ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีเด็กชายวัย 12 ปี ในเขตโคซิโคเดของรัฐเกรละ เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส ‘นิปาห์’ ข้อมูลจากทางการอินเดียระบุว่า เด็กชายคนนี้มีโรคไข้สมองอักเสบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ก่อนจะเสียชีวิตหลังจากนำตัวส่งโรงพยาบาล สื่อสหรัฐฯ อย่าง NPR รายงานว่ายังไม่ชัดเจนว่าเด็กคนนี้ติดเชื้อได้อย่างไร ขณะที่มีการใช้มาตรการ เช่น การกักตัว และการติดตามผู้สัมผัสที่พบเจอกับเด็กชายคนนี้ด้วย
ถึงกระนั้นไวรัสชนิดนี้อาจไม่ได้ใหม่สำหรับโลกใบนี้มากนัก มีการพบโรคนี้ครั้งแรกมานานกว่า 20 ปีแล้ว และเมื่อปี 2018 ก็เคยมีการระบาดของไวรัสนี้ในรัฐเกรละมาแล้วเช่นกัน
แล้วเรารู้อะไรเกี่ยวกับไวรัสนี้แล้วบ้าง นี่คือประเด็นสำคัญที่เราสรุปให้ได้อ่านกัน
- นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการระบาดของไวรัสชนิดนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไวรัสชนิดนี้เคยตรวจพบครั้งแรกในปี 1999 ระหว่างการระบาดในหมู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในมาเลเซีย และยังไม่มีการระบาดในมาเลเซียอีกเลยตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม มีการตรวจพบเชื้อนี้ในบังกลาเทศด้วยเมื่อปี 2001 และมีการระบาดในบังกลาเทศเกือบทุกปีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนทางตะวันออกของอินเดียมีการพบเชื้อนี้เป็นระยะ
- ขณะที่ภูมิภาคอื่นก็อาจมีความเสี่ยงกับการติดเชื้อเช่นกัน เนื่องจากมีหลักฐานเกี่ยวกับไวรัสนี้ถูกพบอยู่ในแหล่งรังโรคในธรรมชาติอย่างค้างคาวสปีชีส์ในสกุล Pteropus และค้างคาวสปีชีส์อื่นอีกหลายสปีชีส์ในประเทศจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงกัมพูชา, กานา, อินโดนีเซีย, มาดากัสการ์, ฟิลิปปินส์ และไทย
- สำหรับการส่งผ่านเชื้อนั้น ในการระบาดที่เป็นที่รับรู้ครั้งแรกในมาเลเซีย ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงสิงคโปร์ด้วย ครั้งนั้นมีผู้ติดเชื้อเกือบ 300 คนในมนุษย์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน และสุกรมากกว่า 1 ล้านตัวต้องถูกฆ่าเพื่อควบคุมการระบาด ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย การติดเชื้อในมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสัมผัสโดยตรงกับสุกรที่ป่วย หรือเนื้อเยื่อที่ปนเปื้อนของสุกรที่ป่วย จึงทำให้การแพร่เชื้อถูกพิจารณาว่ามาจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสุกร หรือการสัมผัสเนื้อเยื่อสัตว์ป่วยโดยไม่ป้องกัน
- ส่วนในการระบาดที่ตามมาภายหลังในอินเดียและบังกลาเทศนั้น การบริโภคผลไม้หรือผลิตภัณฑ์จากผลไม้ (เช่น น้ำจากผลอินทผลัมดิบ) ที่ปนเปื้อนปัสสาวะหรือน้ำลายของค้างคาวผลไม้ที่ติดเชื้อ มีแนวโน้มจะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อมากที่สุด ซึ่ง WHO บอกว่าค้างคาวผลไม้ในวงศ์ Pteropodidae โดยเฉพาะสปีชีส์ที่อยู่ในสกุล Pteropus เป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของไวรัสชนิดนี้
- องค์การอนามัยโลกยังบอกว่า การแพร่เชื้อไวรัสชนิดนี้จากคนสู่คนนั้นถูกรายงานในกลุ่มครอบครัวและผู้ให้การดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และระหว่างการระบาดในระยะหลังในบังกลาเทศกับอินเดีย ไวรัสนิปาห์สามารถแพร่ได้โดยตรงจากคนสู่คนโดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสารคัดหลั่งและของเสียของมนุษย์ ในปี 2001 ที่เมืองสิลิกูรีของอินเดีย มีรายงานการแพร่กระจายของไวรัสในสถานพยาบาล ซึ่ง 75% ของการติดเชื้อเกิดขึ้นในหมู่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือผู้มาเยี่ยม และจากปี 2001 ถึง 2008 ราวครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานในบังกลาเทศเกิดจากการติดต่อจากคนสู่คน โดยการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
- การติดเชื้อในมนุษย์มีตั้งแต่การติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ไปจนถึงการติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจ ทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง ตลอดจนโรคไข้สมองอักเสบถึงขั้นเสียชีวิต ผู้ติดเชื้อจะเริ่มมีอาการในระยะแรก เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน และเจ็บคอ ตามมาด้วยอาการวิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม ระดับของความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง และอาการทางระบบประสาทที่บ่งบอกถึงโรคไข้สมองอักเสบเฉียบพลัน บางคนอาจประสบกับโรคปอดบวมผิดปกติ และปัญหาระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงภาวะหายใจลำบากเฉียบพลัน
- ทั้งนี้ โรคไข้สมองอักเสบและอาการชักเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง และอาจนำไปสู่อาการโคม่าได้ภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมง ส่วนอัตราการเสียชีวิตนั้นอยู่ที่ร้อยละ 40-75 ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามการระบาด ขึ้นอยู่กับความสามารถในท้องถิ่นสำหรับการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา และการจัดการทางคลินิก สำหรับผู้ที่รอดชีวิตส่วนใหญ่จากโรคไข้สมองอักเสบเฉียบพลันจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ แต่ในระยะยาวก็มีรายงานว่ามีผู้รอดชีวิตบางส่วนที่มีอาการทางระบบประสาทเหลืออยู่ เช่น อาการชักอย่างต่อเนื่อง และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง
- ระยะฟักตัว (ช่วงเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงเริ่มมีอาการ) เชื่อกันว่าอยู่ในช่วง 4 ถึง 14 วัน อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเคยพบกรณีที่ระยะฟักตัวยาวนานถึง 45 วัน
- ขณะนี้ยังไม่มียาหรือวัคซีนเฉพาะสำหรับการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ แม้ว่า WHO จะจัดให้การติดเชื้อไวรัสนี้เป็นโรคที่มีความสำคัญสำหรับแผนงานการวิจัยและพัฒนาของ WHO ก็ตาม ซึ่งในแง่ของการรักษานั้น WHO แนะนำให้ใช้การดูแลรักษาแบบตามอาการอย่างเข้มข้นเพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อนทางเดินหายใจและระบบประสาทที่รุนแรง
- อย่างไรก็ดี ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่ามีความพยายามในการหาทางรักษา อาทิ การรักษาด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาและประเมินเพื่อใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ นอกจากนี้ ยาเรมเดซิเวียร์ยังมีประสิทธิภาพในสัตว์กลุ่มไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์เมื่อให้เป็นยาต้านไวรัสหลังการสัมผัส และอาจช่วยเสริมการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันได้ เป็นต้น และ ดร.สตีเฟน ลูบี ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก็ระบุว่ามีความพยายามในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดนี้ ซึ่งก็มีแคนดิเดตวัคซีนอยู่หลายตัวที่แสดงถึงประสิทธิภาพที่สูงในสัตว์
- ส่วนการป้องกันไวรัสนิปาห์ในสุกรสามารถทำได้โดยการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อฟาร์มสุกรเป็นประจำและทั่วถึงด้วยสารทำความสะอาดที่เหมาะสม หากสงสัยว่ามีการระบาด ควรกักบริเวณสัตว์ทันที การกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อด้วยการฝังซากหรือการเผาซากสัตว์ที่มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดอาจมีความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่คน ส่วนการจำกัดหรือห้ามการเคลื่อนย้ายสัตว์จากฟาร์มที่ติดเชื้อไปยังพื้นที่อื่นก็สามารถลดการแพร่กระจายของโรคได้ และในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนเฉพาะ ทางเดียวที่จะลดหรือป้องกันการติดเชื้อในคนคือการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัจจัยเสี่ยง และให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการเพื่อลดการสัมผัสกับไวรัสชนิดนี้ อาทิ การล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ เลี่ยงการสัมผัสค้างคาวหรือสุกรที่ป่วย หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ ฯลฯ
ภาพ: C. K Thanseer / DeFodi images via Getty Images
อ้างอิง:
- https://pib.gov.in/PressReleasePage.aspx?PRID=1752188
- https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/nipah-virus
- https://www.cdc.gov/vhf/nipah/treatment/index.html
- https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/09/12/1035571714/why-the-world-should-be-more-than-a-bit-worried-about-indias-nipah-virus-outbrea
- https://news.yahoo.com/nipah-virus-why-more-deadly-185533487.html