×

สำรวจข้อวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสภาพ ‘2 พส.’ เมื่อพระรุ่นใหม่ปรับตัวสื่อสารออนไลน์

05.09.2021
  • LOADING...
2 พส.

น่าจะเป็น 2 วัน กับ 2 พส. (พระสงฆ์) ที่เป็นกระแสโด่งดังในโลกโซเซียลมีเดียที่สุด ณ เวลานี้ พส.หนึ่ง คือ ‘พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ’ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดพุทธศาสนา ความเชื่อต่างๆ ในสังคมยุคสมัยใหม่อยู่เนืองๆ เห็นกันบ่อยครั้งในโลกออนไลน์และหน้าจอทีวี กับอีกหนึ่ง พส. คือ ‘พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต’ ที่มีบทบาทของการเป็นพระนักเทศน์มากมุกหลากอารมณ์ขำ เล่นจนสะเทือนไปถึง มส. (มหาเถรสมาคม) มาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยข้อกล่าวหาว่า พส. มิควรยุ่งกับการเมือง

 

มาครั้งนี้ก็เช่นกัน ไลฟ์ 2 วัน ยอดคนดูแต่ละวันมากกว่า 200,000 คน ซึ่งไม่น่าจะช็อกแค่วงการ พส. วงการ ปชช. (ประชาชน) อย่างเดียวแล้ว แต่น่าจะช็อกไปถึงวงการ มส. ด้วยแล้วงานนี้ 

 

ผู้เขียนอยากจะชวน ปชช. มาเช็กสภาพ ส่องกระแส และส่องข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ถึง พส. กันว่าเป็นอย่างไร และข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นสะท้อนวิธีคิดอะไรของชาวพุทธไทยกันบ้าง

 

มองข้อวิจารณ์ผ่านสภาพ 2 พส. ‘ตลก ขี้เล่น ปรับตัวเป็นในยุคโซเชียลเดีย’

 

แน่นอนว่าเรื่องหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือ เรื่องลักษณะการแสดงออกของ พส. ทั้งสอง ความตลก ขี้เล่น เป็นกันเอง และการปรับตัวเองเข้ากับยุคสมัย เช่น การใช้เทคโนโลยี การใช้โซเซียลมีเดีย และการใช้กระแสสังคมเป็นตัวนำเสนอ เป็นเรื่องหนึ่งที่ทั้ง 2 พส. ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากทีเดียว

 

เท่าที่ผู้เขียนสำรวจสภาพ พบว่าบ้างก็ชื่นชมว่า พส. ทั้งสองสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสื่อกลางในการนำเสนอธรรมะ ใช้กระแสสังคมที่กำลังได้รับความสนใจจากคนในโลกออนไลน์เป็นการสร้างแรงดึงดูงให้กับผู้คนเข้ามาฟังธรรมะกันอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน บ้างก็บอกว่าเป็นการนำเสนอธรรมะแบบย่อยง่าย พูดตลกคุยสนุก แต่สอดแทรกไปด้วยธรรมะที่กำลังพอดิบพอดี บ้างก็มองถึงขั้นว่านี่คือการทลายกรอบความเป็นพระสงฆ์แบบไทยๆ ออกไปได้เลยทีเดียว

 

แต่ในทางกลับกันก็มีคนที่วิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างรุนแรง กล่าวว่าลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะที่ไม่เหมาะสม ไม่ใช่ ‘ลักษณะที่ดี’ ของพระ และมากกว่านั้น ถึงขั้นกล่าวว่าการกระทำนี้เป็นการ ‘ด้อยค่า’ พระพุทธศาสนา เช่น กลอนที่ชื่อว่า ‘สังฆร่าน สังฆร่วน’ แต่งโดยบุคคลที่ใช้นามว่า ‘พี่คนดี’ มีเนื้อหาโจมตีในทำนองว่า ไม่เหมาะสม เป็นการหมิ่นไตรจีวร จะทำให้ศาสนาสิ้นความขลัง หรือเป็นการด้อยค่าคำสอนทางศาสนา รวมถึงกล่าวว่าอาจจะทำให้ศาสนาต่ำลง

 

2 มุมมองใหญ่ ผ่านสภาพวิกฤตศาสนา

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากมุมมองของสังคมไทยต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤตศาสนา’ ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีอยู่ 2 มุมมองใหญ่ๆ และเวลาถกกันเรื่องนี้เมื่อไรก็จะมีลักษณะที่ไม่รู้จักจบ ไม่ต่างการจากตั้งคำถามว่า ‘ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน’

 

มุมมองแรกมองว่า ‘การไม่ปรับตัว’ กับเข้ายุคสมัย ไม่เข้ากับบริบทสังคมและผู้คน นี่คือวิกฤตศาสนา เพราะจะทำให้ศาสนาห่างออกจากคนไปเรื่อยๆ และอันตรธานไปในที่สุด ส่วนมุมมองที่ 2 มองว่าการ ‘ไม่รักษา’ พุทธศาสนาแบบดั้งเดิมไว้ให้สมบูรณ์นั่นแหละคือวิกฤตที่แท้จริง เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาวิบัติดับสูญ เพราะฉะนั้นอะไรที่กระทบต่อคุณค่าในแบบความเชื่อดั้งเดิม เท่ากับว่านั่นคือ ‘การทำให้ศาสนาก้าวไปสู่การดับสูญ’ ซึ่งเห็นได้ชัดจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระแส 2 พส. ที่เกิดขึ้น

 

คำถามที่สำคัญคือว่า อะไรทำให้คนกลุ่มหนึ่งมองว่าภาพลักษณ์ของ 2 พส. นี้เป็นเรื่องไม่ถูกไม่ควรต่างหากที่ผู้เขียนกำลังสนใจ ผู้เขียนคิดว่า มีวิธีคิดอยู่ 2 ชุดใหญ่ๆ ซึ่งเป็นวิธีคิดทางศาสนาของชาวพุทธไทย ที่ทำให้หลายคนมองว่าสิ่งที่ 2 พส. นี้ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร คือ 1. วิธีคิดเรื่อง ‘พระสงฆ์ที่ดี’ ในอุดมคติ กับ 2. วิธีคิดเรื่องความเสื่อมของศาสนา

 

‘พระสงฆ์ที่ดีในอุดมคติ’ เป็นชุดความคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการปฏิรูปศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 และถูกผลิตซ้ำภาพลักษณ์อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยภาพลักษณ์ของกลุ่มพระป่าสายธรรมยุติในปัจจุบัน กระบวนการเหล่านี้ได้สร้างชุดความคิดเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่ดีขึ้นมา โดยเข้าใจว่าพระสงฆ์ที่ดีจะต้องเป็นพระที่เรียบร้อย มีความสงบ ไม่โหวกเหวกโวยวาย เคร่งครัดในการปฏิบัติตามพระวินัย มุ่งเน้นและสนใจเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา และปฏิเสธสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับเรื่องทางโลกย์

 

ชุดความคิดนี้เห็นได้ชัดในกลุ่มผู้ที่ออกมาวิจารณ์กระแส 2 พส. ไม่ว่าจะกรณีของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ นักบรรยายธรรม มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.) ที่วิจารณ์ว่า “…ภิกษุคือผู้สงบ อย่างนั้นไม่สงบเลย ใครจะไหว้ภิกษุแบบนั้นบ้าง…” หรือกรณีที่เจ้าคุณพิพิธ พระเทพปฏิภาณวาที ที่ออกมาแสดงความเห็นว่า “…เปลี่ยนภาพลักษณ์การแสดงธรรม ย่อมมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ที่แน่ๆ พระผู้ใหญ่ไม่ปลื้ม ควรปรับโดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนาและพระพุทธวจนะ (คำพูดของพุทธเจ้า) เป็นแกนหลัก…”

 

หรือแม้แต่ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว แม้จะออกมาชื่นชม พส. ทั้งสองที่ทำให้มีผู้ติดตามรับฟังธรรมได้ถึง 2 แสนกว่าคน แต่ก็ได้แสดงความห่วงใยในทำนองที่ว่า “เป็นความสนุกที่คึกคะนองตามวัย” โดยยกคำกล่าวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เคยสนทนากับท่านเมื่อตอนเป็นวัยรุ่นว่า “ไม่ศรัทธาเลยที่อาตมา (ตัวพระพยอม) เทศน์แบบนี้” ซึ่งพระพยอมกล่าวว่าในอดีตนั้นท่านก็เคยคึกคะนองเหมือน พส. ทั้งสองเหมือนกัน

 

