ต้องยอมรับว่าวันนี้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงในหมู่นักลงทุนของไทย โดยเฉพาะนักลงทุนที่พยายามแสวงหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) จากภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
นอกเหนือจากการซื้อคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลต่างๆ เพื่อรับผลตอบแทนจากราคาที่ขึ้นและลงแล้ว สินทรัพย์ดิจิทัลยังมีประโยชน์ในภาคของการระดมทุน โดยเปิดโอกาสให้บริษัทหรือองค์กรที่มีแนวคิดหรือโครงการใหม่ๆ มีโอกาสระดมทุนจากคนทั่วไปโดยการออกโทเคนดิจิทัลที่เรียกกันว่า ‘ไอซีโอ (Initial Coin Offering: ICO)’
การระดมทุนแบบ ICO คือการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย โดยบริษัทจะเสนอและกำหนดขายโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิหรือผลประโยชน์ต่างๆ ของผู้ลงทุน เช่น ส่วนแบ่งรายได้จากโครงการ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง
และกำหนดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการจะร่วมลงทุนสามารถเข้าร่วมได้โดยการซื้อโทเคนดิจิทัลที่บริษัทออก โดยมีการกำหนดและบังคับสิทธิที่จะได้รับด้วย Smart Contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน
ซึ่งวันนี้บ้านเรามี ICO ตัวแรกที่กำลังเปิดให้จับจองเป็นเจ้าของกันแล้ว ดังนั้นเราจึงขอยก 4 เรื่อง เพื่อทำความเข้าใจใน ‘โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ’ กับการเป็น Real Estate-Backed Token ตัวแรกของประเทศไทย
รู้จักโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ‘สิริฮับ / SiriHub’
‘สิริฮับ / SiriHub’ คือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน โดยมีผู้ออกโทเคนดิจิทัลคือ บริษัท เอสพีวี 77 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย (ทะเบียนเลขที่ 0105563011428) และเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนต่อประชาชนครั้งแรกผ่านบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
ความน่าสนใจคือ สิริฮับกำลังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการลงทุนที่โดดเด่น เพราะเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate-Backed ICO) โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนด้วยศักยภาพโครงการ ‘สิริ แคมปัส’ ที่มีกระแสรายรับต่อเนื่องจากสัญญาเช่าระยะยาวถึง 12 ปี กับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
บรรยากาศภายในอาคารสำนักงาน ‘สิริ แคมปัส’
ซึ่งกลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส มีจำนวนอาคารทั้งหมด 5 หลัง ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน 6 ชั้น จำนวน 3 หลัง อาคารสำนักงานพาณิชย์ (ร้านค้า) 6 ชั้น จำนวน 1 หลัง และอาคารสำนักงานพาณิชย์ และจอดรถยนต์ 7 ชั้น จำนวน 1 หลัง โดยมีพื้นที่ให้เช่าสุทธิประมาณ 19,602 ตารางเมตร และพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 31,862 ตารางเมตร
ในปัจจุบันกลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส ดำเนินการเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าในแบบ Bare Shell มีแสนสิริเป็นผู้เช่ารายเดียวของทั้งกลุ่มอาคาร เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของกลุ่มแสนสิริ มีระยะเวลาการเช่า 12 ปี (วันที่ 16 ธันวาคม 2562 – 15 ธันวาคม 2574) และมีอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) 100% โดยจ่ายค่าเช่าปีละ 149.4 ล้านบาท
วัตถุประสงค์ของการออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ
สิริฮับจะมีการระดมทุนในมูลค่ารวม 2,400,000,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ข้อหลัก คือ
- ลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งกลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส โดยลงทุนในสัญญาที่อ้างอิงกระแสรายรับจากกลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส จากบริษัท สิริพัฒน์ โฟร์ จำกัด และลงทุนในหุ้นของบริษัท สิริพัฒน์ โฟร์ จำกัด และโอนเข้าไปเป็นทรัพย์สินในกองทรัสต์
- ชำระต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล ชำระคืนเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนครั้งนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทผู้ออกโทเคนดิจิทัล รวมถึงชำระค่าภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
เสนอขายที่ 10 บาทต่อโทเคน
เรียกว่า ‘โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ’ นั้นกระจายโอกาสให้นักลงทุนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ด้วยราคาเสนอขายที่ 10 บาทต่อโทเคน และมูลค่าการจองซื้อขั้นต่ำเพียง 10 บาท ด้วยระบบจ่ายเงินก่อนได้ก่อน (First Come, First Served) โดยจะเสนอขายจำกัดที่ 240 ล้านโทเคน
สำหรับผู้ลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท และผู้ลงทุนประเภทอื่นที่มิใช่รายย่อยสามารถลงทุนได้ไม่จำกัด เมื่อผ่านเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด
สำหรับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- โทเคนดิจิทัลสิริฮับ A (SiriHubA) มูลค่าเสนอขายจำนวน 1,600,000,000 บาท (160,000,000 โทเคน)
- โทเคนดิจิทัลสิริฮับ B (SiriHubB) มูลค่าเสนอขายจำนวน 800,000,000 บาท (80,000,000 โทเคน)
โดยสิทธิและสถานะของผู้ถือโทเคนดิจิทัล ‘สิริฮับ’ แต่ละกลุ่มมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน
ทั้งนี้ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับมีอายุโครงการ 4 ปีนับตั้งแต่วันที่กองทรัสต์ก่อตั้งขึ้น เว้นแต่มีการต่ออายุโครงการ เนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควรตามที่กำหนดในหนังสือชี้ชวน
ผลตอบแทนที่ได้รับระหว่างถือครองโทเคน
แน่นอนว่าทุกการลงทุนเกิดขึ้นเพื่อหวังผลตอบแทน สำหรับประโยชน์ที่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับจะได้รับระหว่างการถือครองโทเคนนั้น ทางผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีความประสงค์ที่จะจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ผู้ถือโทคนดิจิทัลในทุกไตรมาส
ซึ่งส่วนแบ่งที่จะจัดสรรให้แก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลทั้ง 2 กลุ่มที่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งรายได้รายไตรมาสนั้นจะมาจากกระแสรายรับสุทธิตามสัญญา RSTA (Revenue Sale and Transfer Agreement) ซึ่งมาจากรายได้ค่าเช่าจากแสนสิริ โดยมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
- ผู้ถือโทเคนดิจิทัล SiriHubA จะมีสิทธิได้รับ
- ส่วนแบ่งรายได้รายไตรมาสในอัตราส่วนแบ่งรายได้ต่อมูลค่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลสิริฮับ A ไม่เกิน 4.5% ต่อปี
- ส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการ โดยจะได้รับรายได้ส่วนสุดท้ายจำนวนสูงสุดไม่เกิน 1,600,000,000 บาทแรก ก่อนผู้ถือโทเคนดิจิทัลสิริฮับ B
- มีสิทธิในการลงมติอนุมัติให้มีการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการ หากรายได้ส่วนสุดท้ายที่ได้รับจากการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการต่ำกว่า 1,600,000,000 บาท
- ผู้ถือโทเคนดิจิทัล SiriHubB จะมีสิทธิได้รับ
- ส่วนแบ่งรายได้รายไตรมาสในอัตราส่วนแบ่งรายได้ต่อมูลค่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลสิริฮับ B ไม่เกิน 8.0% ต่อปี
- ส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการ โดยจะได้รับรายได้ส่วนสุดท้ายเฉพาะส่วนที่เกิน 1,600,000,000 บาทเป็นต้นไป
- ไม่มีสิทธิในการลงมติอนุมัติให้มีการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการ หากรายได้ส่วนสุดท้ายที่ได้รับจากการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการต่ำกว่า 1,600,000,000 บาท
นักลงทุนที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน XSpring ทั้งในระบบ iOS และ Android และศึกษาข้อมูล เปิดบัญชี ยืนยันตัวตน รวมถึงทำแบบทดสอบทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน และสามารถจองซื้อโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับผ่านแอปพลิเคชัน XSpring ได้ระหว่างวันที่ 21 กันยายน – 4 ตุลาคม 2564
โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ ‘โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ’ ได้ที่เว็บไซต์ xspringdigital.com/th/project/sirihub
คำเตือน: ก่อนตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวน เพื่อความเข้าใจลักษณะของผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์
อ้างอิง: