ปี 2564 นับเป็นปีทองของ Xiaomi ยักษ์ไอทีครอบจักรวาลจากแดนมังกร ที่ผงาดแซงทุกแบรนด์ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนไทย และอีก 22 ประเทศทั่วโลก รวมถึงก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก แซง Apple และเป็นรองเพียงแค่ Samsung เท่านั้น ข้อมูลนี้ถูกยืนยันจากบริษัทวิจัย Canalys ซึ่งพบว่า Samsung มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด 19% รองลงมาเป็น Xiaomi 17% และ Apple 14% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Xiaomi ยังสะท้อนออกมาในรูปแบบของรายได้ที่พบว่า รายได้รวมจากการขายสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 5.91 หมื่นล้านหยวน หรือเกือบ 3 แสนล้านบาท เติบโตถึง 86.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากการเป็นเบอร์ 1 ใน 20 ประเทศแล้ว Xiaomi ก้าวขึ้นเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟน 5 อันดับแรกใน 65 ประเทศ และปัจจุบันมีการบุกเข้าไปแล้วกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
กลยุทธ์ที่ทำให้ Xiaomi ประสบความสำเร็จนั้น โจนาธาน คัง ผู้จัดการ Xiaomi ประเทศไทย อธิบายว่า สิ่งที่ Xiaomi ยึดถือเลยคือ “เรามุ่งมั่นพัฒนาสินค้าที่ล้ำสมัย คุณภาพสูง ในราคาที่จับต้องได้” ด้วยสิ่งนี้เองทำให้ Xiaomi นำมาต่อยอดเป็นกลยุทธ์ ‘Smartphone x AIoT’ เป็นการดำเนินธุรกิจสมาร์ทโฟนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจสินค้า AIoT ที่ช่วยกันเสริมในด้านภาพลักษณ์ของแบรนด์ ที่แสดงออกถึงการเป็นสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่คุ้มค่า
สำหรับในประเทศไทย คังประกาศชัดย้ำรักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ในไทย หลังจากสามารถโค่นแชมป์เก่าอย่าง Samsung ในไตรมาส 2/64 ด้วยส่วนแบ่ง 21% แม้ว่าภาพรวมของตลาดสมาร์ทโฟนจะอยู่ในภาวะหดตัวก็ตาม โดย “เราจะรักษาการเป็นเบอร์ 1 ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
สำหรับทิศทางในประเทศไทยนั้น คังระบุว่า จะเดินหน้าดันสมาร์ทโฟนกลุ่มไฮเอนด์ หลังครองแชมป์สมาร์ทโฟนกลุ่มกลางและล่างได้แล้ว อย่างสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ตระกูล Mi 11 ที่พึ่งออกมาในปีนี้ ซึ่งรุ่นท็อปของตระกูลนี้คือ Mi 11 Ultra โดยลูกค้าไฮเอนด์เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีพฤติกรรมที่คำนึงถึงความล้ำหน้าของเทคโนโลยีเป็นหลักอีกด้วย (Technology-driven)
ขณะเดียวกัน Xiaomi ยังวางแผนที่จะขยายสาขา Mi Store จากเดิม 38 สาขา เพิ่มเป็น 100 สาขาภายในปีนี้ โดยสัดส่วนคร่าวๆ คือ สาขาในกรุงเทพ 40% และในต่างจังหวัด 60% ซึ่งขนาดของร้าน Mi Store จะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ
จุดนี้เรียกว่าน่าจับตาเป็นนอย่างมากท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ขยับไปสู่โลกออกไลน์มากขึ้น แต่ Xiaomi กลับเลือกที่จะขยายร้านแบบดั้งเดิม ซึ่งคังให้เหตุผลว่า สาขานั้นจะ ‘ทำให้ลูกค้าสามารถเข้ามาจับต้องสินค้าจริง และเข้าถึงบริการหลังการขายได้มากขึ้น’
นอกจากสมาร์ทโฟนที่เติบโต สินค้ากลุ่ม IoT ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน คังเผยว่าสินค้าที่ขายดีในช่วงหลังๆ นี้คือ เครื่องฟอกอากาศ สมาร์ททีวี และสายรัดข้อมือ Mi Band ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของตลาดสายรัดข้อมืออัจฉริยะ ที่ครองส่วนแบ่งในไทย 35% และมีการเติบโตถึง 34% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปัจจุบันสินค้ากลุ่ม IoT ของ Xiaomi มีกว่า 1,000 SKU ทั่วโลก โดยหลังจากนี้จะทยอยนำเข้ามาสู่ประเทศไทยเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนรายได้ของ Xiaomi ในไทย ณ วันนี้ยังคงมาจากสมาร์ทโฟนเป็นส่วนใหญ่ถึง 90% และมาจากสินค้า IoT เพียง 10% เท่านั้น
ในปีนี้ภาพรวมในตลาดโลกของ Xiaomi เดินเกมรุกมากมาย ตั้งแต่การปรับโลโก้ใหม่ของแบรนด์ไปจนถึงการรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยโลโก้ใหม่ของ Xiaomi มีการปรับขอบให้โค้งมนดูทันสมัย พรีเมียมยิ่งขึ้น และในส่วนของการรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า Xiaomi จัดตั้งบริษัทใหม่ในเครือ เพื่อใช้ดำเนินธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเงินทุนถึง 1 หมื่นล้านหยวน (ราวๆ 5 หมื่นล้านบาท)
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ตีตรา Xiaomi จะถูกนำเข้ามาวางขายในประเทศไทยหรือไม่ ผู้จัดการ Xiaomi ประจำประเทศไทยระบุว่า ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ในวันนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Apple ถอยไป! Xiaomi ผงาดขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเบอร์ 2 ของโลกเป็นครั้งแรก โดยมี ‘ราคาที่ถูกกว่า’ เป็นแรงกระตุ้นสำคัญ
- Xiaomi มาแรง! ขึ้นแท่น ‘ขายสมาร์ทโฟนได้มากที่สุดในโลก’ ในเดือนมิถุนายน 2021 แซง Samsung และ Apple เรียบร้อยแล้ว
- Xiaomi ทุ่มหมื่นล้านดอลลาร์ รุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในช่วง 10 ปีข้างหน้า
- ไม่ได้เป็นเพียงแค่ลมปาก! หลังล้ม Apple ได้แล้ว Xiaomi ตั้งเป้าแซง Samsung ขึ้นเป็น ‘ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเบอร์ 1 ของโลก’ ภายใน 3 ปี
- Huawei เพลี่ยงพล้ำ สร้างโอกาสให้ Xiaomi พบไตรมาส 2 ยอดขายโต 64% ทะลุ 4.4 แสนล้านบาท