นอกจากชุดความคิดว่าด้วยพระสงฆ์ที่ดีในอุดมคติของคนในสังคมไทยแล้ว ชุดความคิดนี้ยังผนวกชุดความคิดเรื่อง ‘ศาสนาเสื่อม’ เข้าไปด้วย จึงทำให้ 2 พส. โดนโจมตีหนัก โดยชุดความคิดนี้เป็นชุดความเชื่อที่เป็นรากฐานดั้งเดิมของพุทธศาสนาในวัฒนธรรมในสังคมไทยมาตั้งแต่ก่อนมีการปฏิรูปศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 4 อีก โดยเชื่อกันว่า ศาสนาจะถึงกาลเสื่อมสลายหลังพระพุทธศาสนาปรินิพพานไปได้ 5,000 ปี ดังนั้น เมื่อมีพระสงฆ์ หรือองค์กรศาสนาใด มีวิถีปฏิบัติแตกต่างหรือขัดกับวิถีเดิมที่ตนเองหรือผู้มีอำนาจเข้าใจว่าถูกต้อง ก็จะถูกโจมตีว่าเป็นความเสื่อมของศาสนา

 

ดังนั้น จะเห็นได้จากข้อวิจารณ์จำนวนมากที่เกิดขึ้นกับ 2 พส.หรือในท่อนสุดท้ายของบทกลอนของบุคคลที่ใช้นามว่า ‘พี่คนดี’ ที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นด้วยที่ว่า “…สังฆร่าน สังฆร่วน ชวนเริงร่า ขำอะไร กันหนักหนา ไม่น่าขำ ไม่สำรวม คำกำกวม ท่วมพระธรรม ศาสนา อาจถูกนำ ให้ต่ำลง…” และสิ่งเหล่านี้นอกจากจะถูกโจมตีว่าเป็นความเสื่อมของศาสนาแล้ว ยังถูกโจมตีความเป็นการทำให้เกิด ‘วิกฤตศรัทธา’ ด้วย ในมุมมองของกลุ่มชาวพุทธอนุรักษนิยม

 

บทสรุป: ความเชื่อทางศาสนา vs. เสรีภาพ ที่ไม่ใช่องค์กรใดผูกขาดความถูกต้อง-ดีงาม

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่อะไรถูกหรือผิด หรืออะไรเป็นวิกฤตศาสนาเพียงอย่างเดียวในทางความคิดความเชื่อ ปัญหาอยู่ตรงการนิยามความถูก-ผิดนั้นไม่ได้มีบรรทัดฐานอยู่ที่เรื่องเสรีภาพทางความเชื่อ แต่คำนิยามนั้นถูกกำหนดด้วยกลุ่มคน หรือพระสงฆ์ผู้มีอำนาจจากองค์กรรัฐต่างหาก นี่คือปัญหาสำคัญที่สุด

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะเสนอ คือ ต้องปลดปล่อยให้ความเชื่อทางศาสนาและการตีความคำสอนเป็นเรื่องของเสรีภาพ เสรีภาพที่ไม่เพียงแค่การเลือกเสพหรือไม่เสพสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้น แต่หมายถึงเสรีภาพที่ต้องไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาคอยกำกับความถูกต้อง-ดีงาม หรือคอยลงโทษผู้ที่มีวิถีความเชื่อแตกต่างไปจากความเชื่อของตนเอง

 

อ้างอิง:

  • สุรพศ ทวีศักดิ์, เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธ และ สังคมโลกวิสัย, กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์. 2564
  •  กำมะลอ! “พี่คนดี” ร่ายกลอนฟาดสองเกลอไลฟ์ขายขำ ไม่สำรวม ฉุดศาสนาตกต่ำ,ที่มา,https://www.thaipost.net/main/detail/115629
  • “เจ้าคุณพิพิธ” ห่วง 2 พส. แย้ม พระผู้ใหญ่ไม่ปลื้ม ,ที่มา , https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_2923047
  • ชัดเจน! ผู้บรรยายธรรมวิพากษ์พระติดโซเซียล เรี่ยไรเงิน บวชเพื่อรวย ใครจะไหว้ภิกษุแบบนั้น, ที่มา, https://www.thaipost.net/main/detail/115512
  • พระพยอม ชม 2 พระมหาชื่อดัง วอนอย่าตำหนิ-ถามมีที่ไหนเทศน์คนดู 2 แสน, ที่มา , https://www.dailynews.co.th/news/237725/
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising