เหมือนกับธนาคารในยุค ‘Wildcat’ ในช่วงปี 1837-1863 ซึ่งเป็นยุคที่สหรัฐฯ มีธนาคารเถื่อนผุดขึ้นมากมายในช่วงที่ไม่มีกฎระเบียบกำกับควบคุมธนาคาร ทำให้ธนาคารเหล่านี้สามารถพิมพ์ธนบัตรหรือกำหนดสกุลเงินขึ้นมาใช้เอง ก่อนที่จะโดนกำราบไป หลังอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ก่อตั้งสำนักงานบัญชีกลาง เพื่อกำหนดสกุลเงินดอลลาร์ขึ้นมาใช้ โดยอิงมูลค่ากับทองคำ
ดังนั้น ในมุมมองของเกนสเลอร์ คริปโตเคอร์เรนซีเหล่านี้จะเกิดขึ้นและล้มหายตายจากไป ทำให้ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและความสนใจมากกว่าก็คือ การจัดทำกฎระเบียบเพื่อทำให้สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้มีระเบียบกำกับดูแล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน
อ้างอิง: