×

ย้อนรอยปมเบี้ยวหนี้ Evergrande นักวิเคราะห์หวั่นกลายเป็นชนวนเหตุลามสู่วิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่

17.09.2021
  • LOADING...
Evergrande

การผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ของจีน จากปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ได้สร้างความกังวลไปทั่วตลาดหุ้นเอเชีย ด้วยกลัวว่า Evergrande จะกลายเป็นชนวนเริ่มต้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ รอบใหม่

 

Evergrande ถูกจับตามองมากที่สุดในเวลานี้ จากปัญหาหนี้เสียที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในวงกว้าง โดยนักวิเคราะห์และตลาดเริ่มกังวลว่า นี่อาจจุดชนวนปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่จะคาดการณ์ได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ Evergrande ได้ออกคำเตือนว่า ทางบริษัทอาจไม่สามารถจะแบกรับภาระหนี้ก้อนมหาศาลได้อีกต่อไป

 

ปัจจุบันกลุ่ม Evergrande มีหนี้สินรวมกว่า 1.97 ล้านล้านหยวน หรือ 3.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท)​ จากการกู้เงินมหาศาลเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเร่งยอดขายช่วงที่เศรษฐกิจจีนรุ่งเรือง 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาฯ ของจีนเผชิญกับภาวะฟองสบู่ (ซัพพลายล้น) และพบกับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้สายป่านของ Evergrande สิ้นสุดลงพร้อมกับภาระหนี้จำนวนมาก 

 

ด้านบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ พากันปรับลดอันดับเครดิตของ Evergrande เพื่อสะท้อนปัญหาสภาพคล่องในปัจจุบัน โดย S&P ได้ปรับลดอันดับเครดิตของ Evergrande เป็น ‘CC’ จาก ‘CCC’ ด้วยแนวโน้มเชิงลบ สาเหตุหลักจากสภาพคล่องที่ลดลง และความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างหนี้

 

ขณะที่ Fitch ได้ปรับลดอันดับความเชื่อถือของกลุ่ม Evergrande เป็น ‘CC’ จาก ‘CCC’ เมื่อวันที่ 7 กันยายน และระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ Evergrande จะผิดนัดชำระหนี้บางอย่าง นอกจากนี้ Fitch ยังได้เพิ่มผลกระทบโดยรวมต่อภาคการธนาคารเข้าไปด้วย เพราะนอกเหนือจากเงินกู้ยืมของ Evergrande มูลค่าราว 5.72 แสนล้านหยวน (8.88 หมื่นล้านดอลลาร์) ที่ถือครองโดยธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ แล้ว ทางธนาคารเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงทางอ้อมกับซัพพลายเออร์ของ Evergrande ซึ่งเป็นหนี้ 6.67 แสนล้านหยวนสำหรับค่าสินค้าและบริการ

 

และล่าสุด ทางด้าน Chengxin International (CCXI) หน่วยงานจัดอันดับของจีน ได้ปรับลดอันดับเครดิตของ Evergrande จากระดับ AA สู่ระดับ A และปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรและผู้ออกหุ้นกู้ สู่ระดับเฝ้าระวังเมื่อวันที่ 15 กันยายน ซึ่งนับเป็นการถูกลดอันดับเครดิตเป็นครั้งที่ 3 ในรอบสองสัปดาห์ หลังจากบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และมีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้ 

 

และการถูกลดอันดับเครดิตข้างต้น ทำให้ Hengda Real Estate Group Co., Ltd. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของ China Evergrande Group ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) เพื่อขอระงับการซื้อขายหุ้นกู้และพันธบัตรออนชอร์ของบริษัท โดยการยื่นขอระงับการซื้อขายดังกล่าวจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 กันยายน ซึ่งบริษัทเปิดให้ทำการซื้อขายเฉพาะธุรกรรมที่มีการเจรจาเท่านั้น

 

ขณะที่ตลาดหุ้นจีนวานนี้ (16 กันยายน) ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดร่วงลงกว่า 1% จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลจากความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อปัญหาของ Evergrande ในขณะที่หุ้น Evergrande ก็ปรับตัวลดลงราว 6.4% ลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดรอบ 10 ปี และถ้าดูตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน หุ้น Evergrande ร่วงลงมาแล้วราว 80-90% จากระดับ 17 ดอลลาร์ฮ่องกง มาอยู่ที่เพียง 2.5 ดอลลาร์ฮ่องกง เท่านั้น 

 

‘2 ปัจจัยเสี่ยง’ กดดันหุ้น Evergrande ร่วงหนัก 

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การตอบรับของตลาดต่อราคาหุ้น Evergrande นั้น สะท้อนความกังวลของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี 

 

อย่างไรก็ตาม จิติพลเชื่อว่าสิ่งที่ตลาดหรือนักลงทุนควรกังวลในเวลานี้คือ ความเสี่ยงจากการปรับปรุงกฎเกณฑ์ของภาคธุรกิจต่างๆ มากกว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ทางการจีนมีการรื้อกฎเกณฑ์ค่อนข้างมาก และกระทบต่อหลายภาคธุรกิจ เช่น อินเทอร์เน็ต สถาบันกวดวิชา และเกมออนไลน์

 

หุ้น Evergrande จึงถูกกดดันจากปัจจัย ‘2 เสี่ยง’ พร้อมกันคือ ความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงิน และความเสี่ยงจากการรื้อกฎเกณฑ์ของทางการจีน

 

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน ด้วยขนาดธุรกิจที่ใหญ่ เมื่อเกิดความเสี่ยงที่จะล้มละลายหรือราคาหุ้นปรับลดลงมากๆ ราว 80-90% แบบนี้ ทางการจีนก็ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการแล้ว ไม่ว่าจะลงโทษและช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างมากในอนาคต แต่ในเวลานี้เป็นช่วงที่ทางการจีนเองก็กำลังรื้อและปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ด้วย ทำให้ยังไม่ยื่นมือเข้ามาจัดการในทันที ซึ่งทำให้นักลงทุนยิ่งกังวลเพิ่มเข้าไปอีกว่าทางการจีนจะปล่อยให้ Evergrande ล่มสลายไป และเกิดการ Panic Sell หุ้นอสังหาฯ และแบงก์อื่นๆ ตามไปด้วยหรือไม่” 

 

สำหรับสถานการณ์ฐานะการเงินของ Evergrande ที่เปราะบางจนกระทั่งมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระดอกเบี้ยนั้น ประเมินผลกระทบอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการถือหุ้นกู้ (บอนด์) นั้นมีจำกัด ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับทางการเงินของจีนอยู่แล้ว ทำให้ผู้ถือบอนด์ของ Evergrande แต่ละรายจะได้รับผลกระทบไม่มากแม้ว่า Evergrande จะผิดนัดชำระก็ตาม 

 

อย่างไรก็ตาม มองในทิศทางเดียวกันกับผู้จัดการกองทุนต่างประเทศอื่นๆ คือ เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วทางการจีนจะดำเนินการไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อแก้ปัญหานี้ และลดความรุนแรงของความเสียหายที่แต่กลุ่มจะได้รับ โดยน่าจะให้ความสำคัญกับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ของโครงการ Evergrande ก่อน 

 

“แต่ทางการจีนยังไม่เข้ามาอุ้มหนี้ไว้ให้ทั้งหมด เพราะจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อผู้ประกอบการรายอื่นๆ และตอนนี้ทางการจีนกำลังเร่งปรับกฎระเบียบใหม่ๆ มากำกับดูแลภาคธุรกิจ ซึ่งเคสของ Evergrande อาจจะทำให้เกิดกฎระเบียบใหม่ๆ มาเพื่อกำกับดูแลทั้งอุตสาหรรมก็เป็นได้” 

 

ด้านผลกระทบต่อนักลงทุนไทยประเมินว่ามีจำกัด เนื่องจากกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศของไทยส่วนมากจะลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในหลายๆ ตลาด และหลายอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสหการรมอสังหาริมทรัพย์ของจีนไม่ได้อยู่ในเรดาร์มากนัก ประกอบกับชื่อเสียงของ Evergrande เรื่องการกำกับดูแลที่ไม่โปร่งใส ทำให้ไม่เข้า Criteria ในการเลือกลงทุน

 

บรรดาผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ และผู้ถือพันธบัตร พากันมารวมตัวกันที่หน้าสำนักงานของ Evergrande เพื่อเรียกร้องเงินคืนจากบริษัท

 

ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอื่นยังจำกัด

 

วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของผลกระทบจากวิกฤต Evergrande ขาดสภาพคล่องจนต้องผิดนัดชำระคืนหนี้นั้น ตอนนี้ยังประเมินความเสียหายทั้งหมดไม่ได้ เพราะยังต้องรอดูท่าทีของทางการจีนก่อนว่าจะมีนโยบายออกมาช่วยเหลืออย่างไร

 

“เชื่อว่ารัฐบาลจีนน่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากความเสียหายนี้ แต่คงจะไม่เข้าไปอุ้มหนี้ทั้งหมดเอาไว้ เพราะรัฐบาลจีนย่อมไม่ต้องการถือหุ้นกู้เอกชนอยู่แล้ว และอาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย ซึ่งก็ต้องรอติดตามต่อไปว่า ทางออกของเคสนี้จะเป็นแบบไหน” 

 

สำหรับการตอบรับของตลาดนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าราคาหุ้น Evergrande ปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วง 2-3 วันก่อนหน้า ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงิน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาวะตื่นตระหนกน่าจะชะลอลงแล้ว สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ยังไม่ส่งสัญญาณความน่ากังวลใดๆ 

 

วินกล่าวว่า ผลกระทบต่อตลาดหุ้นประเทศอื่นค่อนข้างมีจำกัด เว้นแต่กระทบต่อกองทุนที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นจีน ซึ่งในส่วนของกองทุนไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมากกว่า โดยได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ (Regulatory Risk) ไปแล้วเมื่อก่อนหน้านี้ไม่นาน

 

SCB CIO แนะเลี่ยงหุ้นกู้ High Yield ของจีน

 

SCB CIO ประเมินว่า ความเสี่ยงจาก Evergrande ยังสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งตลาดหุ้นกู้ในส่วนของ Offshore Bond (EVERRE) และ Onshore Bond (TIANHL) รวมถึงความเชื่อมั่นต่อ Evergrande Group และเสถียรภาพต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้ เนื่องจาก Evergrande Group เป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน

 

อย่างไรก็ตาม SCB CIO มองว่า ความกังวลในตลาดหุ้นกู้โดยเฉพาะในส่วนของ China Property High Yield ในช่วงที่ผ่านมาเป็นความกังวลหลักเกี่ยวกับบริษัท Evergrande ยังไม่ใช่ปัญหาเชิงระบบ 

 

ล่าสุด Evergrande ได้ตั้งที่ปรึกษาและได้รับความเห็นชอบจากทางการจีนในการเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือ Debt Restructuring แล้ว และด้วยราคาหุ้นกู้ของ Evergrande ที่ปรับลดลงไปมาก สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว 

 

สำหรับผลกระทบจากความกังวลที่มีต่อ Evergrande จากนี้ไป มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ และหุ้นกู้ High Yield ของจีนน้อยลง บนเงื่อนไขว่าไม่มีปัญหาซ่อนเร้น 

 

อย่างไรก็ตาม SCB CIO ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงตราสารหนี้ China High Yield ในช่วงนี้ และรอให้ตลาดนิ่งมากขึ้นในระยะข้างหน้าก่อน 

 

 

ย้อนรอยจุดเริ่มต้นปัญหาสภาพคล่อง Evergrande

 

สำหรับจุดเริ่มต้นของวิกฤตขาดสภาพคล่องของ Evergrande นั้น มาจากการที่บริษัทกู้เงินมากเกินไป และเสนอขายตราสารทางการเงินประเภทหนึ่ง เรียกว่า Wealth Management Product (WMP) ด้วยอัตราผลตอบแทนสูงราว 10% เพื่อนำเงินระดมทุนมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามหาศาล โดยตราสาร WMP นี้ ทาง Evergrande เสนอขายแก่ทั้งนักลงทุนทั่วไป และพนักงานบริษัท ซึ่งมีผู้สนใจถือครองตราสารนี้ราว 70,000 ราย 

 

ทั้งนี้ Wealth Management Product (WMP) เป็นช่องทางระดมทุนที่ทำให้ต้นทุนทางการเงินของ Evergrande ต่ำลง ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะ Eergrande เท่านั้นที่ใช้ช่องทางระดมทุนนี้ บริษัทอสังหาฯ รายอื่นก็มีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินนี้เช่นกัน แต่ทางการจีนก็ได้เริ่มเข้ามาปราบปรามเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว 

 

ประเด็นถัดมาที่ทำให้ปัญหาหนักยิ่งขึ้น คือยอดขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ไม่เป็นตามแผน ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ทั้งกำลังซื้อของคนในประเทศ ทำเลที่ตั้ง ราคาขาย และผลกระทบจากโควิด ซึ่งทำให้ Evergrande ไม่มีสภาพคล่อง (เงินสด) ในการไปชำระคืนหนี้ ทั้งหนี้ภาคธนาคาร หุ้นกู้ และไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือตราสารต่างๆ ได้ตามสัญญา 

 

จากนั้นก็มีรายงานข่าวว่าคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทได้ส่งจดหมายถึงหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินในมณฑลกวางตุ้ง (อยู่ในเขตกวางโจว) เพื่อส่งสัญญาณขอปรับโครงสร้างหนี้ และเตือนว่าอาจจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ได้ ดังที่ปรากฏในสำนักข่าวต่างประะเทศทั่วโลก 

 

Evergrande หรือ China Evergrande ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 โดยนักธุรกิจมหาเศรษฐี Hui Ka Yan ซึ่งปัจจุบันได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ในประเทศจีน และเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดอันดับที่ 31 ของโลก 

 

Evergrande เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของบริษัท มีการดำเนินธุรกิจโครงการมากกว่า 1,300 โครงการ ในกว่า 280 เมือง เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศจีน และติดอันดับหนึ่งใน 150 บริษัทชั้นนำของโลก (ตามการจัดอันดับของ Fortune 500) 

 

ปัจจุบัน Evergrande ได้ขยายเครือข่ายธุรกิจไปนอกกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย การลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า (Evergrande New Energy Auto) หน่วยผลิตอินเทอร์เน็ตและสื่อ (HengTen Networks) สวนสนุก (Evergrande Fairyland) สโมสรฟุตบอล (Guangzhou FC) น้ำแร่ และบริษัทอาหาร (Evergrande Spring) โดยตามข้อมูลจาก Forbes ในปี 2020 Evergrande มีรายได้รวม 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 1.2 พันล้านดอลลาร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X