สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทภาคการผลิตทั่วโลก ตั้งแต่ผู้ผลิตบะหมี่ไปจนถึงผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ต่างโหมลงทุนครั้งใหญ่ในรอบหลายปี ทั้งลงทุนเครื่องจักรใหม่ และตั้งฐานผลิตแห่งใหม่ เพื่อรองรับกำลังซื้อที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราเร่งหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด
ในด้านอุปทาน กำลังการผลิตสะดุดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด ที่กระทบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกนั้น ทำให้ภาคการผลิตต่างๆ ต้องลงทุนในโรงงานผลิตแห่งใหม่ การเรียกร้องให้มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และพลังงานทดแทน อีกทั้งวิกฤตการณ์ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ครั้งใหญ่ได้กระตุ้นให้เกิดคลื่นการลงทุนระลอกใหม่เช่นกัน
ขณะที่ด้านอุปสงค์ การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ตรึงไว้ในช่วงโควิด ทำให้ภาคธุรกิจเชื่อว่ากำลังซื้อกำลังรอให้โควิดโดยเฉพาะสายพันธ์ุเดลตาผ่านพ้นไป และจะเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวทั่วโลก
S&P Global Ratings เปิดเผยว่าเงินลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตของบริษัททั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 13% ในปีนี้ โดยมีการเติบโตในทุกภูมิภาคและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซมิคอนดักเตอร์ การค้าปลีก ซอฟต์แวร์ และการขนส่ง ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับนักเศรษฐศาสตร์ Morgan Stanley ซึ่งคาดการณ์ว่าการลงทุนทั่วโลกจะสูงถึง 115% ในปี 2564 และ 121% ในปี 2565 เทียบกับปีที่แล้วที่เริ่มต้นวิกฤตการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งถือว่าฟื้นตัวได้เร็วกว่าภาวะถดถอยครั้งก่อนมาก
โดยการลงทุนครั้งใหญ่นั้น ชัดเจนตั้งแต่ตลาดเกิดใหม่ไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก
Chaudhary Group ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศเนปาล ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่บะหมี่ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม และสินค้าในกว่า 35 ประเทศ กำลังขยายกิจการในอียิปต์เพื่อผลิตบะหมี่สำหรับตลาดแอฟริกา โรงงานแห่งใหม่นี้จะสร้างบะหมี่ได้ 1 ล้านห่อต่อวัน มีการจ้างพนักงาน 500 คน และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ในการพัฒนา โดย GP Sah หัวหน้าธุรกิจระดับโลกของแผนกสินค้าอุปโภคบริโภคให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทยังมองหาโอกาสในลาตินอเมริกาอีกด้วย เพราะบริษัทมีเป้าหมายเป็นผู้ผลิตบะหมี่ระดับโลก
Walmart Inc. กล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ว่า จะลงทุนประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ในด้านต่างๆ รวมถึงซัพพลายเชน ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยี เพิ่มขึ้นจาก 1.03 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ใช้ในปีก่อน
ในสหรัฐอเมริกา การลงทุนของธุรกิจในด้านอุปกรณ์และซอฟต์แวร์มีค่าเฉลี่ย 13.4% ต่อปีจนถึงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 การใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวมีค่าเฉลี่ย 14.4% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าเป็น 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2552-2562
เครก อาร์โนลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Eaton Corp. ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่มคลัตช์และเบรก กล่าวว่า ตลาดสินค้าอุตสาหกรรมเป็นอีกตลาดหนึ่งที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ซึ่งภาคส่วนนี้มีการลงทุนที่ต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้ จึงคาดว่าตลาดน่าจะทำได้ดีในปี 2565
ด้านยุโรปเองก็มีแนวโน้มการลงทุนขยายกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย S&P Global Ratings คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 16.6% ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 ขณะที่การลงทุนทางธุรกิจในสหราชอาณาจักร ซึ่งสะดุดลงจากการออกจากสหภาพยุโรปของประเทศก็เริ่มฟื้นตัว แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดอยู่ราว 15%
ด้วยพฤติกรรมทำงานจากที่บ้าน และเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังพัฒนาอย่างมาก ผลักดันให้เกิดความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ในอัตราเร่ง จนส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้า และทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนในภาคธุรกิจ เกาหลีใต้วางแผนที่จะใช้เงินประมาณ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ นำโดย Samsung Electronics Co. และ SK Hynix Inc. เพื่อสร้างฐานการผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลกในทศวรรษหน้า
จากวิกฤตการณ์ขาดแคลนชิปดังกล่าว ยังได้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นในฐานะผู้ผลิตหลักเร่งฟื้นการลงทุน โดย Rohm Co. ผู้ผลิตชิปซึ่งมีลูกค้ารวมถึง Toyota Motor Corp., Ford Motor Co. และ Honda Motor Co. กำลังลงทุนมหาศาลอย่างมหาศาล
อิซาโอะ มัตสึโมโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Rohm Co. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมว่า หากไม่ย้ายฐานการผลิตล่วงหน้าก็ถือว่าสายเกินไป เพราะการระบาดใหญ่ทำให้มีความเสี่ยงหลายอย่าง บริษัทจึงต้องการกระจายฐานการผลิต และสำหรับปีงบประมาณถัดไป ได้จัดสรรลงทุนไว้ 7 หมื่นล้านเยน (ราว 637 ล้านดอลลาร์) ซึ่งนอกเหนือจากงบลงทุนปีนี้ที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2565
ตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งบังคับให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานท่ามกลางรัฐบาลผลักดันนโยบายด้านพลังงานสะอาด จากข้อมูลของ BloombergNEF พบว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมนอกชายฝั่ง และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มูลค่า 174,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้มีความจำเป็นมากขึ้นในการควบคุมการปล่อยคาร์บอนฯ
ความต้องการรถยนต์พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในประเทศจีน ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนาของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายรายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปด้วย โดย Xpeng Inc. รายงานผลการดำเนินงานสิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ พบว่าขาดทุนสูงกว่าที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากจ้างงานพนักงานฝ่าย R&D มากกว่า 3,000 คน เพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากต้นปี
ด้านสหพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อแห่งประเทศจีน (CFLP) เปิดเผยดัชนีที่บ่งชี้ว่า การขยายตัวของภาคการผลิตทั่วโลกชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนสิงหาคม ขณะที่โควิดสายพันธุ์เดลตาทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นในหลายประเทศ
ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคการผลิตโลกลดลง 0.6% สู่ระดับ 55.7 ในเดือนสิงหาคม หลังจากชะลอตัวลงสู่ 56.3 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 56.8 ในเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตโลกยังคงขยายตัว
CFLP ระบุว่า การพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังคงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ความไม่เท่าเทียมกันของการฉีดวัคซีนและนโยบายป้องกันที่แตกต่างกัน ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขาดความสมดุล และเมื่อเวลาผ่านไปนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะอ่อนแอลง และจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
CFLP เตือนว่า ปัญหาอื่นๆ อาทิ ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่มีเสถียรภาพ และแนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อาจจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย
ส่วนข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนบ่งชี้ว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนนั้นอยู่ที่ระดับ 50.1 ในเดือนสิงหาคม โดยลดลงจาก 50.4 ในเดือนกรกฎาคม
อ้างอิง: