ตลอดช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเสี่ยงที่จะล้มละลายของ China Evergrande อสังหาริมทรัพย์ยักษ์เบอร์ 2 ของจีนกลายเป็นที่จับตาไปทั่วโลก ด้วยหลายคนหวั่นวิตกว่า Evergrande อาจจะเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤตการเงินครั้งใหม่ในเอเชีย
Evergrande จุดความกังวลต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคธนาคารในจีน และภาคการลงทุนในจีนและเอเชีย ด้วยการเปิดเผยแถลงการณ์ว่า บริษัทกำลังประสบปัญหาทางการเงิน มีหนี้สินสูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท (356,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีความเสี่ยงที่อาจจะผิดนัดชำระหนี้ทั้งที่กำลังจะมาถึงในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้และหนี้ในอนาคต
การตอบรับของตลาดผู้บริโภคก็โกลาหลตามที่ได้เห็นจากหลายสำนักข่าวทั่วโลก ขณะที่ตลาดทุนตอบรับความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการเทขายหุ้น Evergrande กดให้ราคาปรับตัวลดลงราว 90% จากต้นปี อีกทั้งยังลามไปถึงหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายอื่น รวมไปถึงหุ้นกลุ่มธนาคารด้วย
ความกังวลและท่าทีที่ตลาดตอบรับต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลเพิ่มว่า วิกฤตการณ์ของ Evergrande นี้จะลุกลามไปสู่วิกฤตการเงินในเอเชียครั้งใหม่หรือไม่ โดยนำไปเทียบเคียงกับวิกฤต Subprime เมื่อปี 2551 เนื่องจากมีสาเหตุที่คล้ายๆ กัน
THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์ พบว่า ส่วนใหญ่มีมุมมองที่คล้ายคลึงกันว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะ ‘ไม่รุนแรง’ เท่ากับวิกฤต Subprime เมื่อปี 2551 จาก 5 เหตุผล
- มูลหนี้ Evergrande น้อยกว่า
เป็นที่รู้กันดีว่า Evergrande มีหนี้สินสูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท (356,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็น 2% ของ GDP จีน แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการก่อหนี้ในวิกฤต Subprime
อีกทั้งยังเป็นหนี้เงินกู้ขององค์กรเอกชนรายหนึ่งของประเทศจีนเท่านั้น ขณะที่มูลหนี้ในวิกฤต Subprime นั้นมาจากกหลากหลายกลุ่มบริษัทและกลุ่มบุคคล
- Leverage ไม่สูงเท่าช่วง Subprime
ย้อนไปดูสาเหตุวิกฤต Subprime จะพบว่าเกิดจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา การกู้ยืม และการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์บางรายมีการกู้และทำ Leverage กันเยอะมาก บางบริษัทอสังหาริมทรัพย์มีการออกตราสาร CDO (Collateralized Debt Obligation) ซึ่งปั่นให้มูลหนี้ก้อนเดิมเพิ่มมูลค่าไปหลายสิบเท่าตัว วิกฤตครั้งนั้นจึงมีผลกระทบกินวงกว้าง และเผยให้เห็นความอ่อนแอของระบบการเงินและการกำกับดูแลทั่วโลก
ขณะที่วิกฤต Evergrande นั้นแม้จะเริ่มต้นจากภาคอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน แต่การกู้ยืมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับ Evergrande นั้นมี Leverage เพียง 1-2 เท่า
วงการตลาดทุนจึงประเมินว่าผลกระทบที่จะตามมาจากวิกฤตรอบนี้จะไม่แรงเท่ากับ Subprime
- จำนวนแบงก์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่สูง
มูลหนี้ของ Evergrande ที่ 3.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2% ของ GDP จีน และประมาณ 1 ใน 3 เป็นหนี้จากการกู้ยืมธนาคาร ส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3 เป็นหนี้จากการออกตราสารพันธบัตร (หุ้นกู้) ที่เสนอขายแก่นักลงทุนและสถาบันการเงินต่างๆ
หากตีกรอบธนาคารในประเทศจีน ปัจจุบันมีธนาคารประมาณ 4,000 แห่ง ซึ่งมี 130 แห่งที่เกี่ยวข้องหรือปล่อยสินเชื่อให้กับ Evergrande และมีสถาบันการเงิน 123 แห่งที่เป็นผู้ถือครองหุ้นกู้
เมื่อเทียบกับผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤต Subprime แล้ว จะเห็นว่าครั้งนี้มีวงจำกัดกว่ามาก
- ฐานทุนของแบงก์น่าจะยังพอมี
ระดับความกังวลต่อหนี้เสีย หรือ NPL ของจีนนั้นถูกเพิ่มดีกรีขึ้นด้วยมูลค่าหนี้มหาศาลของ Evergrande อย่างไรก็ตาม มีการประเมินกันว่าหากหนี้ก้อนนี้ต้องกลายเป็น NPL จริง จะทำให้ NPL รวมของจีนเพิ่มขึ้นราว 0.10-0.15% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 2%
ขณะเดียวกัน เชื่อกันว่าความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ Capital Adequacy Ratio (CAR) ของธนาคารประเทศจีนทั้งระบบยังรองรับได้
- การยื่นมือเข้าช่วยเหลือของรัฐบาล
รัฐบาลจีนเป็นรัฐบาลเบ็ดเสร็จ และมักจะเข้ามามีบทบาททั้งด้านการควบคุมและช่วยเหลือภาคเอกชนในประเทศอยู่เสมอ สะท้อนได้จากการรื้อกฎเกณฑ์กำกับดูแลภาคธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจอินเทอร์เน็ต โรงเรียนกวดวิชา เพื่อจัดระเบียบและโครงสร้างทางสังคมให้เอื้อกับภาคประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลางให้มากที่สุด วงการตลาดทุนจึงมีมุมมองเดียวกันว่า รัฐบาลจีนน่าจะเข้ามาทำอะไรสักอย่างเพื่อคลายปมวิกฤตนี้ โดยมีโจทย์เรื่องการรักษาความมั่นคงของประเทศและลดความเดือดร้อนของภาคประชาชน (ผู้บริโภค) เป็นธงหลัก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ส่อเค้าว่าจะผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande ยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น จึงยังต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด เพราะเวลานี้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า กองไฟที่ถูกโหมขึ้นมาจากปัญหาหนี้ของ Evergrande จะมีเชื้อฟื้นกองอยู่ข้างๆ อีกมากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท